top of page

เช็คสเตตัสคนชั้นกลาง



เช็คสเตตัสคนชั้นกลาง #เป็นคนชั้นกลางมันเหนื่อยรักเธอเรื่อยเปื่อยยังพอมีหวัง #ยังไงดี #อย่าไปกลัว “คนชั้นกลางจะค่อยๆหายไป” เคยได้ยินคนพูดแบบนี้ไหมฮะ? #เสี่ยวCREW ได้ยินบ่อยขึ้นจากแวดวงนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ นักการเงิน ฟังแรกๆก็รู้สึกตกใจเอาเรื่อง เพราะการหายไปนี่มันอาจหมายถึง “ไม่รอด” ล้มหายตายจากระบบเศรษฐกิจไป ซึ่งมันก็จะสร้างผลกระทบแรงทีเดียว เนื่องจาก คนชั้นกลางเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักของประเทศ เวลามีข่าวบอกว่าต้องกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ คือ กระตุ้นอีคนกลุ่มนี้แหล่ะให้มีเงินใช้ และกล้าใช้เงินในหลายๆด้าน อาทิ ซื้อบ้าน ซื้อรถ ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง เข้าห้าง นั่งชิล กินเหล้า ฯลฯ (ตอนนี้ยังกระตุ้นไม่สำเร็จนะฮะ แม้จะชิมช้อปใช้กันมาหลายเฟส) ซึ่งในทุกตอนของการกล้าใช้เงินโดยคนชั้นกลางนั้นจะเกิดรายได้ทางอ้อมให้รัฐ คือ VAT 7% นอกจากนี้ ทางเรายังขอแสดงความยินดีกับคนชั้นกลางทุกท่านนะฮะ ในฐานะที่เป็นลูกค้าชั้นดีของกรมสรรพากร โดยผู้มีเงินได้เข้าเกณฑ์การจ่ายภาษีทุกท่าน จะโดน “หัก ณ ที่จ่าย” ทุกเดือนแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ มากน้อยก็ว่ากันไปตามฐานรายได้ไรงี้ เรทภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็อยู่ระหว่าง 5-35% (เวลาขอคืนก็จะวุ่นๆหน่อย เวลาต้องจ่ายเพิ่มให้ไวนะฮะอย่ายึกยัก) ถ้าเราคิดตามเพียงสองเรื่องนี้คำตอบก็จะค่อนข้างชัดว่า แม้วต้องอยู่เบื้องหลัง!! แอ๊ะไม่ใช่ เอาใหม่ๆ หากคนชั้นกลางไม่รอดเกิดหายวับไปกับตา ผลกระทบที่ตามมาคงมากมายมหาศาล อาทิ ระบบเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ เดินหน้าไม่ได้ รัฐสูญเสียรายได้แบบหล่นวูบ ขาดแคลนแรงงาน ฯลฯ ลองเช็คสเตตัสคนชั้นกลางในช่วงต้นปีชวดกันดูหน่อยเป็นไงกันบ้างหนอ • อัตราการว่างงานแนวโน้มสูงขึ้น แม้ในปีที่ผ่านมาจะมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ประมาณ 1% จากประชากรวัยแรงงานทั้งหมดประมาณ 40 ล้านคน แต่ในปีนี้หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนคาดการณ์ ว่า อัตราการว่างงานอาจเร่งตัวเพิ่มขึ้น จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทำให้ผู้ประกอบการจ้างงานลดลง และจำนวนเด็กจบใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบแรงงานมากขึ้น • สถานการณ์ธุรกิจเลิกกิจการ มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้เสมอในสถานการณ์เศรษฐกิจไม่แน่นอนสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเจ้าของกิจการขนาดเล็ก ขนาดกลาง รวมไปถึงแรงงานในองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ • การแทนที่ของเทคโนโลยี ทำงานได้หลายอย่าง ทำงานได้ไม่บน ทำงานได้ไม่มีวันหยุด ทำงานได้แม่นยำ ฯลฯ หลายภาคธุรกิจหันมาใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานมากขึ้น มีการลงทุนเพื่อสร้างระบบ พัฒนาเทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย อาทิ ภาคการเงิน ภาคบริการ สินค้าอุปโภคบริโภค ไม่จำกัดเฉพาะภาคการผลิตอุตสาหกรรมเท่านั้น • การเพิ่มขึ้นของรายได้เฉลี่ย จากข้อมูลสถิติในปี 2561 คนไทยมีอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6% ต่อปี ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำหากเปรียบเทียบกับอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ราคาสินค้า-บริการ ราคาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย ซึ่งขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยอัตราเร่งที่สูงกว่า แต่ในปี 62 ต่อเนื่องถึง 63 ค่าเฉลี่ยไม่รู้จะเปลี่ยนแปลงขนาดไหน เพราะอุปสรรค์เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย • หนี้สิน ปลายปีที่แล้วข่าวหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงถึง 78.7% ดังหนักมาก แต่หนี้จำนวนนี้ดันไม่รวมหนี้ กยศ. หนี้นอกระบบ ขณะที่แชร์ของจีดีพีส่วนใหญ่มาจากองค์กรใหญ่ การลงทุนขนาดใหญ่ แต่ถ้าไปดูสัดส่วนหนี้ครัวเรือน/รายได้ พบว่าสูงถึง 130-140% เพราะรายได้ครัวเรือนไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ และตัวเลขหนี้เพิ่มเร็วกว่ารายได้ภาคครัวเรือน อีกทั้งยังพบว่าคนเป็นหนี้เร็วขึ้นและนานขึ้น (อันนี้ #เสี่ยวCREW ไม่ได้กล่าว ผู้ว่างแบงก์ชาติเป็นคนกล่าว) • ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ลดเก่ง!! จากข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 68.3 ลดลงจาก 69.1 ในเดือนพ.ย 62 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และต่ำสุดในรอบ 68 เดือน นับตั้งแต่เดือนพ.ย. 57 รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคตปรับตัวลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 78.1 ความกังวลมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า / งบประมาณปี 63 ล่าช้า / กำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นตัวมากนัก / เสถียรภาพการเมืองในปัจจุบันและอนาคต / ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก / การแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก-ท่องเที่ยว ประเมินแบบเร็วๆตามสถานการณ์เหล่านี้ คนชั้นกลาง กำลังน่าห่วง อยู่ได้แบบขัดสนหน่อยๆ หรืออาจมีแววไม่รอด อย่างไรก็ตามการหายไปของคนชั้นกลางนั้น ใช่ว่าจะต้องเกิดจาก “ไม่รอด” เพียงสาเหตุเดียวเท่านั้นหรอกเฟ้ย แต่อาจขยับฐานะจากคนชั้นกลางไปสู่การเป็น กลางบน คนรวย ไรงี้ก็เป็นไปได้เช่นกัน เป็นไงไว้มาต่อตอนสองอังคารหน้าเด้อ

0 views0 comments
bottom of page