มาตรการกระตุ้นอสังหาฯตัวร้ายกับ GEN Y หนี้ท่วมหัว

#ความรักที่ให้เธอมันท่วมท้นเหมือนหนี้ดอกล้นๆของบ้านพี่ #กระตุ้นอสังหาฯ #เป็นหนี้กันเถอะๆ
ช่วงนี้อะไรต่อมิอะไรมันก็จะฝืดๆหน่อยฮะ ตามภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจครัวเรือน
“รัดบาน” (อันนี้เรียกตาม ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี) ก็เลยเร่งออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศชุดแรกออกมาเป็นที่เรียบร้อย โดยคาดหวังให้การใช้จ่ายของกลุ่มคนชั้นกลาง-รากหญ้ากระเตื้องขึ้น มีเม็ดเงินเข้ามาผลักดันระบบเศรษฐกิจให้เติบโต (ทั้งหมดมีไรบ้างลองไปหาดูเอานะฮะ)
หนึ่งในนั้นมีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับซื้่อบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท (เหลือ 600 บาท จากปกติ 90,000 บาท) / สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2.5% ระยะเวลา 3 ปี / บ้านดีมีดาวน์ ให้การสนับสนุนเงินดาวน์ 50,000 บาท กับผู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จำนวน 1 แสนราย (ผู้ซื้อต้องมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท/เดือน)
มาตรการนี้อาจดี มีประโยชน์ สำหรับคนมีตังค์ มีกำลังซื้อมากพอ และน่าจะดีต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มากที่สุด แต่ขณะเดียวกันมันอาจใช้ไม่ได้ผลใดๆเลยกับกลุ่มคนชั้นกลางรายได้ไม่เกินแสนต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของมาตรการนี้โดยตรง #เสี่ยวCREW มีข้อมูลมาให้ประกอบการตัดสินใจ ดังนี้
งานวิจัยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB (TMB Analytics) เผย กลุ่มคน GEN Y (อายุ 23-38 ปี) จำนวน 7.2 ล้านรายกำลังตกอยู่ในสภาวะ “หนี้ท่วมหัว” เฉลี่ยภาระหนี้ 423,000 บาท/คน ที่สำคัญ 1.4 ล้านราย หรือ 20% เป็นหนี้เสีย คิดเป็น 7.1% ของสินเชื่อทั้งหมดที่ผิดนัดชำระ
กลุ่มคน GEN Y ขาดวินัยด้านวางแผนการเงิน ใช้ชีวิตด้วยมโนคติอยากมั่นคง อยากมีบ้าน มีรถ และเงินออม แต่ความเป็นจริงกลับพบพฤติกรรมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยพร้อมสโลแกน "ของมันต้องมี" โดยแต่ละปีกลุ่ม GEN Y ใช้จ่ายเงินรวม 1.37 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13% ของ GDP เทียบเท่ามูลค่าการลงทุนใน EEC ระยะ 5 ปี หรือ 8 เท่าของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
รายจ่ายฟุ่มเฟือยของ GEN Y เฉลี่ยปีละเกือบ 100,000 บาท/คน หมดไปกับ โทรศัพท์มือถือ 22% เสื้อผ้า 11% เครื่องสำอาง 8% อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 5% กระเป๋า 4% และเครื่องประดับ 2% ซึ่งสัดส่วนเกินครึ่งซื้อตามความนิยม ที่สำคัญคือ 50% เป็นการกู้หรือใช้บัตรเครดิตในการซื้อ
เมื่อสำรวจเรื่องการออมกลับพบว่ากลุ่ม GEN Y มีการออมเงินเฉลี่ยเพียง 5,500 บาท/เดือนเท่านั้น ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 15 ปีกว่าจะมีเงินออม 1 ล้านบาท ขณะเดียวกันเกิน 50% ของคน GEN Y มีเงินออมไม่ถึง 3,000 บาท/เดือน อีกทั้งการออมเงินกลับเลือกวิธีที่ได้ผลตอบแทนน้อย คือ เงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปสัดส่วนถึง 39% รองลงมาคือฝากประจำ ซึ่งผลตอบแทนจากดอกเบี้ยต่ำมาก และมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมซึ่งมักให้ผลตอบแทนสูงกว่าเพียง 13%
สรุป: พฤติกรรมการใช้จ่าย การก่อหนี้ และหนี้ท่วมหัว น่าจะเป็นปัญหาสำคัญที่ควรแก้และควบคุมอย่างเร่งด่วน เพราะมันคือพื้นฐานอันสำคัญยิ่งของโครงสร้างระบบ ที่จะพัฒนาไปสู่เงินในกระเป๋าที่มากขึ้น และตามด้วยการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
การเร่งให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น บนพื้นฐานอันกลวงโบ๋วว หนี้ท่วมหัวก็เกิดซ้ำรอยอยู่ดี ดูดเงินจากข้างล่างไปให้ข้างบนวนไปอยู่อย่างนี้ ไม่ดีเลยนะจ๊ะ