top of page

ทางรอดเกษตรกรไทย



ทางรอดเกษตรกรไทย

#ทำฟาร์มพืชฟาร์มผักไม่ค่อยถนัดเปลี่ยนมาทำฟามรักถึงไม่ถนัดแต่อยากลอง

ย้อนอดีตไปเมื่อเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว มันมีอยู่วันหนึ่งครับ “ทุเรียนหมอนทอง”ถูกขายสนั่น 80,000 ลูกภายในเวลาเพียง 1 นาที ผ่านเว็บไซต์ Tmall.com ในเครืออาลีบาบา ด้วยราคา 199 หยวน/ลูก หรือ ประมาณ 990 บาท (รวมค่าขนส่ง) ปรากฏการณ์เสกยอดขายโดยพ่อมด E-Commerce “แจ็ค หม่า”ในครั้งนั้น ดันราคาทุเรียนหมอนทองพุ่งพรวดตลอดปี ยอดส่งออกถล่มทลายจากความต้องการบริโภคในตลาดจีน ร้านค้าปลีกผลไม้ถูกรุมด้วยนักท่องเที่ยวชาวจีน

สิ่งเหล่านี้บอกอะไรเราหลายอย่าง อาทิ ผลไม้ไทยมีคุณภาพเป็นที่ต้องการและชื่นชอบ / โอกาสทางการตลาดไม่จำกัดแค่ในประเทศ / ช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าได้ทั่วทุกมุมโลก และเพิ่มความสามารถในการทำกำไร ฯลฯ

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกและผู้ผลิตพืชเศรษฐกิจหลักที่ติดอันดับเบอร์ต้นๆของโลกประกอบด้วย ข้าว,ยางพารา,มันสำปะหลัง,อ้อย,และปาล์ม แต่จากที่สำรวจพบว่าสินค้าเกษตรที่ขายให้กับกลุ่มนายทุนกลับได้ราคาต่ำ ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายและหนี้สินที่มากกว่ารายรับหลายเท่าตัว หากนำกรณี "ทุเรียน" เป็นตัวอย่าง หันมาเอาจริงเอาจังยกระดับคุณภาพเกษตรไทย (อันนี้รอรัฐช่วยอย่างเดียวไม่ได้ เกษตรกรก็ต้องช่วยตัวเองอย่างหนักเช่นกัน) สามารถปรับตัวทันเทคโนโลยีใหม่ๆทางด้านการเกษตรและการค้า เชื่อว่ากลไกพ่อค้าคนกลางที่เป็นธุรกิจดั้งเดิม จะถูกทดแทนด้วยการค้าขายรูปแบบใหม่ที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ช่วยให้เกษตรกรไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ต่ำได้สำเร็จ

บทวิเคราะห์ของหน่วยงานภาครัฐแห่งหนึ่งได้กล่าวถึง 3 สาเหตุที่ทำให้เกษตรกรไทยยังติดกับดักรายได้ต่ำมาจนถึงทุกวันนี้...ไว้อย่างน่าสนใจ

1. สินค้าเกษตรของไทยเป็นที่ยอมรับเรื่องคุณภาพ แต่เกษตรกรไทยยังยึดติดกับสิ่งเดิมๆ ยังขาดความรู้ ขาดการอบรมเสริมทักษะ ขาดการเพิ่มมูลค่าสินค้า การสร้างแบรนด์และใช้นวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ และการแปรรูปสินค้าเพิ่มศักยภาพสินค้าเกษตรไทยบนเวทีโลก

2. เกษตรกรไทยไม่นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรกรรม หนึ่งในการเปลี่ยนนั้นคือ “Smart Farmer” หมายถึงเกษตรกรที่มีความรู้หรือมีความคิดเท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพราะเกษตรกรไทยจะไม่มีวันตายกับสินค้าเกษตร ต้องรู้เท่าทันสถานการณ์ของตลาดโลกในปัจจุบัน ย้อนกลับมาดูตัวเองว่าจะมีวิธีการในการปรับตัวอย่างไรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ผสมผสานกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

อาทิ ดาวเทียมเพื่อการเกษตร ปัจจุบันระบบดาวเทียมสามารถถ่ายรูปได้ชัดถึงเฉดสีที่ระบุได้ถึงแร่ธาตุสภาพดินและความพร้อมของดินแค่ไหนในเวลาเดียวกันระบบดาวเทียมยังช่วยในการวางแผนเพาะปลูกที่แม่นยำรวมไปถึงการบริหารจัดการด้านการเก็บเกี่ยวและผลผลิตจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนแก้ปัญหา สินค้าเกษตรล้นตลาด และการอุดหนุนราคาจากภาครัฐ

3. การโดนแทรกแซงราคาสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันนี้ทั่วโลกมีการแข่งขันกันตลอด เกษตรกรไทยต้องปรับตัวและวางแผนการดำเนินงานให้รอบคอบ หน่วยงานของรัฐต้องเข้ามาดูแลเรื่องการลักลอบนำเข้าสินค้าจากเพื่อนบ้าน ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าเกษตรของไทยราคาตกเพราะสินค้าของเกษตรกรไทยไม่มีใครซื้อ โดยพ่อค้าคนกลางเลือกซื้อสินค้าที่ลักลอบเข้ามาสืบเนื่องจากราคาถูกกว่าต้นทุนต่ำ กำไรสูง ผลผลิตคุณภาพไม่ต่างกับสินค้าของเกษตรกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุถึงแนวทางการแก้ปัญหาภาคเกษตรในระยะยาวว่า ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างภาคการเกษตร ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนและนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่อาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการยกระดับภาคเกษตรไทย ซึ่งภาครัฐต้องเน้นความช่วยเหลือไปที่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการให้ความรู้ การช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ไม่สูงจนเกินไป และที่สำคัญ คือ การเร่งผลักดันให้แนวทางการปฏิรูปภาคการเกษตร (เกษตร4.0) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

สรุป: นโยบายบริหารประเทศรัฐบาลแทบทุกสมัย ยังคงมุ่งเป้าไปที่ธุรกิจส่งออกภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศ แต่ในทางกลับกันประชากรจำนวนมากของไทยอยู่ในภาคเกษตรกรรม ตราบใดเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังก้าวตามไม่ทันเทคโนโลยี ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ คำว่า "หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ลืมตาอ้าปากไม่ได้" ก็จะยังวนเวียนในวิถีของเกษตรกรไทยไม่รู้จบ

2 views0 comments
bottom of page