top of page

จับชีพจรธุรกิจขนาดเล็ก Ep.2



จับชีพจรธุรกิจขนาดเล็ก Ep.2 #ธุรกิจอาจมีวันหยุดชะงัก #แต่รักเธอจะไม่พัก #เชื่อเถอะครับรักมากเลย

ค้างคามาจากสัปดาห์ที่แล้วนะฮะ สถานการณ์ธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดเล็ก #เสี่ยวCREW ลงสนามไปคุย สัมผัสได้ ว่า “มีพลังงานแห่งความเดือดร้อนคุกรุ่น” แต่ทุกคนก็พร้อมสู้แหล่ะ เราดูออก เราเรียนมา แต่ในบางกรณีก็ต้องยอมรับฮะ ความพร้อมสู้ของผู้ประกอบการอย่างเดียว ไม่พอ!! นโยบายบางประการยังล็อคและเป็นอุปสรรค์ ให้ไม่สามารถทำธุรกิจได้อยู่ ขณะที่เงินทุนนั้นลดลงทุกวัน ซึ่งมันก็เป็นโจทย์ยากที่เราคงต้องติดตามกันต่อ ไปดูกันฮะ เขาเป็นไงกันบ้าง รอดไม่รอด


“Winkbar 90’S” ร้านเหล้าLocal Bar

FB Page:https://www.facebook.com/Winkbar-90-s-1925134911056023/


Q: เล่าเรื่องสั้นๆของธุรกิจของคุณ

A: เป็นร้านเหล้าขนาดเล็กครับผมเรียกมันว่า Local Bar เน้นขายกลุ่มคนที่อยู่ในระแวกใกล้ๆร้าน ต้องการหาบรรยากาศสบายๆ มาเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องแต่งตัวจัดเต็ม ไม่ต้องกังวลเรื่องด่านเพราะมันใกล้บ้าน มีดนตรีดีๆให้ฟัง ราคาไม่แพง

ร้านผมมี 2 สาขา คือ Wink Bar กับ Winkbar 90’S สาขาแรกทำมา 7 ปีแล้ว ส่วนสาขา 90’S มาเปิดทีหลังตอนนี้ก็ได้ 3 ปีแล้ว

Q: ธุรกิจเป็นอย่างไรในสภาวะปกติ

A: ก่อนโควิดดีทั้ง 2 ร้านครับ มีคนตลอด จุดเด่นของร้านคงเป็นรื่องดนตรีกับบรรยากาศสบายๆ ด้วยความที่ผมเล่นดนตรีมาก่อน ดังนั้นวงที่เลือกมามันก็จะต้องมีความเทพระดับหนึ่ง ร้านเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก แล้วก็พยายามรักษามาตรฐานเรื่องนี้ด้วย ซึ่งทั้ง 2 ร้านก็จะมีแนวดนตรีที่ต่างกันไป

ร้านเล็กๆบรรยากาศมันสำคัญครับ เราไม่ได้อยู่ในย่านเก๋ๆชิคๆแบบร้านใหญ่ เลยต้องการสร้างบรรยากาศในการดื่มให้มันสนุกสนาน เป็นกันเอง ซึ่งมันก็ได้ผลลูกค้าส่วนใหญ่ชอบ แล้วคนก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ วันธรรมดาไม่หลวม ศุกร์ เสาร์ วันหยุด มีบอล ไม่ต้องพูดถึง จัดว่าเต็ม

รายได้ที่ผ่านมาถือว่าโอเค แม้ต้นทุนร้านประเภทนี้มันจะสูง แถมเราขายแพงแบบร้านในเมืองไม่ได้ แต่เราก็คอยดูแลต้นทุน รักษาฐานลูกค้า ดูภาพรวมของร้านให้มันดี เลยทำให้เราอยู่ได้ ลูกน้องอยู่ได้ เหลือเก็บ เหลือใช้ชีวิตได้แบบไม่ลำบาก

Q: เมื่อ Covid-19 มาเกิดผลกระทบต่อธุรกิจคุณอย่างไร

A: ทุกอย่างหยุดไปเลยครับ ผมโดนล็อตแรกเลยไม่มีรายได้มา 2 เดือนกว่าจะ 3 เดือนแล้ว ทุกเดือนมัน คือ ศูนย์บาท แต่รายจ่ายผมไม่ได้หยุดตามยังต้องจ่ายค่าเช่าร้าน ค่าไฟฟ้า ต่อเดือนก็หลายหมื่นบาท ถึงเจ้าของตึกจะลดให้แต่มันก็แค่บางส่วน ซึ่งถือเป็นภาระที่หนักอยู่

Q: ปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอด

A: ช่วงที่ผ่านมาเราก็มีการปรับปรุงร้าน ตกแต่งใหม่นิดหน่อย ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ เพื่อให้สุขอนามัยมันดีขึ้นคือ พร้อมเปิดอ่ะแหล่ะ แต่ตอนนี้เราเองยังไม่รู้ว่าจะได้เปิดเมื่อไหร่ ก็ต้องเอาเงินเก็บออกมาใช้เป็นค่าใช้จ่าย ทั้งค่ากินอยู่ รายจ่ายต่างๆของร้าน

เงินสะสมที่มีอยู่มันก็ไม่ได้มากมาย คงอยู่ได้ไปอีกระยะหนึ่ง ตอนนี้ที่ห่วงมากสุด คือ พนักงานเพราะเราเองก็อุ้มเขาทั้งหมดไม่ไหว ทำได้ก็แค่คอยซื้อกับข้าวไปให้ในแต่ละสัปดาห์ หรือคนไหนที่ไม่ไหวจริงๆก็มีโอนช่วยบ้างเป็นครั้งๆไป

Q: อยากจะฝากอะไรถึงคนที่ดูแลในหน่วยงานนี้หรือไม่ ที่ต้องช่วยเยียวยา

A: เงินเยียวยาจากภาครัฐก็ถือเป็นเรื่องที่ดีช่วยน้องๆที่ร้านได้ส่วนหนึ่ง แต่สำหรับภาคธุรกิจกลางคืนเหมือนเขาปล่อยเบลอกับเรื่องนี้มากไปหน่อย จริงๆควรมาคุยกับผู้ประกอบการไหมว่าทำอย่างไรถึงจะดำเนินการได้ ใช้มาตรการอะไรภายในร้านเพื่อดูแล ควบคุมความปลอดภัย ต้องจำกัดคนในรูปแบบไหน ฯลฯ ซึ่งเราพร้อมทำตามนะ ขอให้มันเปิดได้ มีรายได้เข้ามาบ้าง

การอนุญาตให้เปิดร้านแบบไม่ให้ขายเหล้า ไม่ให้เล่นดนตรี คนจะมาร้าเหล้าไปทำไม มาเพื่อซื้อกลับบ้านหรอไม่มีใครทำแบบนั้นหรอก มาตรการที่ออกมามันเหมือนทำไปงั้น ไม่รู้เขาลืมไปหรือเปล่า ว่า การไม่มีอาชีพ ไม่มีเงินใช้ มันก็ทำให้คนตายได้นะ

Q: คาดการณ์ว่าธุรกิจหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

A: ขอให้ได้เปิดเถอะครับ ผมเชื่อว่าเรายังไปต่อได้ บอกเรามาเถอะครับว่าต้องทำอย่างไรที่เหลือเราพร้อมจัดการ

“Thani Luxuries” แบรนด์เนมออนไลน์

IG: thani_luxuries1


Q: เล่าเรื่องสั้นๆของธุรกิจของคุณ

A: ร้านขายของแบรนด์เนมออนไลน์ค่ะทำมา 5 ปีแล้ว ช่องทางการขายก็มีใน IG /Line แล้วก็ฐานลูกค้าประจำที่มีอยู่แล้วเค้าบอกต่อๆกัน ที่ร้านจะขายทั้งมือหนึ่งและมือสอง รับซื้อ รับเทรด ฝากขายครบวงจรเลย ช่วงเริ่มต้นก็เริ่มมาจากการไปเอาของร้านอื่นมาขาย ได้กำไรนิดหน่อยก็ค่อยๆสะสมทุนมาเรื่อยๆ จนหลังๆมาก็บินเอง ซื้อของเองมากขึ้น รายได้กับกำไรก็ดีขึ้นตาม

