top of page

ย้อนรอยมาร์เก็ตแคปหุ้นเครือ ปตท.



ย้อนรอยมาร์เก็ตแคปหุ้นเครือ ปตท. OR รุ่งหรือร่วง? #หุ้นขึ้นหุ้นลงมีอยู่ทั่วไปแต่หุ้นส่วนหัวใจมีคุณเพียงคนเดียว

สิ้นสุดการรอคอย!! 11 ก.พ.นี้ หุ้นโคตรมหาชน บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) จะเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นอีกบริษัทในเครือ ปตท. ที่กลายเป็น "หุ้นแห่งชาติ" ตัวใหม่ ภายหลังเปิดจองซื้อหุ้น IPO ตลอด 10 วัน มีพ่อแม่พี่น้องชาวไทยแสดงความสนใจอย่างล้นหลาม มีการกล่าวถึงบนหน้าฟีดแทบทุกเพจข่าวสาร แทบทุกเพจการลงทุน ส่งผลให้ OR กลายเป็นหุ้นที่มีผู้ลงทุนรายย่อยจองซื้อจำนวนกว่า 530,000 ราย สูงสุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย ล้มสถิติในอดีตหุ้น IPO ของ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ที่เคยมีผู้ลงทุนรายย่อยจองซื้อหุ้น IPO สูงสุดประมาณ 80,000 ราย

การนำเสนอขายหุ้น IPO ของ OR ครั้งนี้ จำนวนทั้งสิ้น 3,000 ล้านหุ้น ราคา 18 บาท/หุ้น • คิดเป็นจำนวนหุ้นจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวม 12,000 ล้านหุ้น • คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) อยู่ที่ 216,000 ล้านบาท มีโอกาสเข้าคำนวณใน SET50 และ SET100 ภายใน 3 วันหลังเข้าเทรดวันแรก และมีโอกาสเข้าคำนวณในดัชนี FTSE100 และ MSCI Index อีกด้วย ซึ่งนั่นแปลว่าอาจมีเม็ดเงินจากกองทุนที่จะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเข้ามาในหุ้น OR เพิ่มเติมภายหลังเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว

คุณสมบัติของหุ้น OR จากการสำรวจมุมมองนักวิเคราะห์หลายๆค่าย ยังคงชูจุดเด่นแตกต่างกับหุ้นในเครือ ปตท.คือความเป็นธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน ผสมผสานกับธุรกิจค้าปลีก แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกน้ำมันจะมีศักยภาพทำกำไรไม่สูงนัก แต่ด้วยความมั่นคงของยอดขายน้ำมันที่มีปริมาณมากเป็นส่วนช่วยลดความผันผวนของรายได้ระยะยาว ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกภายใต้แบรนด์ต่างๆอย่างร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอนที่มียอดขายเติบโตโดดเด่นและมีศักยภาพทำกำไรที่ดีอาจเป็นส่วนผลักดันการเติบโตกำไรของ OR ได้ในอนาคต

"เอเซีย พลัส" กำหนดราคาพื้นฐาน OR อยู่ที่ 24 บาท/หุ้น ภายใต้สมมติฐานผลประกอบการปี 64 กำไรจากการดำเนินงานปกติเติบโต 41.2% yoy อยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท และเติบโตต่อเนื่องในปี 2565-2567 คาด OR จะมีกำไรเติบโต 16.7%, 5.8% และ 6.4% ตามลำดับ พร้อมกับคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินปันผลสูงถึง 0.8 บาท/หุ้น หรือคิดเป็น Dividend yield ราว 4.2% ภายใต้สมมติฐานราคา IPO หุ้นละ 18 บาท/หุ้น

แม้ว่าวันนี้จะมีการคาดเดาถึงวันแรกที่ OR เข้าซื้อขาย ว่า อาจต่ำจอง!!! เพราะการเข้ามาถือหุ้นของรายย่อยจำนวนมาก ทำให้ควบคุมราคาได้ยาก กรณีหากราคาหุ้น OR ปรับตัวลงจากเกมหุ้น หรือจากเหตุไม่คาดฝัน เกิดแรงขายของมือลึกลับที่มีการถือครองหุ้นจำนวนมากๆ จนทำให้รายย่อยเกิดอาการตกใจแห่ขายหุ้นตามๆกัน

แต่ไม่มีใครรู้อนาคต จะรุ่ง จะร่วงขนาดไหน สิ่งที่เราสามารถรู้ได้ คือ สติ ของตัวเองครับ ลองพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน ราคาที่เหมาะสม โอกาสการเติบโตของธุรกิจ คงจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดว่าควรลงทุนในหุ้นตัวนั้นหรือไม่

อย่างไรก็ตามหากเราย้อนไปดูญาติของ OR หุ้นในเครือ ปตท. ภายหลังจากเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนใหญ่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย

1. PTT (บมจ.ปตท.) เข้าซื้อขายวันแรก 06/ 12 / 44 ราคา IPO อยู่ที่ 35.00 บาท ราคาพาร์ 10 บาท มูลค่า Market Cap อยู่ที่ 99,970 ล้านบาท ก่อนเปลี่ยนแปลงราคาพาร์ใหม่เป็น 1 บาทเมื่อวันที่ 24 / 04 / 61 และเมื่อคำนวณราคาหุ้นจากราคาปิดวันที่ 8 ก.พ.64 มูลค่า Market Cap เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1,149,660 ล้านบาท

2. PTTEP (บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม) เข้าซื้อขายวันแรก 10 / 06 / 36 ราคา IPO อยู่ที่ 33.00 บาท ราคาพาร์ 10 บาท มูลค่า Market Cap อยู่ที่ 13,100 ล้านบาท ก่อนเปลี่ยนแปลงราคาพาร์ใหม่เป็น 1 บาทเมื่อวันที่ 24 / 04 / 49 และเมื่อคำนวณราคาหุ้นจากราคาปิดวันที่ 8 ก.พ.64 มูลค่า Market Cap เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 434,713 ล้านบาท

3. GPSC (บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่) เข้าซื้อขายวันแรก 18 / 05 / 58 ราคา IPO อยู่ที่ 27.00 บาท ราคาพาร์ 10 บาท มูลค่า Market Cap อยู่ที่ 76,132 ล้านบาท เมื่อคำนวณราคาหุ้นจากราคาปิดวันที่ 8 ก.พ.64 มูลค่า Market Cap เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 217,824 ล้านบาท

4. TOP (บมจ.ไทยออยล์) เริ่มเข้าซื้อขายวันแรก 26 / 10 / 47 ราคา IPO อยู่ที่ 32.00 บาท ราคาพาร์ 10 บาท มูลค่า Market Cap อยู่ที่ 65,280 ล้านบาท เมื่อคำนวณราคาหุ้นจากราคาปิดวันที่ 8 ก.พ.64 มูลค่า Market Cap เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 120,361 ล้านบาท

5. IRPC (บมจ.ไออาร์พีซี ชื่อเดิมคือ บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย) หลังจากมีคดียึดกิจการ TPI มาจากนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น IRPC เมื่อวันที่ 06 / 11/ 49 TPI เริ่มเข้าซื้อขายวันแรก 17 / 03 / 38 ราคา IPO อยู่ที่ 55.00 บาท ราคาพาร์ 10 บาท คิดเป็นมูลค่า Market Cap อยู่ที่ 112,389 ล้านบาท เปลี่ยนแปลงราคาพาร์ใหม่เป็น 1 บาทเมื่อวันที่ 12 / 04 / 48 และเมื่อคำนวณราคาหุ้นจากราคาปิดวันที่ 8 ก.พ.64 มูลค่า Market Cap ลดลงอยู่ที่ 76,016 ล้านบาท

6. PTTGC (บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล) เกิดจากการควบรวม PTTAR และ PTTCH เข้าด้วยกัน

• PTTAR เกิดจากการควบรวม 2 บริษัท ได้แก่ บมจ.โรงกลั่นน้ำมันระยอง (RRC) ราคา IPO 18.00 บาท พาร์ 10.00 บาท เข้าซื้อขายวันแรก 05 / 06 / 49 และ บมจ.อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) (ATC) ราคา IPO 30.00 บาท พาร์ 10.00 บาท เข้าซื้อขายวันแรก 25 / 01 / 39

• PTTCH เกิดจากการควบรวม 2 บริษัท ได้แก่ บมจ.ปิโตรเคมีแห่งชาติ (NPC) ราคา IPO 33.00 บาท พาร์ 10.00 บาท เข้าซื้อขายวันแรก 08 / 02 / 37 และ บมจ.ไทยโอเลฟินส์ (TOC) ราคา IPO 30.00 บาท พาร์ 10.00 บาท เข้าซื้อขายวันแรก 06 / 11 / 46

หากนับรวมมูลค่า Market Cap ของทั้ง 4 บริษัทเป็นจุดเริ่มต้นของ PTTGC จะพบว่ามีมูลค่า Market Cap รวมทั้งสิ้น 115,632 ล้านบาท เมื่อคำนวณราคาหุ้นจากราคาปิดวันที่ 8 ก.พ.64 มูลค่า Market Cap เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 284,057 ล้านบาท

อีก 2 บริษัทที่เป็นอดีตบริษัทลูก ปตท. ก่อนจะเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ภายหลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว ประกอบด้วย

บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เข้าซื้อขายวันแรก 02 / 08 / 37 ราคา IPO 31.00 บาท ราคาพาร์ 10 บาท มูลค่า Market Cap อยู่ที่ 4,268 ล้านบาท เปลี่ยนแปลงราคาพาร์ใหม่เป็น 1 บาท เมื่อวันที่ 21 / 11 / 46 เมื่อคำนวณราคาหุ้นจากราคาปิดวันที่ 8 ก.พ.64 มูลค่า Market Cap เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 35,455 ล้านบาท

บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) เข้าซื้อขายวันแรก 08 / 12 / 58 ราคา IPO อยู่ที่ 9.00 บาท เทรดบนราคาพาร์ 6.92 บาท มูลค่า Market Cap อยู่ที่ 39,023 ล้านบาท และเมื่อคำนวณราคาหุ้นจากราคาปิดวันที่ 8 ก.พ.64 มูลค่า Market Cap เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 40,540 ล้านบาท

26 views0 comments
bottom of page