top of page

อย่าโลกสวยกับหุ้นไทย ยุคโควิดระลอก 3



อย่าโลกสวยกับหุ้นไทย ยุคโควิดระลอก 3 #เล่นหุ้นระวังความเสี่ยงรักข้างเดียวระวังความผิดหวัง

ข่าวดีท่ามกลางยุคมหาวิบัติโควิด-19 ปกคลุมประเทศไทย คงหนีไม่พ้น ข่าวการเตรียมนำเข้าวัคซีนระลอกใหม่ของร้าบาน เพื่อเร่งฉีดให้กับประชาชน และนำไปสู่การเปิดประเทศ พลิกฟื้นเศรษฐกิจบนซากปรักหักพัง . แต่..ข่าวดีที่ยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่แท้จริงนี้ นำพามาซึ่งความหวัง ความโลกสวย หนึ่งในดัชนีสะท้อนความคาดหวังเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคต (ที่จะเป็นไงไม่รู้) คือ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นไทยช่วงต้นเดือน พ.ค.นี้ . ความร่าเริงจากแสงสีเขียว ปลุกไฟในตัวเม่าให้แห่บินเข้ากองไฟ หวังกอบโกยกำไรกันแบบมันส์มือ จนอาจลืมไปว่า ต้องระมัดระวังแค่ไหนกับความเสี่ยง ที่กำลังก่อตัวและอาจกลายเป็นชนวนสู่แรงขายระลอกใหม่ . กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน-กลยุทธ์การลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสินประเมินปัจจัยความเสี่ยงที่ต้องระวังอันดับต้นๆ คือ การเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีท่าทีว่าต้องการดึงสภาพคล่องกลับ (QE Tapering) เป็นลักษณะการปรับลดเม็ดเงินที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการ QE . ฝ่ายวิจัยฯ คาดว่า จะเห็นความชัดเจนการส่งสัญญาณดึงสภาพคล่องกลับช่วงต้นปี 65 หมายความว่าผู้ลงทุนจะเริ่มเปลี่ยนมุมมอง ลดความสำคัญการพึ่งพิงสภาพคล่องที่เป็นตัวแปรหลักคอยผลักดันตลาดช่วงก่อนหน้านี้ และหันมาให้ความสำคัญกับปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแทน . มีความเป็นไปได้ว่าปัจจัย QE Tapering อาจถูกสะท้อนเข้ามาสู่ตลาดหุ้นไทย เสี่ยงการปรับฐานรอบใหญ่ช่วงรอยต่อไตรมาส 2 ไปถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ . แม้ภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 1/64 ส่วนใหญ่จะรายงานออกมาเติบโตได้ดีในกลุ่มอุตสาหกรรมภาคการผลิต ประคับประคองบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้ในช่วงสั้น แต่หากมองข้ามช็อตไปถึงผลประกอบการไตรมาส 2/64 ที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงการชะลอตัวเศรษฐกิจ . ปัจจัยดังกล่าวเป็นตัวแปรกดดันให้นักวิเคราะห์ ต้องเริ่มหั่นประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนรอบใหม่ โดยหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงสุด คือ กลุ่มที่อิงกับการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงกลุ่มอิงกับการท่องเที่ยวและภาคบริการ . ส่วนโอกาส GDP ไทยจะถูกหั่นประมาณการรอบนี้ เบื้องต้นมองว่า GDP ปี 64 คงไม่ต่ำกว่า 1.5-1.6% แต่มีโอกาสเติบโตได้ดีในปี 65 อย่างไรก็ตามต้องติดตามว่า รัฐบาลใช้นโยบายด้านการคลังอย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน รวมถึงการใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ด้วย . "เป็นไปได้ว่าหากตลาดหุ้นไทยผ่านพ้นช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน พ.ค.จะเริ่มเห็นกระแสการปรับลดกำไรบริษัทจดทะเบียนรอบใหม่ กรอบการเคลื่อนไหวดัชนีฯเดือน พ.ค.กรอบล่างอยู่ที่ 1,500 จุด และกรอบบนอยู่ที่ 1,595 จุด แต่หากกรณีจำนวนผู้ติดโควิด-19 ในประเทศกลับมาระบาดหนักขึ้นไปถึง 3,000-4,000 คน/วัน มองกรณีเลวร้ายว่าดัชนีมีโอกาสลงไปลึกถึง 1,450 จุดของการปรับฐานรอบนี้ได้เช่นกัน อยากเตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังการถือครองหุ้น และต้องจับจังหวะให้ดีจากการลงทุนรอบนี้ด้วย" . วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยเดือนพ.ค. มีแนวโน้มปรับตัวลงจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ในประเทศ ซึ่งยังมีคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในกทม.และต่างจังหวัด ทำให้คาดว่าจะเกิด Sell in May หรือการเทขายหุ้นในเดือนพ.ค. . อีกทั้งบริษัทจดทะเบียนได้ทยอยประกาศผลการดำเนินงานออกมา ซึ่งในวันที่ 17 พ.ค. 64 จะเป็นวันสุดท้ายในการแจ้งผลประกอบการ คาดว่าจะมีการประเมินตัวเลขผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนใหม่ เพื่อสะท้อนผลกระทบจากการระบาดของโควิด – 19 รอบที่ 3 ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ . รวมทั้งการจ่ายปันผลงวดปี 2563 ที่ได้เริ่มทยอยจ่ายปันผลกันแล้ว ทำให้มีการขายทำกำไรออกมา จึงคาดการณ์การเคลื่อนไหวของดัชนีในเดือนนี้อยู่ในกรอบ 1,550-1,630 จุด . ส่วนปัจจัยที่ยังต้องจับตา คือ สถานการณ์การระบาดของโควิด- 19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปีนี้อย่างไร รวมทั้งตัวเลข GDP จะสามารถเติบโตในระดับใด ซึ่งในเดือนนี้ทาง ส.อ.ท. จะมีการแถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ทั้งยอดการผลิตและส่งออกรถยนต์ รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ . กระทรวงพาณิชย์ก็จะมีการแถลงตัวเลขส่งออก-นำเข้า รวมทั้งทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)แถลงดัชนีอุตสาหกรรม และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค และการประชุมสภาสมัยสามัญ

9 views0 comments
bottom of page