ของที่ขายหลักๆ คือ กระเป๋า นาฬิกา รองลงมาเป็น เข็มขัด รองเท้า แอคเซสโซรี่ต่างๆ ส่วนใหญ่เน้นไปที่ไฮแบรนด์พวก Chanel Hermes LV Rolex Patek AP Panerai ฯลฯ หลังๆก็จะมีขายเพชร ขายรถ เข้ามาแจมบ้าง ส่วนมากเป็นของคนรู้จัก ของเพื่อน ของลูกค้า เป็นเหมือนการฝากบอกมากกว่าค่ะ ไม่ได้มีรายได้จากส่วนนี้จริงจัง

Q: ธุรกิจเป็นอย่างไรในสภาวะปกติ

A: ถือว่าโอเคมาตลอดมีทั้งลูกค้าประจำ ขาจร และแม่ค้าด้วยกันเอง กลุ่มลูกค้าที่ใช้ของพวกนี้มักซื้อขายเปลี่ยนกันตลอด หลายคนก็ซื้อเพิ่มตลอด และด้วยความที่เรามีฐานลูกค้าในมือระดับหนึ่ง ไม่ได้เอากำไรเยอะนัก เน้นขายง่าย บริการลูกค้าทุกคนให้ดี ซึ่งเราก็พยายามอย่างมากที่จะรักษามาตรฐานแบบนี้ เลยทำให้มีการแนะนำต่อๆกันไป ยอดขายอยู่ในระดับใกล้เคียงกันทุกเดือน แม้จะมี Fixed Cost อยู่ที่ 25,000-30,000 บาท/เดือน (ค่าแอดมินเพจ ค่าโฆษณา ค่าส่งของ ค่าสปา) แต่ร้านเราก็มียอดขายเหมาะสม สามารถทำกำไรให้อยู่ในระดับที่โอเคตามไปด้วย

Q: เมื่อ Covid-19 มาเกิดผลกระทบต่อธุรกิจคุณอย่างไร

A: เดือน มี.ค.-เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงพีคของการระบาดคือ เงียบไปเลยค่ะ!! เหมือนทุกคนตกใจไม่รู้เรื่องนี้จะเป็นไปทิศทางไหนเลยทำให้ไม่กล้าใช้จ่าย บางส่วนก็คงวุ่นวายไปกับการWFH หรือการซื้อข้าวของเข้าบ้านก็เป็นช่วงที่กระทบมากขายได้ไม่กี่ชิ้น ตอนนั้นก็ตกใจเหมือนกันเพราะตั้งแต่อยู่ในธุรกิจนี้มาก็ยอมรับว่าไม่เคยเงียบแบบนี้มาก่อน

ในช่วงเดือน พ.ค. จนถึงตอนนี้ยอดขายเริ่มกลับมาดีขึ้นค่ะ น่าจะเป็นเพราะสถานการณ์คลี่คลายมีความชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังไม่กลับสู่ภาวะปกตินะคะ ยอดหล่นไปจากปกตินิดหน่อย คือ จำนวนชิ้นที่ขายลดลงแต่ มูลค่าต่อชิ้นสูงขึ้น เลยทำให้เมื่อรวมๆแล้วยอดขายและกำไรไม่ตกมาก เข้าใจว่าภาพรวมตลาดแบรนด์เนมน่าจะเป็นแบบนี้อีกระยะ เนื่องจากทุกคนบินไม่ได้ ไม่มีของใหม่ขาย ไม่มีของเข้ามาในตลาด เลยทำให้ราคาขยับตาม กลุ่มคนซื้อยังคงเป็นกลางบนที่พอมีกำลัง

Q: ปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอด

A: เอาจริงๆก็เริ่มจากปรับตัวเราเองด้วยการทำความเข้าใจค่ะว่าทุกคนก็กระทบกันหมด ดังนั้นเราต้องปรับตัวเองเรื่องการใช้จ่ายให้มากที่สุดโชคดีอย่างหนึ่งที่เป็นคนไม่ใช้จ่ายอะไรเยอะ ไม่อยากได้ของหรืออยากใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยอะไร ไม่มีหนี้ รายจ่ายก็มีแต่ค่ากินอยู่กับของจำเป็นเท่านั้น เงินสะสมที่มีอยู่พอแน่ๆ ต่อให้ยอดขายยังแย่อยู่เหมือนตอน มี.ค.-เม.ย. เราก็ยังอยู่ไปได้ (แต่ไม่แย่อีกจะดีกว่าค่ะ 555) แค่เราต้องเข้าใจและปรับให้ได้

