สงครามการค้า ใครเจ็บกว่า จบตอนไหน

สงครามการค้า ใครเจ็บกว่า จบตอนไหน
#สงครามการค้ายังไม่มีตอนจบแต่ใจผมทั้งหมดพร้อมจบที่คุณ
สงครามการค้าจะจบยังไง จบเมื่อไหร่ จบตอนไหน ?
คงเป็นคำถามคละความกังวลของ ภาคธุรกิจ ภาคการลงทุนกันอย่างแรงในช่วงนี้ บ้างบอกว่าเดือนหน้าอาจเห็นความชัดเจน เพราะผู้นำสองประเทศป๊ะกันในการประชุม G20 บ้างบอกว่ามันคงไม่จบง่ายลากยาวกันไปตลอดปีนี้ (เฮ้อออ ถอนหายใจยาวๆ)
#เสี่ยวCREW หาคำตอบมาให้จาก ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ถ้าประเมินผลกระทบของสงครามการค้าที่มีต่อสหรัฐฯและจีน คาดหวังว่าจะยืดเยื้อกันได้อีกไม่นานนัก แม้ว่าปัจจุบันสหรัฐฯจะมีความได้เปรียบจากสงครามครั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีความแข็งแกร่ง ทนทานต่อผลกระทบได้มากกว่า สะท้อนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯตลอด 10 ปี มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ติดลบไปเพียง 2 ไตรมาสเท่านั้น
หัวใจสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐ คือ การบริโภคในประเทศ ตราบใดที่ประชากรมีกำลังใช้จ่ายเศรษฐกิจก็ยังเติบโตได้ ตามข้อมูลล่าสุดพบว่า อัตราว่างงานในสหรัฐฯต่ำสุดในรอบ 50 ปี สวนทางกับผู้ที่มีงานทำในสหรัฐฯก่อนเกิดวิกฤตซับพลามปี 2008 มีจำนวน130 ล้านคน ปัจจุบันเพิ่มมาเป็น 152 ล้านคน ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สอดคล้องกับค่าจ้างงานในสหรัฐฯที่เริ่มกลับมาขยายตัวในระดับเดียวกับก่อนเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ระดับกว่า 3%
แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ ภาคการผลิตเริ่มเห็นผลกระทบดังนั้นถ้ายังยืดเยื้ออาจทำให้เกิดเป็นปัญหาเศรษฐกิจได้ในระยะถัดไป โดยเฉพาะอาวุธสงครามที่เหลือที่จะปรับขึ้นภาษีนำเข้า 3.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เป็นสินค้านสินค้าอุปโภคและบริโภคสัดส่วนถึง 80% โดยสินค้าที่ได้รับกระทบมากที่สุด ประกอบด้วย อุตสาหกรรม Cellphone มูลค่าประมาณ 4.46 หมื่นล้านเหรียญ, อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ มูลค่าประมาณ 4.11 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ, อุตสาหกรรมของเล่น 2.55 หมื่นล้านเหรียญ, อุตสาหกรรมเสื้อผ้า 3.52 หมื่นล้านเหรียญ และอุตสาหกรรมรองเท้า 1.43 หมื่นล้านเหรียญ เป็นต้น
ในขณะที่จีนก็น่าจะยื้อได้อีกไม่นาน เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบไปพอสมควร โดยเฉพาะการค้าระหว่างระเทศหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม(GDP)ในไตรมาส1/62 ยังเติบโต 7.80% แต่เมื่อพิจารณาจากไส้ในพบว่าเกิดจากการใช้จ่ายเงินภาครัฐถึง 70% ของมูลค่ารวมจีดีพี เป็นผลจากรัฐบาลจีนอัดมาตรการกระตุ้นนโยบายการคลัง ทำให้ปัจจุบันงบประมาณของจีนมีการขาดดุลไปแล้ว 5%ของมูลค่ารวมจีดีพี จากเดิมที่มีนโยบายขาดดุลประมาณ 3% เท่านั้น
ส่วนสินค้าที่เคยส่งเข้าไปในสหรัฐฯสูง โดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องจักรและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ พบว่าประเทศเกาหลี, ไต้หวั่น, ญี่ปุ่น มีอัตราขยายตัวในสหรัฐฯอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนว่าจีนกำลังสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับประเทศอื่นๆรอบข้างที่เป็นคู่แข่ง
“วันนี้จีนได้ผลกระทบหนักจากส่งออกลดลง และประเทศที่เเข่งขันกับจีน กลับขึ้นมาได้เปรียบแทน ทำให้จีนต้องเร่งหาข้อสรุปเจรจาการค้า ถึงแม้ว่ามีสายป่านยาวแต่สุดท้ายก็ไม่สามารถยื้อปัญหาความขัดเเย้งการค้าต่อไปได้ มีโอกาสสูงมากที่จีนจะมานั่งบนโต๊ะเจรจากันเพื่อหาข้อสรุป หากยังเจรจากันไม่รู้เรื่องในปลายเดือนมิถุยายนนี้การประชุม G20 ในประเทศญี่ปุ่น มีโอกาสสูงมากที่ทั้ง 2 ประเทศจะใช้มาตรการภาษีในส่วนที่เหลือ แต่ก็ยังเชื่อว่าเป็นการใช้ชั่วคราวเท่านั้น การปรับขึ้นภาษีจะไม่ได้มีผลบังคับใช้ทันที น่าจะมีความชัดเจนได้ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้"