อุโมงค์ยักษ์ทั้ง 10 กับ งบ 26,580 ลบ. ทางรอดน้ำท่วม กทม. จริงหรือไม่ ?

อุโมงค์ยักษ์ทั้ง 10 กับ งบ 26,580 ลบ. ทางรอดน้ำท่วม กทม. จริงหรือไม่ ? #น้ำท่วมไหลมาเพราะฝนกระหน่ำ #แต่น้ำตาไหลมาเพราะเธอห่างไกล
จู่ๆ นักลงทุนทั้งหลาย ก็พร้อมใจกันคลายกังวลกับตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ ฯ เพราะมีคาดการณ์ชี้นำออกมา ว่า ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ทำให้บรรยากาศการลงทุนช่วงนี้ค่อนข้างสดใส (ชอบใจกับบรรยากาศแบบนี้เช่นกัน) . ช่างแตกต่างจากท้องฟ้าใน กทม. อันแสนอึมครึม ฝนกระหน่ำไม่เลือกเวล่ำเวลา และตามมาด้วย น้ำท่วม!! ปัญหาสุดคลาสสิคที่ทุกท่านต้องเผชิญ ช่วงนี้จึงมีคนออกมาด่าผู้ว่ากันเยอะ มีกูรูแนะนำวิธีแก้กันเพียบ ผ่านช่องทางต่างๆ . น้ำท่วม เป็นปัญหาเรื้อรังใน กทม. มายาวนาน ด้วยสภาพภูมิประเทศของจังหวัด ต่ำกว่าระดับแม่น้ำเจ้าพระยา / จำนวนประชากร ที่อยู่อาศัย งานก่อสร้างโครงการต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับระบบระบายน้ำที่ไม่ได้ถูกขยายรองรับให้เพียงพอ / ขยะ สิ่งปฏิกูล อุดตัน ขวางทางระบายน้ำ / สันดานคนที่ไม่ช่วยกันดูแล ป้องกัน / ความล่าช้าของหน่วยงานดูแล ฯลฯ . หลายปีก่อน “อุโมงค์ยักษ์” จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดไป ชื่อนี้หลายคนคงคุ้นเคยกันมานาน และหลายคนยังคงสงสัย ว่า มันช่วยได้จริงไหม มันมีไว้ทำไม น้ำไปถึงอุโมงค์บ้างเปล่า เห็นมันมีมาตั้งนานแล้วทำไมท่วมเหมือนเดิม . ปัจจุบัน กทม. มีอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ 4 จุด ครับ ประกอบด้วย . 1. อุโมงค์ประชาราษฎร์สาย 2 ระบายน้ำริมคลองเปรมประชากรเขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.50 ตารางกิโลเมตร
2. อุโมงค์บึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ระบายน้ำในพื้นที่เขตวัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และดินแดง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26 ตารางกิโลเมตร
3. อุโมงค์คลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว ระบายน้ำในพื้นที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และลาดพร้าว ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร
4. อุโมงค์ใต้คลองบางซื่อ ช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และดุสิต ครอบคลุมพื้นที่ 56 ตารางกิโลเมตร . มาถึงตรงนี้หลายคนคงฟันธงไปแล้ว ว่า อีอุโมงค์ยักษ์เหล่านี้ ไร้ประโยชน์ เพราะหลายคนที่อยู่ในพื้นที่ครอบคลุมของอุโมงค์ ก็เจอปัญหาน้ำท่วมอยู่เสมอ ไม่ต่างจากพื้นที่ไม่มีอุโมงค์ . ช้าก่อน!! กทม. บอกว่า ระบบมันจะสมบูรณ์ ลดปัญหาได้ทันท่วงทีก็ต่อเมื่อ....เรามีอุโมงค์ครบ 10 จุด เชื่อมโยงกัน ช่วยกันดึงน้ำออกจากระบบระบายน้ำเก่า ที่ไม่สามารถขยายเพิ่มเติมได้แล้ว ดังนั้นต้องสร้างเพิ่มอีก 6 จุด ด้วยงบประมาณ 26,580 ล้านบาท ประกอบด้วย . 1. อุโมงค์บึงหนองบอนลงแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 9.4 กิโลเมตร งบประมาณ 4,925 ล้านบาท คาดการณ์แล้วเสร็จปี 65
2. อุโมงค์คลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร งบประมา 9,800 ล้านบาท คาดการณ์แล้วเสร็จปี 69
3. อุโมงค์คลองแสนแสบ จากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว ถึงซอยลาดพร้าว 130 ระยะทาง 3.8 กิโลเมตร งบประมาณ 1,751 ล้านบาท คาดการณ์แล้วเสร็จปี 67
4. ส่วนต่อขยายอุโมงค์ใต้คลองบางซื่อจากถนนรัชดา-คลองลาดพร้าว ระยะทาง 1.7 กิโลเมตร งบประมาณ 1,700 ล้านบาท อยู่ระหว่างของบปี 66
5. อุโมงค์คลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด ระยะทาง 2.03 กิโลเมตร งบประมาณ 2,274 ล้านบาทคาดการณ์แล้วเสร็จปี 67
6. อุโมงค์คลองพระยาราชมนตรีจากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย ระยะทาง 9.195 กิโลเมตร งบประมาณ 6,130 ล้านบาท อยู่ระหว่างของบปี 66 . นอกเหนือจากการรอความหวังให้ “อุโมงค์ยักษ์ทั้ง 10” เสร็จสิ้น ในปีนี้ กทม. เค้าก็มีการดำเนินการอื่นๆ แก้ปัญหาไปด้วย เช่น ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ชั่วคราวในจุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวังน้ำท่วม / . ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ / ขุดลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล / จัดเก็บขยะวัชพืช / เตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ พร้อมรถเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง / ซ่อมบำรุงระบบระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ และอื่นๆ อีกเพียบเลย!! . ต่อจากนี้จะดีขึ้นหรือไม่ เราเองก็ไม่รู้ครับ แนวทางแก้ปัญหาต่างๆ เราคงไม่ตัดสินเช่นกัน เพราะเราไม่มีเวลามานั่งตัดสินอะไรหรอกครับ ต้องรีบไปสูบน้ำ ออกจากบ้านย่านพระเก้าก่อน