top of page

ขสมก. ปลดหนี้ดิค้าบบบ



ขสมก. ปลดหนี้ดิค้าบบบ #เงินแสนล้านนั้นมีค่ามึงหยั่มมาใช้มั่วซั่ว #ข่าวเงียบจังแอบทำไรอยู่ เมื่อสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) โชว์ป๋าอยากใช้เงิน “1 แสนล้านบาท” ล้างหนี้ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขึ้นมา คนเสี่ยวตาดำๆอย่างเราจะทำไรได้ นอกจากนั่งมองตาปริบๆ และติดตามตอนต่อไปในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี หากดูตามเหตุผลว่าทำไมต้องล้างหนี้ ก็น่าเห็นใจมิใช่น้อย “ขสมก. เป็นหน่วยงานให้บริการสาธารณะ ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา ไม่สามารถปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารจึงกระทบต่อรายได้ ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ก้อนใหญ่ที่มีอยู่ราวแสนล้านบาทได้หมด”สบน.กล่าว #เสี่ยวCREW ไม่ได้กล่าว สรุปง่ายๆ เป็นคนดีที่คอยช่วยเหลือ บริการผู้อื่น จนตัวเองต้องเดือดร้อนมานานแสนนาน ข้อมูลจากรายงานประจำปีงบประมาณ2560 ขสมก. มีขาดทุนสะสม 110,550.18 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 107,098.98 ล้านบาท (ในหนี้ประกอบไปด้วย หนี้พันธบัตรเงินกู้พร้อมดอกเบี้ย หนี้เงินกู้ระยะยาวพร้อมดอกเบี้ย หนี้ค่าเชื้อเพลิงพร้อมค่าปรับ หนี้ค่าเหมาซ่อมพร้อมค่าปรับ หนี้กองทุนบำเหน็จพนักงานและหนี้สินอื่นๆ) ดอกเบี้ยจ่าย 2,890.27 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายบุคคล 5,522.63 ล้านบาท รายได้รวม 8,114.07 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 13,030.87 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 4,916.80 ล้านบาท (ขี้เกียจดูว่าขาดทุนมาตั้งแต่เมื่อไหร่เท่าที่โชว์ในรายงานประจำปีก็สิริรวม 9 ปีรวด เดาว่าคงยับมาตลอดไปดูเพิ่มเติมใน www.bmta.co.th กันเอาเองนะจ๊ะ) อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเสนอให้ล้างหนี้ ขสมก. มีการพูดกันมาแล้วหลายยุคหลายสมัย และก่อนหน้านี้ ขสมก.เองก็มีการออกพันธบัตรมาแล้ว #หลายหมื่นล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินงาน แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ฟื้นหรืออาการดีขึ้นแม้แต่น้อย ดันแย่หนักกว่าเดิมด้วยซ้ำไม่เชื่อไปดูหนี้สินและขาดทุนสุทธิที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปกติหากเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อองค์กรมีต้นทุนทางการเงินสูงการออกเครื่องมือทางการเงินอย่างหุ้นกู้ (ทฤษฎีเดียวกับพันธบัตรต่างกันตรงองค์กรเอกชนองค์กรรัฐ) จะช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนได้ส่วนหนึ่ง มีกระแสเงินสดเหลือ พร้อมลงทุนใหม่ ขยายธุรกิจ การทำมาหากิน-การแก้ปัญหาในการดำเนินงานควรจะมีทิศทางเป็นบวก แต่ทฤษฎีนี้ใช้ไม่ได้กับ ขสมก. ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราจะเห็นเรื่องราวอยู่เสมอ ว่า รถของขสมก.มันเก่า มันแย่ มันไม่ไหวแล้ว วิ่งไม่พอ สิ้นเปลืองต้นทุน สิ้นเปลืองพลังงาน ทางแก้คือ ซื้อรถใหม่ ซื้อแม่งเข้าไป มีแผนซื้อรถใหม่ตั้งสามพันกว่าคัน #ซื้อรถเก่ง!! นอกจากนี้ก็จะเป็นการขอรีไฟแนนซ์หนี้ต่างๆอยู่เป็นระยะ และซ้ำเติมด้วยการตกเป็นเครื่องมือประชานิยม “รถเมล์ฟรี” ตลอดปีตลอดชาติของรัฐบาลหลายยุค น้อยครั้งเหลือเกินที่เราจะเห็นภาพการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง (เรียกว่าไม่เคยน่าจะดีกว่า) อาทิ การวางแผนจัดเส้นทางเดินรถใหม่ให้มีบริการครอบคลุม ไม่ทับซ้อน และเกิด Economies of Scale / การลดจำนวนบุคลากรอันเป็นต้นทุนมหาศาลและเพิ่มขึ้นทุกปี / การปรับปรุงกระบวนการซ่อมบำรุง / การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเดินรถ การจัดเก็บค่าโดยสาร / การรื้อสัมปทานให้เอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาเดินรถในเส้นทางต่างๆ ฯลฯ อย่าบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ขสมก. ไม่ต้องทำการตลาดก็มีลูกค้าใช้บริการวันละเกือบ 6 แสนคน และจากกลุ่มลูกค้ามหาศาลเหล่านี้ ยังสามารถต่อยอดธุรกิจได้อีกมากมาย ภาคเอกชนหลายบริษัทที่ทำธุรกิจขนส่งคนแบบเฉพาะกลุ่มไม่สามารถมีฐานลูกค้าได้มากเท่ารถเมล์ แต่บริษัทเหล่านี้ทำให้เห็นมาแล้วว่าสามารถทำกำไรได้ในเกณฑ์ดี และผู้บริหารของบริษัทหลายแห่งก็มีความสนใจในการให้บริการรถสาธารณะ แต่เดาออกแหล่ะเหตุผลเดิมๆที่ภาครัฐจะบอก คือ เอกชนปรับราคาได้ตามบริการ ตามต้นทุนพลังงาน แต่รถเมล์ขึ้นค่าโดยสารไม่ได้ วนเวียนอยู่แค่นี้เสมอ!! สรุป: ล้างหนี้ด้วยเงินแสนล้านบาทที่มาจากภาษีของประชาชนทั่วประเทศให้กับหน่วยงานแบบนี้ ซึ่งให้บริการเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล มันคุ้มค่าแล้วใช่ไหม?? มีอีกกี่องค์กรที่หนี้มหาศาลบริหารจัดการเฮงซวย แล้วรัฐก็อยากตามไปล้างหนี้ด้วยภาษีประชาชนอีก และเมื่อหนี้ก้อนนี้มันเพิ่มเข้าไปเป็นหนี้สาธารณะคนรับภาระก็คือประชาชนอยู่ดี ยังควรอ้างว่ามันเป็นองค์กรเพื่อบริการสาธารณะที่ต้องคิดค่าบริการถูกอยู่ไหม

0 views0 comments
bottom of page