Q: เดือดร้อนขนาดนี้ มีอารมณ์ทำอะไรเพื่อคนที่เดือดร้อนกว่าหรือไม่

A: ทำค่ะก็มีเอาของกิน ของใช้ ไปให้คนอื่นๆ จริงๆมันก็เกิดจากการที่เราซื้อมาเยอะ แล้วนั่งดู นั่งคิดว่าเราซื้อมาทำไมเกินความจำเป็น มีคนอื่นที่เค้าไม่มี ไม่ได้ และลำบากกว่า เราควรแบ่งให้เขาจะเป็นประโยชน์กว่า ก็เลยเอาของไปแจกแถวบ้านค่ะมีคนมาเอาไปใช้เยอะมาก (บ้านอยู่ ตจว.) ซึ่งเราเองก็รู้สึกดีนะคะที่มีโอกาสได้เผื่อแผ่คนอื่น

Q: คาดการณ์ว่าธุรกิจหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

A: คาดว่ายังไปได้นะคะ ช่วงเดือนก.ค.น่าจะเริ่มกลับมาบินได้อีกครั้ง ช่วงนั้นก็น่าจะมีของใหม่ๆเข้ามาขายทำให้ตลาดคึกคักขึ้นหน่อย ส่วนกำลังซื้อในส่วนของลูกค้าที่ใช้ประจำเชื่อว่ากลุ่มนี้น่าจะยังอยู่ แต่ลูกค้าจรบางส่วนอาจลดลงบ้างตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเราไม่ได้ห่วงมากขนาดนั้น อย่างที่บอกคือมันต้องปรับตัวกันไปตามสถานการณ์จริง ที่ผ่านมาเจอสถานการณ์หนักกว่านี้ทั้งโดนแม่ค้าด้วยกันเองโกงเงิน เจอกระเป๋าปลอม ติดด่านฯ เข้าเนื้อทั้งนั้นแล้วไม่ใช่เงินน้อยๆเรายังผ่านมาได้เลย ครั้งนี้เราก็เชื่อว่าผ่านไปได้ค่ะ แค่รู้จักใช้ชีวิตและทำธุรกิจให้พอดี

“หมูดีดี Dad & Daughter” อาชีพเสริมแอร์โฮสเตส

FB Page:https://www.facebook.com/Moodaddaughter/


Q: เล่าธุรกิจสั้นๆของธุรกิจของคุณ

A: ร้านของเราทำกุนเชียงเตาถ่านค่ะ กับหมูยอแบบไร้หนัง ตอนแรกทำกับคุณพ่อสองคนค่ะ เป็นสูตรของคุณยาย เป็นแบบไร้มัน เน้นเนื้อหมูให้เยอะที่สุด แล้วที่สำคัญต้องหอมเตาถ่านค่ะ ตอนแรกๆก่อนทำก็คิดกันอยู่นะคะ ว่าจะขายได้เหรอ คนจะชอบแบบที่เราชอบมั้ยนะ จนมาถึงตอนนี้มีคนอุดหนุนเยอะมากๆ จนต้องจ้างคนช่วยทำแล้วค่ะ

Q: ปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอด

A: ขอเท้าความก่อนว่า คุณพ่อประกอบอาชีพเป็นหัวหน้าทำทัวร์ ซึ่งแน่นอนเลยกิจการทัวร์/การท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าไม่แพ้ฝั่งสายการบินเลยค่ะ ก็เริ่มมาคุยกันว่า ต้องหาอะไรทำแล้ว อย่างน้อยเสริมรายได้นิดหน่อย เอามาช่วงรายจ่ายช่วงที่นิ่งๆอยู่ตอนนี้

