เงินจม พอร์ตแดง มองแรง เบ๊ปาก

เงินจม พอร์ตแดง มองแรง เบ๊ปาก #แม้ต้องปรับพอร์ตอีกกี่ครั้งแต่หัวใจก็ยังอยู่ที่เธอคนเดียว
ฮัลโหลลลลลลลลล ทู้กกกโค้นนนนนนนนนนน
สบายดีรึเปล่า ข่าวคราวไม่เคยรู้ เปิดพอร์ตยังแดงอยู่ แอบดูและคอยหา
เป็นไงกันบ้างคะ ตลาดแบบนี้ยังไหวกันอยู่ใช่ไหม!!! เราคนไทยต้องสามัคคีกัน ต้องช่วยกันดันให้ SET ถึง 2,000 จุดให้ได้ ก็แหมหุ้นไทยเคยขึ้นมาได้ตั้งหลายปีติด จะมาลงตอนเราขาดทุนก็ไม่น่าหรอก ใครที่คิดแบบนี้อยู่ “หยุดค่ะ”
กลับสู่โลกแห่งความเป็นจริงบัดเดี๋ยวนี้
ปีนี้ตลาดหุ้นได้ทำให้เราเห็นแล้วนะคะ ว่า มีขึ้นก็ต้องมีลง ระยะนี้นักลงทุนส่วนใหญ่เจ็บกันเยอะ ขาดทุนกันมาก ซึ่งการขาดทุนนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งกับพวกเรารายย่อย กองทุน สถาบัน โดนกันถ้วนหน้า ดังนั้นถ้าตอนนี้ใครพอร์ตแดงอยากขอชวนมานั่งทบทวน ว่า ควรทำอย่างไร อย่าถึงขนาดปิดพอร์ตแล้วปล่อยตัวเดินลอยเคว้งคว้างเลยยยยยย
อันนี้ขอแขร์ส่วนตัวละกัน จากตอนที่เคยพอร์ตติดลบไป 40% มาก่อน ตอนนั้นก็ไม่คิดว่ามันจะลงไปขนาดนี้ เพราะว่าเรามีการตั้ง Stop loss ไว้แล้ว รู้จักวิธีการแก้พอร์ตระดับหนึ่ง แต่พอเจอตลาดของจริงวิชาที่เคยคิดว่า “รู้” กลับไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย
ผลจากตอนนั้นก็คือปล่อยไปเฉยๆ ปล่อย เบลอๆ ลอยๆ โดยที่ไม่ได้เช็คด้วยนะว่า ไอ้ที่เคยคิดวางแผนไว้ยังถูกรึเปล่า แต่ยังโชคดีที่การปล่อยเบลอตอนนั้น ตัวแปรที่เราคิดไว้ยังไม่เปลี่ยน แต่แอบเตรียมแผนสองไว้หาหุ้นใหม่ ซึ่งก็ต้องเช็คแล้วมั่นใจว่าดีแน่เหมือนกัน แต่ยังโชคดีที่พอปล่อยไปแล้วมันค่อยๆฟื้นกลับมาได้ แต่เอาจริงๆแล้ว วิธีการแบบนั้นมันเป็นแค่ความฟลุ๊ค มันเป็นเรื่องของโชคมากกว่า
ดังนั้นจึงต้องกลับมาถามตัวเองว่า แล้วเราจะพึ่งพาโชคต่อไป หรือ ควรทำอะไรที่เราควบคุมได้
#Step1สำรวจเงินในกระเป๋า เงินนี้คือเงินทั้งหมดไม่ใช่แค่เงินลงทุนนะ เพราะว่าเราจะต้องบริหารจัดงานเงินโดยมองภาพรวมทั้งหมด วางแผนใหม่ว่าเงินแต่ละส่วนสำหรับอะไร เช่น สำหรับบ้าน สำหรับลูก สำหรับเกษียณ สำหรับลงทุน ฯลฯ แล้วแต่เป้าหมายของเราเลย แล้วพอวางแผนเสร็จ เราค่อยมาดูก้อนสำหรับลงทุนว่าเราจะบริหารจัดการอย่างไร
แนะนำนิดนึง เงินลงทุนควรเป็นเงินที่เย็นระดับหนึ่งเลยนะ เพราะเงินเย็นหมายถึง เงินที่เราสะสมมา เอามาใช้แล้วไม่ได้เดือดร้อน ไม่สร้างผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เพราะว่าเรื่องการลงทุนถ้าเอาเงินร้อน (เงินที่มีข้อจำกัดในการใช้) มาใช้ มีโอกาสอย่างมากที่แผนมันจะเปลี่ยน และอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ และที่สำคัญเงินลงทุนก็ต้องกระจายนะจ๊ะ จะลงทุนหุ้น 100% ก็เสี่ยงไป๊
#Step2 ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและวางแผน สมมติเรามีระยะเวลาที่นาน เช่น 3 ปีขึ้นไป เราอาจกระจายพอร์ตเป็นสินทรัพย์สัก 2-3 ประเภท แล้วหยอดเงินไปในแต่ละส่วนตามความเสี่ยงที่รับไหว แต่ถ้าเราลงระยะยาวและเลือก หุ้น เพียงอย่างเดียว เราก็ต้องหาตัวเองให้เจอก่อนว่า เราเป็นนักลงทุนแบบไหน จะถือยาว จะเล่นรอบ ซึ่งอันนี้แนะนำว่า ให้เริ่มจากถือยาวมากหน่อย แล้วพอประสบการณ์เยอะค่อยเพิ่มเล่นรอบเอา จะได้ค่อยๆฝึกตัวเอง และก็ไม่เสี่ยงเกินไป แต่ถ้าคนไหนรู้ตัวและมีแนวทางที่ชัดเจน ก็สามารถทำได้เลย เพราะว่าเงินส่วนนี้บอกแล้ว ว่า เป็นเงินเย็น
ประเด็นสำคัญที่สุด คือ การเลือกหุ้น ยุคนี้พยายามหาหุ้นที่อยู่ใน SET50 น่าจะดีไม่น้อย เพราะพื้นฐานการันตีมาแล้วระดับหนึ่ง (แต่ยังต้องดูให้ละเอียดและติดตาม) แถมเป็นหุ้นที่ฟื้นตัวได้เร็วเพราะมีวอลุ่มเข้าสม่ำเสมอ ลองไปสังเกตุดูในช่วงผันผวนที่ผ่านมาหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ลงหนักและนิ่งสนิทในจุดต่ำ
#Step3 เก็บข้อมูล แนะนำให้จดหรือบันทึกไว้ด้วย เผื่อเวลาที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เราจะได้กลับมาดูได้ ซึ่งตอนที่จดควรจดด้วยว่า ซื้อเพราะอะไร เป้าหมายเป็นแบบไหน กลยุทธ์เวลาที่เจอ แล้วจะจัดการอย่างไรเวลาเจอหุ้นตก จะได้ไม่หน้ามืดขายทิ้ง หรือปล่อยผ่านตามเวรกรรม ซึ่งกลยุทธ์ที่เดี๊ยนเลือกใช้ก็จะมีทั้งฝั่งที่ถือยาว เล่นรอบ ถ้าถือยาวจะกลับมาดูพื้นฐานประกอบการตัดสินใจ แต่ถ้าเล่นรอบ ขาดทุน 10% คือต้อง Cut ค่ะ และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องทำตามแผน แต่ถ้าจะไม่ทำตามก็ต้องมีเหตุผลตามสถานการณ์ที่อัพเดต
แต่เรารู้แหละว่าทั้งหมดที่เขียนมานี้มันง่ายไป ในชีวิตจริงนั้นมันยากมาก ดังนั้นจะเสริมเคล็ดลับให้อีกอย่างละกัน
ทำบุญ ทำทาน ปล่อยวาง นั่งสมาธิ สาธุ
สวัสดีค่ะ