อยากมีคนบริหารพอร์ตต้องซื้อกองทุน

เสี่ยวมาก: อีก 2 เดือนกว่าๆก็จะปี 62 แล้วนะ ใกล้เทศกาลรักชาติเข้าไปทุกที เสี่ยวน้อย: อ๋อออ เราจะได้โบนัส ไปเที่ยว ไปใช้จ่าย ไปใช้ชีวิตดี๊ดีกันใช่ไหม? เสี่ยวมาก: ไม่ใช่!! เทศกาลนี้จะมีคนคิดถึงพวกเรามากเป็นพิเศษ เสี่ยวน้อย: ใครอ่ะ น่ารัก คิ้ว คิ้ว ป่าววววววเพ่ เสี่ยวมาก: เค้าชื่อ สรรพากร กับ ภาษี มุงว่าน่ารักไหมล่ะ เสี่ยวน้อย: ................
ในฐานะพลเมืองเต็มขั้น การเสียภาษีเงินได้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เราจำเป็นต้องปฏิบัติและเป็นกิจกรรมที่จะอยู่กับชีวิตเราไปอีกพักใหญ่ โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากกรมสรรพากรจะ “เต็มที่ เต็มใจ ปรับหนักประชาชน” อย่างแน่นวลหากคุณเบี้ยว ดังนั้นการวางแผนเพื่อ หลบเลี่ยง เอ้ยยย ลดหย่อนภาษี จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เงินทุกบาททุกสตางค์ของเราถูกใช้อย่างคุ้มค่า หนึ่งในแนวทางที่ได้รับความนิยมกันมาก คือการซื้อกองทุนรวมที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่าง LTF (กองทุนรวมหุ้นระยะยาว) และ RMF (กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ) เพราะนอกจากได้รับประโยชน์ทางภาษีแล้ว ยังมาพร้อมกับโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวอีกด้วย
เอาล่ะ..ขอเข้าเรื่องอย่างจริงจัง เริ่มกันที่ความแตกต่างของกองทุนทั้ง 2 ประเภท ปัจจุบัน LTF จำเป็นต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน ลดหย่อนในปีภาษีสูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท แตกต่างกับ RMF ที่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี และถือหน่วยลงทุนจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ถึงสามารถขายหน่วยลงทุนได้ ลดหย่อนในปีภาษีสูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปี และหากรวมเงินสะสม กบข. แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ในช่วงนี้ก็กำลังมีประเด็นถกเถียงกันของผู้ใหญ่ในวงการตลาดทุนถึงการไม่ให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับ LTF ที่กำลังจะสิ้นสุดในปี 2562 เพราะมองเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่มีรายได้สูงเท่านั้น (ผู้มีรายได้ไม่ถึงก็ไม่ต้องเสีย หรือจ่ายน้อยอยู่แล้วป่าววะ ผู้ใหญ่เป็นไร งงใจ) ขณะที่ฝั่งผู้จัดการกองทุนเองออกมาคัดค้านว่า หากทำเช่นนั้น ผลกระทบกับตลาดหุ้นไทยจะรุนแรง เผชิญภาวะเงินไหลออกครั้งใหญ่
เพราะปัจจุบัน LTF มีทั้งสิ้น 89 กองทุน มีมูลค่ารวมสูงถึง 3.9 แสนล้านบาท ขณะที่ในรอบ 5 ปีตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน พบว่านักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยแล้วกว่า 3.8 แสนล้านบาท คิดเป็นเงินจาก LTF เกือบ 50% หรือราว 1.76 แสนล้านบาท หากไม่ให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี LTF ก็จะกลายเป็นกองทุนเปิด Equity Fund ตามปกติ ดังนั้นเป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ ??
ที่แน่ๆปีนี้ยังลดหย่อนได้อยู่ ปล่อยผู้ใหญ่ลำไยกันต่อไป ซึ่งการลงทุนวางแผนภาษีที่ถูกต้องนั้น ผู้เชี่ยวชาญย้ำกันเสมอว่า การเลือกซื้อกองทุน LTF และ RMF ควรจับจังหวะทยอยซื้อหน่วยลงทุนได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงแรงในระหว่างปี เพราะข้อมูลสถิติย้อนหลังตลอด 10 ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยมักปรับขึ้นในช่วงปลายปีเสมอ ซึ่งนั้นอาจทำให้ผู้ลงทุนพลาดโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีได้เช่นกัน

