“ลุงตู่” Comeback หุ้นไทยไปต่อ หรือ ถอยหลัง

“ลุงตู่” Comeback หุ้นไทยไปต่อ หรือ ถอยหลัง
#ดีใจเพราะมีรัฐบาลใหม่แต่ไม่อาจเปลี่ยนใจรักใครนอกจากเธอ
หลังได้ผลโหวตนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว หลายท่านคงอยากรู้ทิศทางตลาดหุ้นจะเป็นยังไงต่อ เพราะในอดีตที่ผ่านมาทุกครั้ง ที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ตลาดหุ้นมักได้รับผลดีเสมอ แล้วคราวนี้จะเป็นอย่างไร ?#เสี่ยวCREW ขอเรียนเชิญรับชม

สุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย
ภายหลังจากการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วเสร็จ คาดว่ากระบวนการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะมีความชัดเจนในกลางเดือน มิ.ย.นี้ เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนอัพไซด์ของตลาดหุ้นไทยระยะสั้น สิ่งที่ต้องติดตามคือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่จะส่งผลดีต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีมากน้อยอย่างไร ทั้งนี้ มองว่ามีความเป็นไปได้ SET INDEX มีโอกาสปรับขึ้นระยะสั้นทะลุ 1,680 จุดภายในไตรมาส 3 นี้
นอกจากนี้การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ช่วยเปิดทางให้เงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกองทุนต่างชาติประเภท Active Fund ที่ก่อนหน้านี้มีเงื่อนไขว่าต้องลงทุนในประเทศที่มีรัฐบาลจากระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ประกอบกับตลาดหุ้นไทยเริ่มมี Valuation น่าสนใจ เป็นหนึ่งในตลาดหุ้นที่เป็นแหล่งพักเงินจากความผันผวนภายนอกได้
เพราะปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศสูง,เกินดุลบัญชีเดินสะพัด ,ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะส่งสัญญาณแข็งค่า แต่เกิดจากนโยบายธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดดอกเบี้ย ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า ถือเป็นประโยชน์กับทิศทางฟันด์โฟลว์ไหลเข้าตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ในระยะถัดไป
สำหรับแนวทางนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ คาดว่าจะเป็นมาตรการที่รวดเร็วเพื่อถ่วงดุลการส่งออกและเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณชะลอตัว จากข้อมูลพบว่ารัฐบาลไทยยังมีงบประมาณอีกกว่า 1.5-2 แสนล้านบาท เพื่อใช้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยมุ่งเป้าเพิ่มการบริโภคในประเทศด้วยการเพิ่มรายได้ภาคครัวเรือน ทั้งนี้ มาตรการหลักที่คาดจะทยอยออกมา ได้แก่ การแจกเงินให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย ,เงินอุดหนุนกลุ่มเกษตร, ลดหย่อนภาษีสำหรับสินค้าคงทนและการท่องเที่ยวในประเทศ ,ค่าธรรมเนียมการจดจำนองที่ลดลงสำหรับผู้มีรายได้น้อย โครงการลงทุนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน คาดว่าจะทยอยประมูลภายในปีนี้และต้นปี 2563 มูลค่ากว่า 6.82 แสนล้านบาท
“แม้ความเชื่อมั่นทางการเมืองในประเทศเริ่มดีขึ้น แต่ฝ่ายวิจัยฯยังไม่ทบทวนประมาณการดัชนีฯใหม่ ที่ปัจจุบันวางเป้าหมาย SET INDEX ล่วงหน้า 12 เดือนไว้ที่ 1,725 จุด ภายใต้สมมติฐาน P/E 14.7 เท่า ,กำไรต่อหุ้น (EPS) ปีนี้อยู่ที่ 107 บาท หรือคิดเป็นการเติบโต 12% จากปีก่อน โดยภายใต้เป้าหมายดัชนีที่ 1,725 จุด ถือเป็นมุมมองค่อนข้าง Conservative ฝ่ายวิจัยฯยังใช้ความระมัดระวังกับปัจจัยเสี่ยงสงครามการค้าและการเมืองที่ยังไม่นิ่งทำให้ต้องรวมส่วนลด หรือ Discount ประมาณ 3.50% เข้าไปในประมาณการด้วย แต่ถ้าในกรณีที่การเมืองไทยมีเสถียรภาพ ประกอบกับสงครามการค้ายุติ สมติฐานดังกล่าวไม่นับรวม Discount จะทำให้เป้าหมายของ SET INDEX ขยับขึ้นไปแตะที่ 1,788 จุด”
ส่วนประเด็นสงครามการค้า ฝ่ายวิจัยฯคาดหวังว่าการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายในเวที G20 ปลายเดือน มิ.ย.นี้ น่าจะเป็นไปในทางบวก เนื่องจาก "โดนัล ทรัมป์" ผู้นำสหรัฐฯน่าจะเริ่มมีความกังวลถึงผลกระทบเศรษฐกิจสหรัฐฯในระยะถัดไป หากยกระดับความรุนแรงมาตรการภาษีเพิ่มขึ้น และอาจจะกระทบฐานคะแนนเสียงในการเลือกตั้งรอบหน้าด้วย
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากความขัดเเย้งการค้าระหว่างประเทศยังไม่ยุติ ได้ประเมินผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยไว้ 2 กรณีคือสหรัฐฯยังคงใช้มาตรการภาษี 25% ในวงเงิน 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯต่อไปจนถึงสิ้นปีนี้ มีโอกาสที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของไทย (จีดีพี) จะถูกปรับลดลงเหลือ 3.1% ปัจจุบันประเมินไว้ที่ 3.4% ตามการส่งออกที่จะไม่เติบโต และกรณีเลวร้ายที่สุดคือสหรัฐฯยกระดับขึ้นวงเงินจัดเก็บภาษีล็อตลุดท้าย 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จะกระทบต่อจีดีพีไทยลดลงเหลือเติบโตแค่ 2.6% ตามการส่งออกที่หดตัว 2%

มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี(ประเทศไทย) แม้ว่าการเมืองไทยจะมีความชัดเจนภายหลังพลเอกประยุทธ์ ได้รับเลือกเป็น นายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียง 500 ต่อ 244 เสียง ช่วยสนับสนุนบรรยากาศหุ้นไทยช่วงสั้น แต่จากนี้ต้องจับตาโฉมหน้าของคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ นับเป็นตัวแปรที่มีผลต่อทิศทางตลาดหุ้นมากที่สุด เนื่องจากนักลงทุนต้องการเห็นความชัดเจนในการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ก่อน
ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศ แม้ว่าเริ่มมีสัญญาณเป็นบวกกับทิศทางฟันด์โฟลว์ไหลเข้าตลาดหุ้นไทย ทั้งจากการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ด้วยการลดดอกเบี้ยของธนาคารในฝั่งเอเชียหลายแห่ง ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐฯที่มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ย ท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้าที่อาจกระทบอัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัว
ล่าสุดมีสถาบันระหว่างประเทศหลายแห่งมีการปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกปีนี้ หนึ่งในนั้นคือธนาคารโลก (World Bank) ที่หั่นคาดการณ์เหลือโต 2.6% ทั้งนี้ ยังมองโอกาสฟันด์โฟลว์ไหลเข้าตลาดพันธบัตรมากกว่าตลาดหุ้น เพราะนักลงทุนส่วนมากใช้ความระมัดระวัง ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยง