อีคอมเมิร์ซไทย ธุรกิจอนาคตที่ต้อง “ขาดทุน” ??

Shopping Therapy ว่ากันว่าเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่งที่ช่วยลดความป่วยทางจิตแบบเฉียบพลัน หงุดหงิด ไม่สบายใจ เบื่อ อารมณ์เสีย และอีกร้อยพันปัญหาของสาวๆ แต่ผมว่าสมัยนี้ไม่ใช่แล้วล่ะ เพศไหนก็แล้วแต่ใช้มันได้ไม่ต่างกัน ไม่เชื่อเวลาเบื่อเมียลองซื้อนาฬิกาหล่อๆแก้เซ็งดูสักเรือน Single Malt หรือไวน์ชั้นเยี่ยมสักขวด คุณก็จะรู้ว่ามันช่วยได้
#2561 #อีคอมเมิร์ซครองเมือง #แถวนี้มันเถื่อน #ไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้
Shopping Therapy ว่ากันว่าเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่งที่ช่วยลดความป่วยทางจิตแบบเฉียบพลัน หงุดหงิด ไม่สบายใจ เบื่อ อารมณ์เสีย และอีกร้อยพันปัญหาของสาวๆ แต่ผมว่าสมัยนี้ไม่ใช่แล้วล่ะ เพศไหนก็แล้วแต่ใช้มันได้ไม่ต่างกัน ไม่เชื่อเวลาเบื่อเมียลองซื้อนาฬิกาหล่อๆแก้เซ็งดูสักเรือน Single Malt หรือไวน์ชั้นเยี่ยมสักขวด คุณก็จะรู้ว่ามันช่วยได้
การบำบัดแนวนี้ถือว่าไม่มีพิษภัยประการใด แต่มีเงื่อนไขนิดหน่อย คือ “ต้องมีเงิน” อารมณ์เสียอย่างเดียวทำไม่ได้นะจ๊ะ แต่พอช่วยได้เบาๆด้วยการใช้ Window Shopping ส่องไว้ก่อนตังค์ออกค่อยว่ากัน ยิ่งทุกวันนี้ยิ่ง “ส่อง” ง่าย เพราะทุกอย่างรวมไว้ที่ปลายนิ้วผ่านกระบวนการที่เรียกว่า "ช้อปปิ้งออนไลน์" แค่นั่งคลิกๆหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือ
แป๊บเดียวเท่านั้นบัตรเครดิตและแอปฯธนาคาร ก็พร้อมจะทำหน้าที่ส่งเงินออกไปแบบไม่ยากนัก รอไม่กี่วันเดี๋ยวก็มีคนมาส่งของถึงหน้าบ้าน ไม่ต้องตกใจหากมีกล่องมากมายส่งมาที่บ้าน โดยที่คุณไม่รู้ตัว ไม่ใช่อาถรรพ์ ไม่ใช่ร่างทรง ไม่ต้องใช้จิตสัมผัสก็สามารถบอกได้ว่า “มึงพลาดแล้วว”
นั้นเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคไทยที่กำลังเปลี่ยนไป หลังจากเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น ปัจจัยนี้จึงเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจ "อีคอมเมิร์ซ" ก้าวเข้าสู่ยุคเฟื่องฟู สะท้อนจากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปี 60 มีมูลค่ากว่า 2.14 แสนล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็นเท่าตัวมาอยู่ที่ 4.7 แสนล้านบาทภายในปี 65 คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยเกือบ 20% ต่อปี
ถ้านำไปเปรียบเทียบกับธุรกิจค้าปลีกค้าส่งทั้งระบบของไทยที่เติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปีเท่านั้น บ่งชี้ว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยกำลังกลืนกินส่วนแบ่งการตลาดฯ จากธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ที่มีช่องทางการขายในรูปแบบเดิมๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้ว่าธุรกิจ "อีคอมเมิร์ซ" จะเป็นเทรนด์ของโลกในอนาคต แต่ด้วยการแข่งขันรุนแรงในไทย จึงไม่ง่ายที่ จะประสบความสำเร็จในช่วงเวลาอันสั้น การแข่งขันครั้งนี้จะโหดร้ายแค่ไหน “หมู่เชียร” ลูกพี่ใหญ่ของ "แดง ไบเล่" ได้กล่าวไว้ว่า "แถวนี้แม่งเถื่อน...ไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้" จริงหรือไม่มาลองดูข้อมูลของผู้ประกอบการแต่ละรายกัน...เริ่มด้วยผลประกอบการของ 3 ยักษ์ใหญ่บริษัทข้ามชาติ ทุนหนาสายป่านยาว
"LAZADA" ก่อตั้งโดยบริษัท Rocket Internet จากเยอรมัน ต่อมาในปี2559 ถูก "อาลีบาบา" ของแจ๊คหม่ากลุ่มทุนสัญชาติจีน เข้าซื้อหุ้นเพิ่มเป็น 83% (ก็เหมือนเป็นเจ้าของ LAZADA แหล่ะ) บริษัท ลาซาด้า จำกัด (เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “LAZADA”)ผลประกอบการ 2 ปีย้อนหลัง (59-60) - ปี 59 รายได้รวม 4,266 ล้านบาท ขาดทุน 2,115 ล้านบาท - ปี 60 รายได้รวม 1,757 ล้านบาท ขาดทุน 568 ล้านบาท
