top of page

รับมืออย่างไรเมื่อ“เจ๊ง”กองทุน



รับมืออย่างไรเมื่อ“เจ๊ง”กองทุน

#หนีมาซื้อกองทุนพี่ยังอกหักรู้งี้หนีตามคนน่ารักไปดีกว่า กองทุนชั้นยอดที่สุดของโลก ล้วนผ่านช่วงเลวร้ายทั้งนั้น...วลีนี้คงใช้ได้กับสภาวะการลงทุนในปีนี้ แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านลงทุนก็ยังหนีไม่พ้นกับความผันผวนบนโลกของการลงทุนได้ ตลาดหุ้นไทยในปีนี้ก็เช่นกันครับพี่น้อง นักลงทุนที่ซื้อกองทุนรวมนโยบายเน้นลงทุนในตลาดหุ้นไทย นับตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน “ชาวคณะการลงทุนมีความเสี่ยว” ฟันธงให้เลยว่า แทบทุกกองทุนผลตอบแทนติดลบกันทั้งนั้น ไม่ติดลบได้ไง!!

ย้อนไปต้นปี SET INDEX ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,852 จุด ระหว่างทาง 1,500 กว่าๆก็ไปมาแล้น บัดนาวแกว่งตัวแถวๆ 1,600 จุดบวกลบ สวนทางกับปริมาณเงินที่ไหลเข้ากองทุนหุ้นไทยที่มีมากขึ้น สาเหตุเพราะคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นจังหวะซื้อของถูก “พลิกวิฤตให้เป็นโอกาส”

จากข้อมูล Monrningstar Thailand ระบุว่ากองทุนหุ้นไทยไม่นับรวม LTF และ RMF ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-cap) มีเงินไหลเข้าสุทธิถึง 68,109 ล้านบาท แต่ไหลออกจากกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Equity Small/Mid-cap) -2,421 ล้านบาท หากรวมมูลค่ากองทุนหุ้นไทยทั้งหมดแล้วไม่นับรวม LTF และ RMF ณ กันยายน 2561 อยู่ที่ 305,467 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.53% จากสิ้นปี 2560

เชื่อว่าทุกท่านที่ตัดสินใจซื้อกองทุนในสภาวะตลาดเช่นนี้ ต้องการลงทุนเพื่อผลตอบแทนที่ดีระยะยาว ขณะเดียวกันก็ต้องการลดความเสี่ยงจากความผันผวน “แต่แล้วววฝันนั้นก็สลายลงในพริบตา ทุกๆวันหุ้นไหลลงมา พาเงินในกระเป๋าชั้นจากไป” เมื่อการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสที่คิดไว้ดันกลายเป็นวิกฤตซ้ำสอง เงินที่ลงทุนไป “ขาดทุน” เฉย!!! เป็นใครก็คงอดกังวลไม่ได้อย่างแน่นอน

หลายคนใช้วิธีแก้ไขปัญหาเมื่อพอร์ตแดงหนักๆโดย "อดทนรอ" หวังว่าสักวันคงกลับมาเป็นกำไร หรือถ้านานเกินไปคิดเสียว่าเป็นมรดกลูกหลานไปเลยแล้วกัน หลายคนใช้วิธีตัดความเสี่ยง "ขายทิ้ง" ยอมเจ็บปวดแล้วมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง 2 แนวทางนี้ นับเป็นวิธีใช้บริหารพอร์ตได้ดีเช่นกันไม่ใช่วิธีที่ผิด เพราะบางครั้งการรอคอยก็ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นมหาศาล และการตัดสินใจขายทิ้ง ช่วยเรียกสติ ลดความเสี่ยงที่ต้องขาดทุนเพิ่ม เจอโอกาสใหม่ได้ผลตอบแทนที่งดงามกว่าเดิม

แต่ถ้าท่านยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรกับกองทุนที่ลงทุนไปแล้วขาดทุนเรามี 3 แนวทางให้ลองพิจารณากัน เพื่อเป็นทางเลือกไว้ใช้ตัดสินใจก่อนที่จะ "ถือ หรือ ขาย" กองทุนในพอร์ตออกไป…

อันดับ1 : เปลี่ยนม้ากลางศึก อย่าปล่อยให้ชะตากรรมกำหนดผลตอบแทนจากการลงทุนเพียงอย่างเดียว เพราะในระหว่างที่ขาดทุน ควรใช้โอกาสนี้ถอยหลังออกมาพิจารณาและวิเคราะห์กองทุนที่ถือหน่วย ว่า มีโอกาสเป็นขาขึ้นรอบใหม่ได้หรือไม่ สินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่นั้นมีศักยภาพเพียงพอต่อการสร้างผลตอบแทนในระยะยาวหรือไม่

บางครั้งช่วงที่ซื้อกองทุนสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือ กิจการในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเติบโตได้ดี แต่เมื่อสถานการณ์ต่างๆเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ หากสินทรัพย์เหล่านั้นไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้เหมือนในอดีต การเปลี่ยนไปลงทุนอย่างอื่นก็เป็นทางออกที่ดีเช่นกัน อย่าลืมว่าเงินที่ลงทุนไปนั้นเป็นของคุณ ไม่ใช่ของผู้จัดการกองทุน ความเชื่อใจบางครั้งอาจสร้างความเจ็บปวด

อันดับ2 : ไม่ยึดติด เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าไม่ได้กอดของแย่ๆไว้ในช่วงตลาดเป็นวิกฤติ กองทุนต่างๆที่ถืออยู่เราสามารถนำมาประเมินใหม่ได้ โดยเปรียบเทียบกับกองทุนที่มีนโยบายคล้ายๆกัน ผลตอบแทนระยะสั้น-กลาง-ยาว มีความเเตกต่างกันมากน้อยอย่างไร กองทุนเดิมยังใช่สำหรับคุณอยู่หรือไม่

การปรับเปลี่ยนมุมมองการลงทุนใหม่ๆ ไม่ยึดติดแบรนด์ ชื่อชั้น และอดีตอันหอมหวานอาจทำให้คุณเจอเพชรที่อยู่ในตมก็เป็นได้ แต่อยากขอย้ำว่าความเสี่ยงที่ต้องเผชิญในระหว่างทาง ต้องยอมรับได้และเหมาะสมกับภูมิต้านทานของแต่ละบุคคลด้วย

อันดับ3 : ลดความเครียด ปิดหน้าจอพอร์ตแดงๆไปซักระยะ แล้วหันไปใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงให้กับชีวิตตัวเองและครอบครัวบ้าง แต่การใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อความสุข ก็ต้องให้มีความเหมาะสม มีความพอดีกับขนาดของความสุขและเงินในกระเป๋า

ในช่วงที่มีความสุขและพอร์ตก็ยังขาดทุน การทยอยออมเงิน หรือหารายได้เพิ่ม เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อเก็บไว้เป็นกระสุนรอบใหม่ เพราะเมื่อใจพร้อม ความรู้พร้อม เงินทุนพร้อม บอกได้คำเดียวครับว่า "รวย"

1 view0 comments
bottom of page