top of page

ถ้าคนเก่ามันไม่ดี..ส่งหัวใจมาทางนี้..พี่ยินดีเทคโอเวอร์


โลกของการลงทุนในตลาดหุ้น ถือเป็นโลกคู่ขนานกับการดำเนินกิจการทางธุรกิจ บริษัทจดทะเบียนรายใดมีกำไรเติบโตในอัตราเร่งที่โดดเด่น มี Growth Story ให้ติดตามและเห็นผลเป็นระยะ ก็จะช่วยผลักดันราคาหุ้นบริษัทนั้นเพิ่มขึ้นได้โดดเด่นเช่นกัน ตามข้อมูลที่เคยเผยเเพร่เซียนหุ้นหลายท่านๆ ที่มีพอร์ตระดับหลายพัน หลายหมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่มักค้นหาหุ้นที่มีลักษณะกำไรเติบโตสูงต่อเนื่องเก็บใส่พอร์ตการลงทุนระยะยาว เพื่อคาดหวังกำไรจากเงินลงทุนก้อนใหญ่

แม้เราจะไม่ใช่เซียนหุ้น แต่เราก็ควร “มีหุ้นดี” คู่ควรกับการลงทุน (ไม่ใช่เล่นหุ้น) ไว้กับตัว เพื่อความเป็นสิริมงคลของเงินในกระเป๋า "ชาวคณะการลงทุนมีความเสี่ยว" ถือโอกาสนี้เรียนเชิญท่านญาติโยมที่มีจิตศรัทธามามุงกันหน่อยว่า 5 บริษัท Inorganic Growth ที่เลือกมาให้ชมนั้น คู่ควรกับการลงทุนหรือไม่

#เสี่ยวรำพึง: หุ้นใหญ่ ราคาแพง พื้นฐานดี ควรจะซื้อบ้างนะ อย่ามัวแต่เอาเงินไปซื้อหุ้นซิ่ง หุ้นเล็กหวังกำไรสูง รอเงินมากค่อยมาซื้อ แบบนั้นผิด มีน้อยก็ซื้อน้อยไม่เห็นจะเป็นไร ค่อยๆสะสมไปทีละนิด


เริ่มด้วยดีลที่กล่าวขานกันมากที่สุดในปี 56 ของ "เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์" เจ้าของเครือซีพี ที่ประกาศนำ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) เจ้าของร้านสะดวกซื้อ "7-Eleven" เข้าซื้อกิจการของ บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) ด้วยมูลค่าสูงถึง 186,157 ล้านบาท โดยเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน MAKRO ทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่าน บริษัท สยามแม็คโคร โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด รวม 97.88% แต่ล่าสุดปรับลดสัดส่วนลงมาเหลือ 93.08% เพื่อต้องการปรับโครงสร้างหนี้จากเงินกู้ยืมในรูปแบบต่างๆ และยังเพิ่ม "Free Float" ในหุ้นของ MAKRO อีกด้วย

ส่งผลให้ "กลุ่มซีพี" กลายเป็นผู้นำทางธุรกิจค้าปลีกใหญ่อันดับต้นๆของภูมิภาคเอเชียในทันที ต้องยอมรับว่า CPALL แม้จะเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดในไทย ที่มีสาขาทั้งสิ้นกว่า 10,800 สาขา และมีเป้าในปี 63 จะเพิ่มเป็น 13,000 สาขา แต่ก็มีข้อจำกัดการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ดังนั้นยุทธศาสตร์ใหม่คือนำแบรนด์ MAKRO รุกขยายตลาดต่างประเทศเต็มรูปแบบ เช่น ขยายสาขาและขายแฟรนไซส์ได้หลายประเทศในแถบเอเชีย ล่าสุดกำลังขยายสาขาไปยังประเทศอินเดียกัมพูชา พม่า และจีน เป็นต้น

จากการสำรวจมุมมองนักวิเคราะห์ พบว่าการซื้อกิจการ MAKRO ในครั้งนี้ แม้จะบันทึกงบการเงินเข้าด้วยกัน แต่ยังไม่ถึงเวลากอบโกยกำไรเท่าที่ควร เพราะ CPALL ยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายหนี้ ที่สำคัญคือต้องรอเก็บเกี่ยวดอกผลจากการลงทุนขยายสาขาในต่างประเทศของ MAKRO ในระยะเวลาอันใกล้

นอกจากนี้ CPALL ยังประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนรับชําระค่าสินค้าและบริการ (เคาน์เตอร์เซอร์วิส) ธุรกิจผลิตและจําหน่ายอาหารสําเร็จรูป และเบเกอรี ธุรกิจจําหน่ายและซ่อมแซมอุปกรณ์ค้าปลีก ธุรกิจบริการขนส่งและกระจายสินค้า ธุรกิจวิทยาลัยอาชีวศึกษาด้านค้าปลีก และสถาบันการศึกษาด้านการจัดการ (ศึกษาภิวัฒน์) และอื่่นๆรวมทั้งหมด 34 บริษัท ส่วนผลประกอบการของ CPALL นับตั้งแต่ปี 56 ถือว่ามีการเติบโตที่น่าสนใจรายได้รวมปี 56 อยู่ที่ 284,670 ล้านบาท ก่อนขึ้นมาเป็น 489,403 ล้านบาทในปี 60 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 70% กำไรสุทธิปี 56 อยู่ที่ 10,628 ล้านบาท ก่อนขึ้นมาเป็น 20,019 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว (โอ้วว..ซาร่านี่มันวิเศษมากเลย)

ที่น่าสนใจหนักมาก คือ Market Cap ของ CPALL นับจากปี 57 มาจนถึงปี 60 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 309,917 ล้านบาท มากกว่ามูลค่าซื้อกิจการของMAKRO ดังนั้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า คงต้องมาลุ้นกันว่าผู้ถือหุ้นของ CPALL จะรวยเพิ่มขึ้นอีกมากแค่ไหน ?? มุมมองด้านการลงทุนในหุ้น CPALL ของนักวิเคราะห์ทั้ง 15 สำนักเผยแพร่ผ่านเว็ปไซด์settrade.com ส่วนใหญ่ยังคงคำแนะนำ "ซื้อ" อ้างอิงข้อมูลของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ราคาพื้นฐาน 88.00 บาท


ถือเป็นดีลใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 2559 ภายใต้กิจการของตระกูลเจ้าสัว "เจริญ สิริวัฒนภักดี" บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภคในเครือทีซีซี ทุ่มเงินลงทุนสูงกว่า 2 แสนล้านบาท เข้าซื้อกิจการห้างค้าปลีกรายใหญ่ “บิ๊กซี”ในไทย (โอยย..รวยเกิ้นน) ที่มีสาขาทุกรูปแบบกว่า 700 สาขา ซึ่งในช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดดีลดังกล่าว BJC เคยพยายามเข้าประมูลซื้อกิจการค้าปลีก "คาร์ฟูร์" ในไทย มูลค่าหลักหมื่นล้านบาท แต่ต้องผิดหวังเพราะกลุ่ม“กาสิโน”สัญชาติฝรั่งเศษ เจ้าของบิ๊กซี ขณะนั้นเป็นผู้ชนะประมูล แต่เมื่อกลุ่ม "กาสิโน" เจอผลขาดทุนอย่างหนักในธุรกิจค้าปลีกบางทวีป จึงจำเป็นต้องขายห้างค้าปลีก “บิ๊กซี” ในไทยให้กับเจ้าสัวเจริญในที่สุด

ปัจจุบันโครงสร้างรายได้หลัก BJC มาจากธุรกิจค้าปลีก "บิ๊กซี" สัดส่วน 70%, ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วและกระป๋อง 13%, ธุรกิจอุปโภคบริโภค 11% และธุรกิจเวชภัณฑ์และเทคนิค 8%

