top of page

จับชีพจรหุ้นแบงก์ไทยปี62 "รอด" หรือ "เลิก"



จับชีพจรหุ้นแบงก์ไทยปี62 "รอด" หรือ "เลิก" #หุ้นแบงก์มีหลายตัวให้คุณเลือกแต่หัวใจผมเลือกคุณได้คนเดียว

ช่วงที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์หลายรายเริ่มส่งสัญญาณเตือน ว่า เศรษฐกิจโลกและบ้านเราอาจไม่เติบโตตามความคาดหวัง วัฏจักรเศรษฐกิจอาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว (แต่ยังไม่มีใครฟันธงว่าวิกฤตอยู่แถวไหนนะจ๊ะ) ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อหลายธุรกิจ

“ธนาคารพาณิชย์” ติดร่างแหนี้เช่นกัน เพราะแหล่งรายได้หลักของแบงก์เกิดจากสินเชื่อรวมที่ปกติจะเติบโตมากกว่าหรือใกล้เคียงกับ GDP เมื่อปล่อยสินเชื่อมากขึ้นก็จะเพิ่มกำไรจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ก็ยังมีรายได้อื่นๆจากค่าธรรมเนียม การลงทุน ให้คำปรึกษา และธุรกิจในเครือที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการกองทุนรวม ประกันภัยและประกันชีวิต เป็นต้น

ดังนั้นหากเราใช้ Verb to เดา ก็จะพอเห็นภาพว่าถ้า GDP โตดีแบงก์ก็น่าจะโตตาม แต่ถ้าชะลอก็มีโอกาสชะลอตาม

นอกจากปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้าหนักแล้ว ในปีที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มแบงก์ก็ยังโชว์ฟอร์มร่วงยับเกือบทั้งกลุ่ม ชาวคณะการลงทุนมีความเสี่ยวแอบไปรวบรวมข้อมูลมาด้วยความอยากเผือก ภาพรวม BANK INDEX ร่วงไป -10.62% ส่วนราคารายตัว CIMBT -28.04% / TMB -27.15% / KBANK -20.26% / LHFG -18.93% / KKP -16.40% / TISCO -11.58% / TCAP -11.56% / SCB -11.00% / BAY -3.77% / KTB ไม่เปลี่ยนแปลง / BBL +0.50% #สิริรวมร่วงไป 8 นิ่งๆอีก 2

เมื่อเอาแนวโน้มภาพรวมธุรกิจกับราคาหุ้นมารวมกันมันก็ดูอึนๆเนาะ มาหาคำตอบกันสักตั้งดีกว่า #หุ้นกลุ่มแบงค์ยังเฟี้ยวอยู่ไหม??

อุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บล.เอเซีย พลัส ไขปริศนาให้ชาวคณะฯว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้แม้มีความคาดหวังจะดีขึ้น จากแรงส่งการบริโภคภายในประเทศ การเลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่ การเมืองมีเสถียรภาพ กระตุ้นการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ สนับสนุนการเติบโตสินเชื่อกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่เร่งตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ความไม่แน่นอนทั้งปัจจัยภายนอกประเทศ อาทิ สงครามการค้าที่ยังไม่ยุติชัดเจน ฝ่ายวิจัยฯลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงเหลือ 3.5% จากเดิม 4.4% ตามการส่งออกเติบโตต่ำกว่าคาดเดิม

ด้วยอัตราการเติบโตระดับดังกล่าว นับว่ายังเป็นส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ แม้ว่าล่าสุดปัจจัยบวกและปัจจัยลบจะมีน้ำหนักใกล้เคียงกันก็ตาม แต่มีความเชื่อว่าปัจจัยบวกน่าจะเริ่มมีความชัดเจน ส่งผลให้กลุ่มธนาคารพลิกกลับมาฟื้นตัวได้ดีในระยะถัดไป

#ปัจจัยบวกแรก คือ ความหวังเศรษฐกิจไทยจะไม่เกิดปัญหาถูกปรับลดประมาณการอีก ถ้าสถานการณ์ยังดำเนินต่อไปเช่นนี้ สินเชื่อในโครงการขนาดใหญ่จะถูกผลักดันออกมากระตุ้นเศรษฐกิจได้หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

