วัดชีพจร SME

ทำธุรกิจช่วงนี้เงินเหลือ..เหลืออยู่ร้อยเดียว!!
ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม หรือ “SME” เราได้ยินคำนี้กันมานาน แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยมีใครพูดถึงสักเท่าไหร่ เอาจริงๆแล้วกลุ่มธุรกิจนี้มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไม่น้อย “ถ้าธุรกิจดี” การจ้างงานก็จะเกิด ลูกจ้างมีตังค์มากขึ้น ใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นตาม ขณะที่ตัวเจ้าของกิจการเองก็มีโอกาสลงทุนเพิ่มในรูปแบบต่างๆ เพื่อขยายธุรกิจ มียอดขายเพิ่ม มีกำไรเพิ่ม ถ้าเป็นไปตามนี้การทำงานแบบอัตโนมัติจะเกิดขึ้น เงินฉีดเข้าสู่ระบบมากขึ้น รัฐจะเก็บรายได้จากห่วงโซ่ของภาคธุรกิจ SME ได้มากขึ้นตาม และช่วยขับเคลื่อนการโตของเศรษฐกิจโดยรวม ว่าแต่สถานการณ์ตอนนี้มันเป็นไงกันบ้าง #เสี่ยวCREW พาไปเช็คอาการ SME กันหน่อย

- มูลค่ารวมธุรกิจ SME ปี 2561 อยู่ที่ 7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 43% ของ GDP (ปีที่แล้วไทยมี - - มูลค่าGDPอยู่ที่ประมาณ 16.3 ล้านล้านบาท) มูลค่ารวมธุรกิจขนาดย่อม (SE) อยู่ที่ 5.01 ล้านล้านบาท คิดเป็น 30.7% ของ GDP - มูลค่ารวมธุรกิจขนาดกลาง (ME) อยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12.3% ของ GDP - สัดส่วนภาคธุรกิจของ SME ประกอบด้วย 1.) ภาคบริการ 44% 2.) ภาคการค้า 31.4% 3.) ภาคการผลิต 22.6% 4.) อื่นๆ (เหมืองแร่ ไฟฟ้า ก๊าซ ประปา) 2%

- ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจ SME มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในปี 2562 - ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย รายงานดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจ SME ไตรมาสแรก 43.7 / ไตรมาสสอง 42.7 / คาดการณ์ไตรมาส 3 ลดลงอยู่ที่ 41.7 - สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม รายงานดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจ SME ภาคการค้าและบริการเดือน ก.ค.อยู่ที่ 79.6 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 / ต่ำกว่าฐานความเชื่อมั่นที่ 100 เป็นเดือนที่ 3 / ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน - แนวโน้มธุรกิจ SME ช่วงต่อจากนี้อยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง ประกอบด้วย การใช้จ่าย การบริโภคในประเทศ ห่อเหี่ยวกันต่อไป / การแข่งขันสุดโหด ทั้งแข่งกันเองและสู้กับ Digital Platform ต่างๆ / ผลกระทบจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ / มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ล่าช้าและอาจไม่ได้ผล / ภาคท่องเที่ยวไม่สดใสเท่าที่ควร - ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ระบุว่า SME จำนวนมากต้องหันไปกู้เงินนอกระบบเพื่อเสริมสภาพคล่อง หรือเริ่มลดเวลาทำงานของพนักงานและไม่รับแรงงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนขององค์กร เนื่องจากสถาบันการเงินได้เข้มงวดหรือปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อกรณีที่ผลประกอบการของบริษัทมีปัญหา “ผู้ประกอบการทั่วประเทศต้องการเร่งหารือกับสถาบันการเงินภาครัฐให้ช่วยผ่อนคลายกฎต่างๆ ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้มากขึ้น รวมถึงอยากให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก เพราะมั่นใจว่าหลายธุรกิจยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เพียงแต่ต้องเสริมสภาพคล่องในช่วงที่ภาวะการบริโภคซบเซา หากได้เงินกู้ในระบบก็จะช่วยลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยได้” - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หลายภาคธุรกิจมีแนวโน้มต้องเผชิญโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น จากปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการ SME ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในปัจจุบันและผู้ที่กำลังอยากจะเริ่มต้นทำธุรกิจควรให้ความสำคัญกับปัจจัย 5 ประการ ประกอบด้วย 1. การฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศอาจไม่เกิดขึ้นเร็ว เนื่องจากรายได้ของเกษตรกรยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ดังนั้นกำลังซื้อที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศจึงยังมาจากกลุ่มลูกค้าที่ไม่ใหญ่ โดยเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางขึ้นไป 2. ตลาดส่งออกอยู่ท่ามกลางแรงกดดัน จากข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงนอกจากกระทบปริมาณการค้าโลกแล้ว ยังทำให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอลงด้วย ดังนั้นแม้สินค้าส่งออกของไทยบางรายการอาจได้รับโอกาสในฐานะสินค้าทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่โดยรวมแล้วการส่งออกยังคงได้รับผลกระทบ จากการที่ไทยเป็นหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตของสินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อีกทั้งอาจต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้น้อยลงด้วย 3. ต้นทุนทางธุรกิจมีแนวโน้มขยับขึ้น ทั้งต้นทุนทางการเงิน ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนอาจยังมีความผันผวนท่ามกลางความเปราะบางของทั้งเศรษฐกิจหลักและเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั่วโลก และค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ด้านสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า หรือแม้แต่ต้นทุนแรงงานมีฝีมือที่เป็นที่ต้องการจากหลายธุรกิจ 4. การแข่งขันรุนแรงในยุคการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ทำให้ไม่มีเส้นแบ่งทางธุรกิจอีกต่อไป แม้จะเพิ่มโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ แต่ก็เพิ่มความท้าทายด้านการแข่งขันด้วย ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถเข้ามาแข่งขันกับธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่เดิมได้ สภาวะการแข่งขันจึงยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และอาจเห็นการรวมตัวกันเป็นพันธมิตรหรือการควบรวมกิจการกันได้มากขึ้น 5. กฎระเบียบของทางการและมาตรการของคู่ค้า ได้แก่ เกณฑ์กำกับต่างๆ ที่อาจกระทบธุรกิจในระยะสั้น แต่หากดำเนินการได้ จะเป็นผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว เช่น มาตรฐานบัญชี กลไกการตรวจสอบย้อนกลับ กระบวนการผลิตสินค้าประเภทอาหาร รวมไปถึงมาตรการของคู่ค้าบางอย่าง ที่หากมีผลบังคับใช้จะส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้า ข้อมูลจาก: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม / ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย / ศูนย์วิจัยกสิกรไทย