"บิ๊กซี" มีรูปแบบร้านค้าที่หลากหลาย ซึ่งเปลี่ยนไปตามสถานที่และกลุ่มเป้าหมายของลูกค้า บิ๊กซีซุเปอร์เซ็นเตอร์ ห้างสรรพสินค้าเจาะระดับปานกลางถึงล่าง / บิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า ห้างสรรพสินค้าพรีเมี่ยมเจาะระดับปานกลางถึงบน / มินิบิ๊กซี ร้านสะดวกซื้อชุมชน / บิ๊กซีมาร์เก็ต ซุเปอร์มาร์เก็ตเจาะระดับปานกลางถึงล่าง นอกจากนี้ เตรียมขยายสาขารูปแบบใหม่ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็น นักท่องเที่ยว และคนเมือง เน้นสร้างแบรนด์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น สอดคล้องพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

สำหรับพัฒนาการผลประกอบการ BJC ในปี 58 รายได้รวมอยู่ 44,596 ล้านบาท เพิ่มเกือบเท่าตัวในปี 60 มีรายได้รวม 84,046 ล้านบาท เช่นเดียวกับกำไรสุทธิปี 58 อยู่ที่ 3,453 ล้านบาท เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดมาเป็น 5,974 ล้านบาทในปี 60

Market Cap ของ BJC นับจากปี 58 มาจนถึงปี 60 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 208,000 ล้านบาท มุมมองด้านการลงทุนในหุ้น BJC ของนักวิเคราะห์ทั้ง 9 สำนักเผยแพร่ผ่านเว็ปไซด์ settrade.com ยังคงคำแนะนำ "ซื้อ" อ้างอิงข้อมูลของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ราคาพื้นฐาน 69.00 บาท


ดีลนี้เพิ่งจะเกิดขึ้นหมาดๆเมื่อเดือนเมษายน 61 เป็นของ บมจ.วีจีไอ โกลบอล มีเดีย (VGI) ผู้ประกอบธุรกิจบริการด้านการตลาดและการโฆษณารายใหญ่ของไทย บริษัทในเครือ "บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์" ประกาศเข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 23% ของ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) (KERRY) ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนทั่วไทยรายใหญ่ด้วยมูลค่าดีลกว่า 5,900 ล้านบาท ล่าสุดมีกระแสว่ากำลังศึกษานำ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกด้วย

ถ้าย้อนไปเมื่อ 2-3 ปี VGI มีแผนขยายธุรกิจจากการเข้าซื้อกิจการและร่วมทุนหลายบริษัทมูลค่ารวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท เริ่มในปี 57 เข้าซื้อกิจการของ บมจ.มาสเตอร์ แอด (MACO) และสื่อในสนามบินบริษัท Aero Media Group ก่อนจะเข้าไปลงทุนในแพลตฟอร์ม Payment ด้วยการพัฒนา Rabbit Card ซึ่งเป็นระบบชำระเงินแบบออฟไลน์ และต่อยอดสู่ Rabbit LINE Pay ระบบชำระเงินออนไลน์ เพื่อเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มธุรกิจโลจิสติกส์

ล่าสุด VGI ยังประกาศตั้งบริษัทร่วมทุนกับ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (บีบีทีวี) ผู้ดำเนินธุรกิจสถานีโทรทัศน์ช่อง 7HD เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการและบริหารจัดการสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์

นอกจากนี้ VGI ยังวางเป้ายกระดับฐานข้อมูล หรือ บิ๊กดาต้า ฐานข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคแบบเจาะลึกหลายล้านคนเข้าสู่ทุกแพลตฟอร์มของ VGI เพื่อใช้เป็นกุญแจสำคัญช่วยผลักดันการเติบโตธุรกิจในระยะยาว