ตัวคุณพ่อเป็นคนชอบทำอาหารมาก แกสนใจเรื่องอาหารการกินมาตั้งแต่หนุ่มๆค่ะ จนตอนนี้แกอายุย่างจะเข้า57ปีแล้ว ก็ยังคงรักที่จะทำอาหารอยู่คุณพ่อเลยมีไอเดีย ว่าทำอาหารขายแล้วกัน แต่อะไรล่ะที่จะทำให้คนเก็บไว้กินได้นานๆ ของต้องแห้ง แล้วประกอบอาหารได้หลายอย่างด้วย เลยได้ข้อสรุปมาเป็นกุนเชียงเตาถ่านค่ะ กับหมูยอแบบไร้หนัง

Q: ธุรกิจของคุณเป็นอย่างไรในสภาวะปกติ

A: ในช่วงสภาวะปกติ เรามีงานประจำค่ะ เป็นแอร์ แอร์โฮสเตสที่ Jetstar Airwaysค่ะ ทำมา3ปีแล้วค่ะ ไม่ได้มีธุรกิจเสริมเลยค่ะ พอมีไวรัสโคโรน่าเข้ามา ช่วงนั้นโดนตัดไฟลท์บินออกบ้างค่ะ จนไฟลท์สุดท้ายที่ได้ทำล่าสุดคือ วันที่12 มีนาคม ค่ะ MEL-BKK

Q: คาดการณ์ว่าธุรกิจของุณหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

A: ในอนาคตหรอค่ะ บอกตามตรงยังไม่มีแพลนคร่าวๆเลยค่ะ กะจะทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่เพิ่มปริมาณต่อลอตด้วยค่ะ เพราะกลัวควบคุมคุณภาพไม่ได้ เราอยากให้ลูกค้าได้ทานสิ่งที่เราตั้งใจทำจริงๆ ยิ่งลูกค้าที่กลับมาซื้อรอบ2-3 ยิ่งทำให้มั่นใจเลยค่ะ ว่าที่เราพยายามทำมาตลอดนั้น ได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว

การค้าขายตอนแรกมองว่าง่าย แต่พอมาลงมือทำจริงๆ ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเลยค่ะ ยิ่งเราไม่มีหัวด้านการค้าเลย คิดคำนวนเรทราคายังไม่ค่อยเป็นเลยค่ะ เพราะปกติทำงานบนเครื่องตลอด ตอนนี้เหมือนเริ่มใหม่ทั้งหมดค่ะ เราจะสร้างความมั่นใจยังไงให้ลูกค้าเชื่อมั่นในตัวสินค้าของเรา นั่นคือใจความสำคัญค่ะ แล้วก็เน้นขายความซื่อตรงและจริงใจกับลูกค้าก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ ไม่ว่าจะผู้ขายหรือผู้ซื้อ

อย่างเพื่อนๆ ที่เป็นแอร์ก็ผันตัวมาขายของกันก็ค่อนข้างเยอะนะคะ ก็ช่วยๆ อุดหนุนกันเองบ้างจนมาถึงเป็นลูกค้าประจำกันเลยทีเดียวก็ยังคุยกันเลยค่ะว่า ต่อไปน่าจะยึดอาชีพขายของเป็นอาชีพเสริม เพราะเราไม่รู้ว่าต่อไปจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกหรือเปล่า ก็ต้องมองหาอะไรทำเพื่อมาเสริมกับงานประจำที่เราทำค่ะ

“ฌอ เฌอ คอฟ” ร้านกาแฟริมน้ำ

FB Page:https://www.facebook.com/chowchercof/


Q: เล่าเรื่องสั้นๆของธุรกิจของคุณ

A: คือเราเป็นสถาปนิก เราหาที่เพื่อทำสำนักงาน แล้วก็บังเอิญมาเจอที่ตรงนี้ มีต้นไม้ใหญ่เยอะ บรรยากาศนับว่าร่มรื่นมาก สำหรับ Location กลางเมืองแบบนี้ จึงปรับปรุงพื้นที่ส่วนนึงของบ้านทำเป็นออฟฟิศสำหรับงานสถาปนิก และส่วนหนึ่งทำเป็นร้านกาแฟแบบ Open air ด้วยเลย นับตั้งแต่ช่วง มกราคม ปี 62

Q: ธุรกิจของคุณเป็นอย่างไรในสภาวะปกติ

A: ก่อนที่โควิดจะมา ธุรกิจร้านกาแฟ กำลังเติบโตในอัตราที่เหมาะสมและน่าพึงพอใจ คือทุกธุรกิจมันต้องใช้เวลาเพื่อเติบโต เพื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อพิสูจน์คุณภาพ เราเข้าใจตรงนั้น และเราก็เห็นมันเติบโตไปในทิศทางที่ดี ถึงแม้ยอดขายจะไม่ได้หวือหวา แต่นับได้ว่าน่าพึงพอใจ

Q: เมื่อ Covid-19 มาเกิดผลกระทบต่อธุรกิจคุณอย่างไร

A: ตอนแรกก็ไม่หนักมากนะ ช่วงระบาดแรกๆ คือร้านเราเป็น Openair ซึ่งความเสี่ยงมันต่ำ คนไม่ได้เยอะแออัดตลอดเวลา เราเลยเปิดมาได้ตลอด เพราะไม่ได้อยู่ในข้อบังคับจนกระทั่งรัฐบาลประกาศ Lockdown ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม คือปิดห้างเลย วันนั้นเป็นเย็นวันเสาร์ คนก็ยังคึกคักปกติ พอเช้าวันอาทิตย์ คนหายเรียบ ร้านเงียบกริบแบบพลิกฝ่ามือคือไม่มีลูกค้าเลย จำได้ว่าวันนั้นช็อคมากและเริ่มต้องยอมรับว่าผลกระทบมันมาถึงเราแล้วจริงๆ

Q: ปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอด

A: ถามว่าปรับตัวมั้ย “นี่ปรับตัวเต็มที่เลย” เราเป็นคาเฟ่ต์บริการอาหารและเครื่องดื่ม เราก็พยายามปรับไปดิลิเวอรี่ แต่ก็ยอมรับเลยว่าไม่ประสบความสำเร็จเลย ส่วนตัวคิดว่ามาจากการที่กลุ่มลูกค้าของเรา คนที่ออกมาคาเฟต์ คาดหวังบรรยากาศ การพักผ่อน การบริการ พอปรับเป็นดิลิเวอรี่เลยทำให้จุดขายของเราไม่แข็งอีกต่อไป

วันที่ไม่มีลูกค้าเลย เรามีลูกน้อง มีทีมที่ต้องดูแล เราได้เห็นน้ำใจของคนตัวเล็กหลายๆคน พนักงานเดินมาบอกว่าพี่ ไม่เอาเงินเดือนก็ได้ ไม่เป็นไร ขอแค่ที่อยู่ที่กินก็พอ มันทำให้เรารู้เลย ว่าต้องรอดไปด้วยกัน

Q: เดือดร้อนขนาดนี้ มีอารมณ์ทำอะไรเพื่อคนที่เดือดร้อนกว่าหรือไม่

A: เราก็มีบริจาคอาหาร ข้าวคัพ บริจาคที่โรงพยาบาลรามา เราว่างอยู่แล้วตอนนั้น พนักงานเราก็ว่าง หาอะไรทำที่เกิดประโยชน์ คือทำหน้ากาก Face Shield ไปบริจาค อย่างน้อยได้เป็นกำลังใจให้ทีมแพทย์พยาบาล ที่เป็นด่านแรกของการต่อสู้กับวิกฤติครั้งนี้ก็ยังดี

Q: อยากพูดอะไรไหม

A: ค่อนข้างชื่นชมการควบคุมโรคอย่างน้อยเราได้เห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อของเรา ไม่ได้สูงจนน่าหวาดวิตก ปลดล็อคแล้วกราฟก็ยังไม่กระโดดขึ้น แต่สิ่งนึงที่อยากจะให้พิจารณา คือการบาลานซ์ ระหว่าง การควบคุมโรคและเศรษฐกิจครับ เพราะโรคนี้คงไม่ไปไหนง่ายๆ

ทำอย่างไร ให้เราได้ใช้ชีวิตและเศรษฐกิจขับเคลื่อนเหมือนเดิม!!

0 views0 comments
bottom of page