คำถามที่สำคัญคือ "ลงทุนกองไหนดี ??" ชาวคณะการลงทุนมีความเสี่ยว ขอเสนอแนวทางเบื้องต้นที่ใช้พิจารณาตัดสินใจเลือกลงทุนในกองทุนที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีควบคู่กับการสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต

ความเสี่ยงต้องมาก่อน ต้องสำรวจตัวเองก่อนว่ายอมรับกับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหากต้องการได้รับผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็จะสูงตามไปด้วย หมายถึงเงินต้นที่ลงทุนไปมีโอกาสขาดทุนสูงนั่นเอง แต่ถ้าต้องการรักษาเงินต้น ผลตอบแทนไม่หวือหวา ความเสี่ยงก็จะลดลงตามลำดับ ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดา เพราะเป็นเรื่องที่เกิดในอนาคต ดังนั้นถึงแม้คุณจะมีความมั่นใจในผู้จัดการกองทุนก็ตาม แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงมากที่สุด คือ การเข้าใจสินทรัพย์ที่ลงทุน และต้องยอมรับกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยค่าความผันผวนของกองทุน อาจสังเกตุได้จากค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) เป็นต้น

ตรวจสอบพอร์ตการลงทุนของกองทุน แม้ว่าจะมีผู้จัดการกองทุนและทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนเป็นอย่างดี แต่เงินที่นำไปลงทุนนั้นเป็นเงินของคุณเอง หากเกิดความผิดพลาดในการบริหาร เช่น ลงทุนในหุ้นต้องตรวจสอบ ว่าหุ้นบริษัทนั้นมีแนวโน้มผลประกอบการเป็นอย่างไรในระยะยาว หรือลงทุนในตราสารหนี้ จะมีโอกาสลูกหนี้จะผิดนัดชำระหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายกรณีที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง เช่น กรณีผิดนัดชำระตั๋วบี/อี เป็นต้น

ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เนื่องจากกองทุนมีค่าใช้จ่ายด้านบริหารจัดการมากมาย แม้ว่าตัวเลขจะดูไม่สูงมากนักเฉลี่ย 0.5-2% ต่อปี แต่หากนำมาคำนวนเป็นผลกระทบต่อผลตอบแทนในระยะยาว ค่าใช้จ่ายเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผลตอบแทนที่ควรจะได้รับลดลงไปมาก ดังนั้นก่อนจะเลือกกองทุนควรต้องมาเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมต่างๆในกองทุนที่มีนโยบายหรือสินทรัพย์ประเภทใกล้เคียงกันก่อนค่อยตัดสินใจซื้อลงทุน

นโยบายการจ่ายเงินปันผล หลายคนอาจจะชอบกองทุนแนวนี้ ข้อดี คือ ได้รับกระแสเงินสดเพื่อนำมาใช้จ่ายระหว่างลงทุน แต่ก็มีข้อเสีย คือ ไม่ได้นำเงินปันผลไปลงทุนต่อ ทำให้เสียโอกาสผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ในขณะที่เรื่องภาษีเงินปันผลก็เป็นสิ่งไม่ควรมองข้าม สุดท้ายแล้วต้องศึกษาเงื่อนไขให้ดีว่ารูปแบบการจ่ายผลประโยชน์คืนจะเป็นในรูปแบบใด

ผลตอบแทนในอดีต เป็นข้อมูลที่มักใช้เป็นเครื่องมือชี้วัดความสามารถในการบริหารเงินลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่..ตอนนี้เชื่อว่าหลายคนคงดอยกันอยู่สินะ เพราะในรอบปีที่ผ่านมากองทุนรวมหุ้นไทยผลตอบแทนไม่ดีเท่าที่ควร แต่ถ้าพิจารณาหลายๆกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศกลับมีผลตอบแทนที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ลงทุนไทยที่อยากสร้างผลตอบแทนกับบริษัทระดับโลกหลายๆแห่งได้

กองทุน LTF-RMF 3 อันดับแรกผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดตามสถิติย้อนหลัง 3ปี (%ต่อปี)
อัพเดทข้อมูล 16 ต.ค. 61 ที่มา: Morningstar Thailand