สำหรับพัฒนาการผลประกอบการ VGI ในปี 56 รายได้รวม 2,871 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในปี 60 มีรายได้รวม 4,079 ล้านบาท เช่นเดียวกับกำไรสุทธิปี 56 อยู่ที่ 907 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 928 ล้านบาทในปี 60 โดยปัจจุบัน VGI อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างให้ธุรกิจในเครือเกิดการ Synergy ระหว่างกัน Market Cap ของ VGI นับจากปี 57 ถึงไตรมาส1รอบปีบัญชี61/62 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 25,000 ล้านบาท มุมมองด้านการลงทุนในหุ้น VGI ของนักวิเคราะห์ทั้ง 11 สำนักเผยแพร่ผ่านเว็ปไซด์settrade.com ส่วนใหญ่ยังคงคำแนะนำ "ซื้อ" อ้างอิงข้อมูลของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ราคาพื้นฐาน 8.70 บาท



บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) รายนี้คงไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะจัดเป็นนัก(ไล่)ล่าซื้อกิจการตัวจริง ขยายอาณาเขตในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก IVL เริ่มมีการรายงานลงทุนขยายกิจการตั้งแต่ปี 56 หลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 53 เป็นต้นมา และในรอบปีนี้พบว่า IVL มีดีลร่วมทุนและซื้อกิจการรวมแล้ว 10 ดีล ทำให้หุ้น IVL ติดอันดับต้นๆที่ยังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ทนทานต่อความผันผวนของ SET INDEX ได้เป็นอย่างดี

ในปี 61 ดีลแรกเข้าซื้อกิจการ M&G Polimeros Brazil S.A. โรงงาน PET ใหญ่ที่สุดในประเทศบราซิล ดีลที่สองคือร่วมทุนกับ Far Eastern ซื้อทรัพย์สินโครงการคอร์ปัส คริสตี โรงงาน PTA-PET แบบบูรณาการใหญ่ที่สุดในโลก ดีลที่สามคือ ซื้อหุ้น 65.72% ของบริษัท Avgol Industries 1953 อิสราเอล ผู้ผลิตชั้นนำเส้นใยนันวูเว่น ดีลที่สี่คือ ร่วมทุน 50% บริษัทอินเดีย ซื้อบริษัท EIPET ประเทศอียิปต์ ผลิต PET ดีลที่ห้าคือ ร่วมทุน 50% บริษัทเกาหลีใต้ ตั้งบริษัท HIAM ในสหรัฐฯ ผลิตเส้นใยที่มีค่าหลอมเหลวต่ำ

ดีลที่หกคือ ซื้อกิจการ KORDARNA สาธารณรัฐเช็ก ผู้ผลิตสิ่งทอสำหรับยางในรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในยุโรป ดีลที่เจ็ดคือ ซื้อหุ้น 74% บริษัท MEDCO ผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ PET ที่ใหญ่ที่สุดในอียิปต์ ดีลที่แปดคือ ซื้อบริษัท SOREPLE ในฝรั่งเศส หนึ่งในกิจการรีไซเคิลพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปดีลที่เก้าคือ ร่วมทุน 50% กับบริษัท LOOP INNOVATIONS ในสหรัฐฯ ผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกโพลีเอสเตอร์เรซิ่นและดีลที่สิบ ซื้อกิจการกลุ่มบริษัท SCHOELLER ผู้ผลิตด้ายขนสัตว์แท้และด้ายขนสัตว์ผสมชั้นนำในทวีปยุโรป (โอยย..แค่เขียนยังเหนื่อย)

สำหรับพัฒนาการของผลประกอบการ IVL ปี 57 รายได้รวม 247,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในปี 60 มีรายได้รวม 291,267 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิเติบโตโดดเด่นอย่างมากปี 57 มีกำไรสุทธิ 1,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดมาเป็น 20,882 ล้านบาทในปี 60 และ Market Cap ของ IVL นับจากปี 57 มาจนถึงไตรมาส 2 ปี 61 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 250,854 ล้านบาท มุมมองด้านการลงทุนในหุ้น IVL ของนักวิเคราะห์ทั้ง 9 สำนักเผยแพร่ผ่านเว็ปไซด์settrade.com ส่วนใหญ่ยังคงคำแนะนำ "ซื้อ" อ้างอิงข้อมูลของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ราคาพื้นฐาน 72.00 บาท