การปรับกลยุทธ์กลับมาขยายฐานลูกค้าเอสเอ็มอีและรายย่อยมากกว่าเดิม โดยนำเครื่องมือด้าน Digital Landing เข้ามาเพื่อลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ได้ดีกว่าในอดีต ส่งผลให้ภาพการแข่งขันดึงฐานกลุ่มลูกค้ารายย่อยจะมากขึ้น

#ปัจจัยบวกสอง คือ ทิศทางดอกเบี้ยเข้าสู่ขาขึ้น แม้ว่าธนาคารขนาดใหญ่บางรายนำร่องขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำแล้ว 0.25% บัญชีบุคคลธรรมดาที่มีเงินฝากต่ำกว่า 5 ล้านบาท แต่หากพิจารณาโครงสร้างเงินฝากประจำทั้งระบบมีเพียง 37% ต่ำกว่าฐานเงินฝากออมทรัพย์สูงถึง 59% รวมกับเงินฝากกระแสรายวันอีก 4% ทำให้ต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นจากขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำมีผลกระทบแค่เล็กน้อย

โดยปกติแล้วในภาวะดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น จะส่งผลบวกเพิ่มศักยภาพทำกำไรจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM)ได้ดีกับธนาคารมากกว่า เพราะประเมินว่าระยะถัดไปธนาคารจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในส่วนเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน แล้วค่อยทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทันที ล่าสุดยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะส่งผลกับธนาคารมากน้อยอย่างไร เพราะต้องรอตัวเลขการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่าเงินฝากเท่าใด ซึ่งเบื้องต้นถ้าธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เท่าๆกัน 0.25% สนับสนุนกำไรของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.80%

ฝ่ายวิจัยฯ ได้ประเมินสินเชื่อทั้งระบบธนาคารมีกว่า 11.58 ล้านล้านบาท เทียบกับสภาพคล่องฐานเงินฝากและเงินกู้ยืมที่มีกว่า 12.37 ล้านล้านบาท สะท้อนว่าธนาคารทั้งระบบมีสภาพคล่องส่วนเกิน 7-8 แสนล้านบาท ถือว่ามีเพียงพอต่อการขยายกิจการได้ในอนาคต

การปรับขึ้นดอกเบี้ยธนาคารสเต็ป2 เชื่อว่าคงจะไม่ไปยุ่งกับเงินฝากประจำแล้ว ต่อไปคงขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่มีสัดส่วนสูงมาก หลังจากนั้นค่อยขยับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ในภาวะที่ดอกเบี้ยขาขึ้นเรื่อยๆ ตามสถิติ NIM จะต้องปรับตัวไปในทิศทางที่ดีกว่าในภาวะดอกเบี้ยขาลง ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไปก่อนหน้า ธนาคารขนาดใหญ่หลายรายก็เริ่มกลับมาดีขึ้น สะท้อนว่าผลกระทบรายได้ค่าธรรมเนียมหายไป ได้ผ่านพ้นจุดเลวร้ายไปแล้ว"อุษณีย์ กล่าว

#ปัจจัยเสี่ยง ที่อาจกระทบกับกำไรกลุ่มธนาคารปีนี้คือค่าใช้จ่ายสูงอย่างต่อเนื่องจากการลงทุนด้านพัฒนาระบบไอที เพื่อตอบสนองการแข่งขันที่มีมากขึ้น ส่วนความกังวลการเร่งตัวขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปัจจุบันยังมีความกังวลอยู่บ้าง การตั้งสำรองฯยังคงมีความจำเป็น เพื่อบริหารความเสี่ยงทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน และ NPL อาจเร่งตัวขึ้นรอบใหม่ แต่ไม่ได้มีมุมมองเชิงลบเกินไป เพราะเชื่อว่าได้ผ่านพ้นจุดกังวลที่สุดไปแล้ว

0 views0 comments
bottom of page