top of page

“สตาร์ทอัพไทย” กับความบิดเบี้ยว



“สตาร์ทอัพไทย” กับความบิดเบี้ยว #สตาร์ทอัพหวังอยากได้ทุนแต่ผมหวังอยากได้คุณต้องทำยังไง #เอะอะให้ตังค์ #ปั่นเก่ง

#เสี่ยวCREW อยากชวนระลึกความหลังยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูในยุครัฐบาล คสช.กันหน่อย

ช่วงนั้น..วาทกรรมเด็ด เผ็ด ร้อน พร้อมท่าร่ายรำบนโพเดี้ยมของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเกิดขึ้นมากมาย พีคสุดน่าจะเป็น การปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 / ก้าวสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม New S-Curve / สร้างระบบเศรษฐกิจดิจิทัล / ผลักดันธุรกิจ “Startup” ไทยให้เฟื่องฟูประหนึ่งซิลิคอนวัลเลย์

ภาพตัด...สู่ช่วงนี้ การเกิดขึ้นของ "Startup" หน้าใหม่ในไทย ดูเหมือนจะเริ่มเลือนลางและห่างไกลจากเป้าหมายที่รัฐบาลเก่า!!เคยต้องการเพิ่มจำนวน "Startup" ที่มีไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อช่วยพลิกโฉมธุรกิจดั้งเดิม ต่อสู้กับกระแส Disruption ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีต้นทุนต่ำ เพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการรายเล็กแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

สาเหตุสำคัญคงหนีไม่พ้นอุปสรรคใหญ่ 2 ประการ 1.ประสบการณ์ในการเริ่มต้นและบริหารธุรกิจ 2.เงินทุนที่นำมาพัฒนาธุรกิจให้เติบโตต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตามทุกวันนี้กลุ่มนักลงทุนในเมืองไทยมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการนำเงินทุนส่วนตัว หรือทุนจากบริษัทเอกชน เข้ามาสนับสนุนธุรกิจ "Startup" เพราะเป็นหนึ่งในทางเลือกการลงทุนที่จะได้รับผลตอบแทนหลายเท่าตัวหากธุรกิจ "Startup" รายนั้นมีศักยภาพในการเติบโต ขยับ Series ไปได้อย่างต่อเนื่อง จนวันหนึ่งอาจกลายเป็น "Unicorn" ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

สำหรับแหล่งเงินทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลที่คอยสนับสนุน "Startup" ประกอบด้วย 1. Corporate Venture Capital (CVC) องค์กรหรือบริษัทขนาดใหญ่มีหน้าที่บริหารเงินลงทุน 2. Venture capital (VC) ธุรกิจการร่วมลงทุน ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงระหว่างนักลงทุนกับ "Startup" 3. Angel Investors นักลงทุนอิสระสนใจใส่เงินในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ นับเป็นส่วนสำคัญใน Ecosystem ประเทศที่มี "Startup" ประสบความสำเร็จจำนวนมาก มีจำนวน “Angel Investors” มากเช่นกัน เพราะนอกจากนำเงินทุนมาสนับสนุนให้ "Startup" อยู่รอดได้แล้ว ยังต้องเป็นโค้ชคอยพัฒนาธุรกิจให้เติบโตแข็งแรง ซึ่งในเมืองไทยยังค่อนข้างแตกต่างกับต่างประเทศ

Ecosystem หรือระบบนิเวศของ "สตาร์ทอัพไทย” กำลัง "บิดเบี้ยว" และเป็นต้นตอสำคัญของความล้มเหลว หากปล่อยให้วัฒนธรรมนี้เรื้อรัง ธุรกิจประเภทนี้คงไม่มีแววจะขยายตัวและถึงทางตันในที่สุด

เอะอะ..ให้เงิน

ปัจจุบันผู้ลงทุนมักใส่เงินลงทุนเข้าไปอย่างเดียว ไม่ได้ทำหน้าที่โค้ชเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ธุรกิจ "Startup" ที่มีโอกาสเติบโตจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีโค้ช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มต้น ผู้ลงทุนที่เป็น “Angel Investors” ควรเป็นทั้งโค้ชและผู้สนับสนุนเงินลงทุน