หุ้นไซด์ขนาดกลางและถือว่าเป็นหุ้นน้องใหม่ (เมื่อเทียบกับ 4 พี่ใหญ่ที่กล่าวมา) เพราะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ 3 ปีกว่าเท่านั้น บมจ.ไวส์ โลจิสติกส์ (WICE) บริษัทใช้กลยุทธ์การเติบโตแบบ Inorganic Growth ผ่านการซื้อกิจการ และร่วมทุนกับพันธมิตร สามารถต่อยอด Synergy จากบริษัทในเครือข่าย ขยายฐานลูกค้าต่อไปได้อีกมากในอนาคต ช่วยเพิ่มศักยภาพธุรกิจผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์แบบครบวงจร ที่มีการเติบโตตามเศรษฐกิจและการค้าของโลก ตลอดระยะเวลา 3 ปีกว่า WICE เข้าซื้อกิจการด้วยกัน 2 ดีล โดยในช่วงแรกเกิดขึ้นปลายปี 59 เข้าซื้อกิจการบริษัท SEL ผู้ดำเนินธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในสิงคโปร์ เน้นให้บริการขนส่งทางอากาศในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้ผลิตรายใหญ่ระดับโลก ทำให้งบการเงิน SEL บันทึกเข้ารวมกับ WICE ได้เต็มที่ในปี 60 ดีลถัดมาในปลายปี 60 เข้าซื้อกิจการ UWT รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทั้งการนำเข้าและส่งออกในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ในขณะที่ UWT ยังมีบริษัทย่อย คือ Guangzhou Universal Worldwide Transportation Limited (GUWT) ถือหุ้นอยู่ 100% ดำเนินธุรกิจในมณฑลกวางโจวและเมืองเซี่ยงไฮ้ ในประเทศจีน ดีลล่าสุดใน ก.ย. 61 WICE ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ชื่อ บริษัท ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์ เพื่อสร้างเครือข่ายขนส่งทางบกที่เรียกว่า (Crossboarder) เชื่อมโยงระหว่างจีน-อาเซียน ซึ่งการขนส่งรูปแบบนี้ กำลังมีความต้องการสูง และยังเป็นการต่อจิ๊กซอว์กับโครงการอีอีซีของรัฐบาลในยุคปัจจุบัน และโครงการ One Belt, One Road ของจีนที่เชื่อมโยงเส้นทางระหว่างเอเชียไปจนถึงยุโรป สำหรับพัฒนาการผลประกอบการ WICE ปี 58 มีรายได้รวม 689 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในปี 60 มีรายได้รวม 1,402 ล้านบาท และกำไรสุทธิปี 58 อยู่ที่ 60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเป็น 90 ล้านบาทในปี 60 และหากเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาด กำไรสุทธิปี 63 จะเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวที่ 223 ล้านบาท เกิดจากการ Synergy ของบริษัทในเครือข่ายเท่านั้น ยังไม่นับรวมกับดีลซื้อกิจการ หรือ ร่วมทุน ที่อาจจะมีเพิ่มอีกในระยะถัดไป Market Cap ของ WICE นับจากปี 58 มาปี 60 เพิ่มขึ้นเท่าตัวหรือกว่า 1,665 ล้านบาท มุมมองด้านการลงทุนในหุ้น WICE ของนักวิเคราะห์ผ่านเว็ปไซด์ Settrade.com ยังคงคำแนะนำ "ซื้อ" อ้างอิงข้อมูลของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ราคาพื้นฐาน 5.98 บาท

0 views0 comments
bottom of page