"Shopee" เปิดตัวในไทยปี 58 แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซสัญชาติสิงคโปร์ ผู้ก่อตั้งคือ Garena ที่เปลี่ยนชื่อเป็น Sea Ltd. เป็นเจ้าของเกมดังอย่าง "ROV" บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด (เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “Shoppee”) - ปี 59 รายได้รวม 56,606 บาท ขาดทุน 528 ล้านบาท - ปี 60 รายได้รวม 139 ล้านบาท ขาดทุน 1,404 ล้านบาท
“11street” ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซสัญชาติเกาหลีใต้ เข้ามาจดทะเบียนในไทยเมื่อวันที่ 5 เมษายน 59 บริษัท อีเลฟเว่น สตรีท (ประเทศไทย) (เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “11street”) - ปี 59 รายได้รวม 1.46 ล้านบาท ขาดทุน 184 ล้านบาท - ปี 60 รายได้รวม 65.4 ล้านบาท ขาดทุน 943 ล้านบาท
ท่ามกลางสงครามแก๊งค์อันแสนโหด ย่อมมีผู้บาดเจ็บเป็นเรื่องธรรมดา ไม่เว้นแม้แต่อีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยอย่าง TARAD.com KAIDEE WeLoveShopping และ WeMall เป็นต้น
บริษัท ตลาด ดอท คอม จำกัด (เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “TARAD.com”) ปี 59 รายได้รวม 164 ล้านบาท กำไร 101 ล้านบาท ปี 60 รายได้รวม 22.5 ล้านบาท ขาดทุน 11.5 ล้านบาท
บริษัท แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ จำกัด (เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “WeLoveShopping”,“WeMall”)
ปี 59 รายได้รวม 869 ล้านบาท ขาดทุน 585 ล้านบาท ปี 60 รายได้รวม 152 ล้านบาท ขาดทุน 357 ล้านบาท
บริษัท ดีเอฟ มาร์เก็ต เพลส จำกัด (เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “KAIDEE”)
ปี 59 รายได้รวม 323 ล้านบาท กำไร 46.5 ล้านบาท ปี 60 รายได้รวม 100 ล้านบาท ขาดทุน 127 ล้านบาท
แม้ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะแข่งขันกันรุนแรงแค่ไหน ผู้ที่ได้ประโยชน์กับวงจรธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างชัดเจน ณ บัดนาว คือ
ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุรายใหญ่อย่าง
บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) มีกำไรเติบโตขึ้นเป็นเท่าตัวตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
ปี 57 มีรายได้รวม 537 ล้านบาท กำไร 19 ล้านบาท /
ปี58 รายได้รวม 1,519 ล้านบาท กำไร 134 ล้านบาท /
ปี 59 รายได้รวม 3,228 ล้านบาท กำไร 307 ล้านบาท /
ปี60 รายได้รวม 6,673 ล้านบาท กำไร 732 ล้านบาท
“สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร” คงต้อรอดูกันในระยะถัดไป ถ้าผู้ประกอบการสามารถรวบรวมฐานข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่าย ความชื่นชอบสินค้า เข้าใจไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภครายบุคคลอย่างลึกซึ้งแล้ว ข้อมูลเหล่านี้จะนำไปต่อยอดธุรกิจอื่นที่มีกำไรมากกว่าเป็นแค่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเท่านั้น เช่น ธุรกิจเงินกู้เพื่อซื้อสินค้า , ระบบชำระเงินออนไลน์ เป็นต้น
ท้ายที่สุดแล้วการแข่งขันกันในธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเป็นอย่างไร ผู้บริโภคอย่างเราๆน่าจะได้รับประโยชน์สูงสุด ส่วนตัวผมเองฝันคงเป็นจริงสักวัน ที่จะได้เห็นธุรกิจด้านเทคโนโลยี ขึ้นมาเป็นหุ้นกลุ่มชี้นำอนาคตของตลาดหุ้นไทย เหมือนกับตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วบ้างก็เท่านั้นเอง
#ถ้าเดินช้อปปิ้งเธอจะเสียเงินแต่ถ้าเดินข้างเราเธอจะไม่เสียใจ #ช้อปปิ้งมีแต่เสียตังค์ถ้าไม่อยากใจพังให้มาช้อปกับเรา