ทำไมสตาร์ทอัพไทยไปไม่ถึงฝัน

ทำไมสตาร์ทอัพไทยไปไม่ถึงฝัน
#สตาร์ทอัพไทยอยากไปให้ถึงดวงจันทร์ส่วนผมนั้นอยากไปให้ถึงดวงใจคุณ
4-5 ปีที่ผ่านมาการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพมีจำนวนมาก หลายรายประสบความสำเร็จไม่น้อย แตกต่างกับปัจจุบันที่กระแสการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพไม่ค่อยคึกคักละเหี่ยวลงอย่างน่าใจหาย สาเหตุน่าจะไม่ใช่เพราะปริญญาเอกของธรรมนัส เป็นเพราะอะไรกันหนอ #เสี่ยวCREW เอาความเห็นจาก “ตัวพ่อ” วงการการสตาร์ทอัพมาให้ดูกัน ไม่ได้ไปคุยกับเขาหรอกนะ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเขาจัดสัมมนา "แนวทางขับเคลื่อน Startup Ecosystem" เราก็แอบไปเผือกมา

ห่วงโซ่อุปทาน "สตาร์ทอัพ" ขาดช่วง
คุณป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com นักลงทุนสตาร์ทอัพ เล่าว่า ปัจจุบันโอกาสได้รับเงินสนับสนุนของสตาร์ทอัพในไทยมีอยู่มาก เพราะมีหลายองค์กรขนาดใหญ่เปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะเล็งเห็นว่าองค์กรมีขนาดใหญ่เกินไปที่จะสร้างนวัตกรรมของตัวเองขึ้นมา ดังนั้นการร่วมกับสตาร์ทอัพเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยเร่งให้เกิดนวัตกรรมในองค์กรได้อย่างรวดเร็ว
แม้ว่าที่ผ่านมาจะเห็นว่าสตาร์ทอัพเกิดขึ้นเยอะมาก แต่สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาคือห่วงโซ่อุปทาน หรือ Value Chain ของสตาร์ทอัพได้ขาดช่วงไป เพราะเริ่มต้นใช้เงินตัวเอง พอธุรกิจเริ่ม Take off ถึงจุดหนึ่งไม่มีเงินทุนไปสนับสนุน และไม่มีความเข้าใจในการทำธุรกิจอย่างแท้จริง ซึ่งในช่วงนี้ Angel Investor มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยผลักดันให้เติบโตไปต่อ แต่ปัญหาคือ Angel Investor ในเมืองไทยมีค่อนข้างน้อย นักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในการลงทุนกับสตาร์ทอัพ
แตกต่างกับในต่างประเทศ โดยใน "ซิลิคอนวัลเลย์" จะพบว่ามี Angel Investor จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เคยผ่านการเป็นสตาร์ทอัพมาก่อนแล้วค่อยมาลงทุนอีกที แม้ว่าในไทยจะเกิด Corporate Venture Capital (CVC) มาค่อนข้างเยอะ มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลแต่ก็ต้องรอให้สตาร์ทอัพโตขึ้นมาระดับหนึ่งก่อน มีความเสี่ยงน้อยลงถึงค่อยไปเข้าตากลุ่ม CVC ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็น คือ ศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพในไทยให้มีจำนวนมากกว่านี้ พร้อมกับจัดโครงสร้างแต่ละธุรกิจให้มีความชัดเจน ให้ตรงตาม Growth Engine ของประเทศไทย

อุปสรรคสตาร์ทอัพคือ CVC ไม่เข้าไปร่วมบูรณาการแท้จริง
ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association มีมุมมองว่า ในปีที่ผ่านมาพบว่ามีเม็ดเงินจาก Corporate Venture Capital (CVC) เข้ามาสนับสนุนสตาร์ทอัพกว่า 60% ของทั้งตลาด แต่พบว่า CVC หลายรายที่นำเงินมาลงทุนค่อนข้างระมัดระวังความเสี่ยง จึงนำสตาร์ทอัพมาช่วยต่อยอดธุรกิจตัวเองเท่านั้น ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเข้าไปบูรณาการเพื่อให้สตาร์ทอัพเข้าไปขยายตลาดใหญ่มากขึ้น เป็นหนึ่งในข้อจำกัดการเติบโตของสตาร์ทอัพในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ โมเดลสตาร์ทอัพจากเดิมที่เคยนิยมประกอบธุรกิจในรูปของ B2C (Business-to-Customer) ก็ปรับมาทำรูปของ B2B(Business-to-Business) กันมากขึ้น ซึ่งมองว่าช่วยการเติบโตที่มั่นคง แต่ถ้าหาก CVC มีมุมมองแค่ซื้อสินค้าจากสตาร์ทอัพเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้เข้ามาบูรณาการธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม การลงทุนก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มศักยภาพสตาร์ทอัพให้ขยายกิจการไปในตลาดใหญ่ระดับภูมิภาคหรือระดับโลกได้

VC คัดสตาร์ทอัพเลือกไอเดีย-ทีมงานเป็นหลัก
คุณพจน์ สุพรหมจักร กรรมการสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน กล่าวว่า ทุกวันนี้เงินลงทุนในสตาร์ทอัพไม่ได้เป็นปัญหา แต่ปัญหาคือการหาดีลที่ดีในการเข้าไปลงทุนมีความยากมากกว่า เพราะโดยปกติแล้ว VC จะเข้าไปลงทุนกับสตาร์ทอัพตั้งแต่ช่วงแรกๆ และไม่ได้ปิดกั้นว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใด แตกต่างกับในมุมของ Angel Investor ที่โฟกัสไปในธุรกิจที่มีความชอบเท่านั้น มีความเสี่ยงสูงก็ไม่พิจารณาลงทุน
แต่ในมุมมองของ VC ถ้าเห็นว่าบริษัทมีโอกาสเติบโต มีตลาดใหญ่พอ ก็พร้อมเข้าไปลงทุน
โดยหลักพิจารณาเข้าไปเลือกลงทุนกับสตาร์ทอัพช่วงแรกๆจะตัดสินใจจากทีมและไอเดียเป็นหลัก เพราะสินค้าจะมีการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของลูกค้าอยู่แล้ว ในส่วนของทีมจะดูว่ามีความเข้าใจกันมากแค่ไหน โดยเฉพาะผู้ร่วมก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่ เพราะที่ผ่านมาเคยเจอบางบริษัทมีผู้ก่อตั้ง 2 รายเจรจาไม่เข้าใจกัน ก็มีความยากที่สตาร์ทอัพนั้นจะเติบโตได้
"ผู้ร่วมก่อตั้งมีความเห็นแตกต่างกันไม่ใช่เรื่องแย่ เพราะถ้าไม่คิดต่างก็พัฒนาต่อไปไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาเคยเจอผู้ร่วมก่อตั้งคุยแล้วไม่อยากอยู่ห้องเดียว อย่างนี้ไปไม่ได้ตั้งแต่เริ่มแน่นอน แม้ว่าธุรกิจจะดีแค่ไหนก็ตาม ก็เหมือนระเบิดเวลาดีๆแค่นั้นเอง"