ธุรกิจสตาร์ทอัพเมื่อได้รับเงินทุนไปแล้วจะมีโอกาสทำกำไรได้หรือไม่? ถ้าธุรกิจดี ผู้ก่อตั้ง ผู้บริหารเก่ง ไม่ต้องมีโค้ชก็อาจจะมีกำไร แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีโอกาสน้อยมาก เนื่องจากส่วนใหญ่เริ่มมาด้วยความอยาก แถมขาดประสบการณ์ในการทำธุรกิจ ขาดการประเมินสถานการณ์รอบด้านที่ดี ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีโค้ชประกบอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คำแนะนำในแทบทุกมิติ อาทิ การจัดโครงสร้าง การเงิน การตลาด บุคลากร ตลอดจน “ขัด” ในสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะอาจนำ ความเจ๊ง มาเยือนก่อนเวลาอันควร

ส่วนรูปแบบการลงทุนควรให้เป็นเงินกู้ไปก่อนคิดดอกเบี้ยในเรทต่ำ ถ้าธุรกิจเติบโตแล้ว “Angel Investors” ค่อยเปลี่ยนเงินกู้ดังกล่าวมาเป็นหุ้นบริษัทแทน เป็นส่วนหนึ่งของผู้ถือหุ้น หลังจากนั้นเมื่อ "Startup" แข็งแรงผลประกอบการมีกำไร ก็แบ่งส่วนกำไรมาเพิ่มทุนเพื่อขยายบริษัทใหญ่ขึ้นตามลำดับ นับเป็นหนึ่งในแนวทางช่วยสร้าง Ecosystem ให้กับการลงทุนบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ และยังช่วยผลักดัน "Startup" เติบโตได้อย่างมั่นคงและแข็งแรง ไม่ใช่เอะอะก็จะเพิ่มแต่ทุน อัดแต่เงิน เพิ่มมูลค่าทั้งที่บริษัทไม่มีกำไร

ปั่นเก่ง..มูลค่าเกินจริง

การไล่ราคาหุ้นไม่ได้มีแค่ในตลาดหุ้นอีกต่อไป บริษัท "Startup" หลายแห่งราคาลงทุนสูงเกินความเป็นจริง เพราะผู้ลงทุนบางกลุ่มคำนึงถึงแต่ผลตอบแทน ระดมเงินมากระจายลงทุนในหลายธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงธุรกิจว่าจะมีโอกาสประสบผลสำเร็จหรือไม่ วัตถุประสงค์ของกลุ่มนี้มีเป้าหมายคือต้องการ "เบ่งมูลค่าบริษัทให้ใหญ่ขึ้น" มูลค่าเพิ่มไม่ได้เกิดจากธุรกิจที่ทำกำไร แต่เกิดจากเงินเพิ่มทุนใส่เข้าไปเรื่อยๆ ซึ่งทุกครั้งที่มีการเพิ่มทุนใน "Startup" ผู้บริหารกองทุนฯก็ได้รับผลประโยชน์ไปด้วย

สมมติว่า "Startup" เป็นนักเตะวัย 19 ปี กำลังเริ่มสร้างผลงาน เริ่มมีชื่อเสียง จากนั้นไม่นานเริ่มดัง ยิงบ่อย จ่ายสวย สาวกรี๊ด ทำให้มีคนสนใจซื้อตัวและให้ค่าเหนื่อยในระดับราคาเหมาะสม แบบนี้จัดว่าโอเคผ่าน!!แต่วันนี้เรากำลังเจอนักเตะในวัย 15 ปี ไม่เคยมีผลงาน แถมต้องเสียเงินค่าเหนื่อยให้อีกเป็นจำนวนมาก พอซื้อมาจ่ายเงินไปแล้วดันทำผลงานไม่ดีไปอีก จะขายก็คงไม่มีใครเอาไปอีกก

ด้านผู้ก่อตั้งกับเจ้าของธุรกิจเอง ก็ต้องมีความรับผิดชอบและพิสูจน์การสร้างมูลค่าที่แท้จริง โดยสร้างกำไรทางธุรกิจ สร้างองค์กรที่มั่นคง จุดหมายของการทำ "Startup" ไม่ควรโฟกัสไปที่มูลค่าและการระดมทุนเพียงอย่างเดียว

3 views0 comments
bottom of page