เอะอะ!! ก็ให้ไปขายออนไลน์

เอะอะ!! ก็ให้ไปขายออนไลน์
#อยากซื้อออนไลน์ให้ไปShopeeอยากรักกับพี่เชิญทางนี้เลยนะจ๊ะ
#ของจริงยังไม่มา#ใครจะซื้อนักหนา
วาทะกรรมสุดฮิต ยามเศรษฐกิจมีปัญหา ยอดขายตก
“ก็ย้ายไปขายออนไลน์ดิ”
“นี่มันโลกยุค 4G 5G แล้ววว ใครไม่ปรับตัวก็ตาย”
ออนไลน์ คือ ทางรอด!!
ยิ่งพอวิกฤติโควิด-19 มายิ่งแล้วใหญ่ มวลมนุษย์จำนวนมากตบเท้าเข้าสู่วงการพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ จำแนกเป็นประเภทย่อยๆได้ดังนี้
- มนุษย์เงินเดือน ที่โดนพักงาน หรือ Leave without pay คือสถานะยังเป็นพนักงานอยู่แต่ไม่ต้องทำงานและไม่ได้เงินเดือน
- มนุษย์เงินเดือนที่หมดสภาพการเป็นพนักงาน จากสภาวะดังกล่าว
- มนุษย์เงินเดือน WFH
- กลุ่มผู้ค้ารายย่อย ที่ลูกค้า เป็นกลุ่มมนุษย์ข้างต้น ที่ออกมาข้างนอกทุกวัน พอคนกลุ่มข้างบนไม่ออกมา คนที่ค้าขายก็แย่ไปด้วย ต้องปรับจากหน้าร้านมาขายออนไลน์
เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงพบกับ มหกรรมน้ำพริกกากหมูแห่งชาติ / เทศกาลบราวนี่ / น้ำส้มคั้นฟีเวอร์ / ข้าวหมูทอดออนไลน์ /แอลกอฮอล์เฟสติวัล ฯลฯ แย่งกันขายเต็มหน้าฟีดในทุกแพลตฟอร์ม กลุ่มเป้าหมายแรกของพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์เหล่านี้ มักจะเริ่มจากคนรู้จักเพื่อนใน Facebook เพื่อนในออฟฟิศ ครอบครัว ฝากกันค้ากันขาย
ช่วงแรกมักจะขายดีจนน่าชื่นใจ เพราะ...ใครๆก็อยากอุดหนุนช่วยเหลือ เป็นกำลังใจให้สู้ต่อ
จากเหตุการณ์ข้างต้น ส่งผลให้....
- มีร้านค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 79% (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
- ข้อมูลจาก กสทช. พบว่ามีการใช้งานแอปพลิเคชันสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เติบโตจากช่วงเดือนมกราคมเกิน 100%
- 2 แอปยอดฮิตอย่าง Lazada มีการใช้งานเพิ่มขึ้น 121.52% Shopee มีการใช้งานเพิ่มขึ้น 478.59% หรืออย่าง Grab ก็มีการใช้งานเพิ่มขึ้น 74.36%
อย่างไรก็ตามถ้าเราวิเคราะห์ตามพฤติกรรมจะพบว่าสถานการณ์ขายดีจนน่าชื่นใจของพ่อค้า-แม่ค้ามือใหม่ในออนไลน์อาจจะอยู่ไม่นาน นั่นเป็นเพราะว่า
- ช่วง WFH ใหม่ๆคนไทยยังไม่ชินกับพฤติกรรมดังกล่าว เมื่อมีเวลาว่างมาก ฟุ้งซ่านมาก การช้อปออนไลน์เป็นทางออกที่ดี แต่นานไปพอปรับตัวได้ ได้สติแล้ว การจับจ่ายผ่านออนไลน์จะถูกลดลงโดยอัตโนมัติ
- ช่วงวิกฤติตอนต้นคนยังคงมีเงินเย็นติดกระเป๋า บางบริษัทยังพอจ่ายเงินเดือนพนักงานไหว บางกิจการยังพอไปได้ พอจะให้รู้สึกสบายใจเมื่อจับจ่ายซื้อความสุขให้ตนเอง แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ คงต้องปล่อยความสุขเหล่านั้นไปและหันมาใส่ใจกับข้าวสารที่จะกรอกหม้อ
ทีนี้เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ หรือสถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปก็ตามแต่ สิ่งที่พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์มือใหม่ที่ถลำตัวลงไปแล้วจะต้องประสบพบเจอ คือ
- เพื่อนและคนรู้จักก็จะเริ่มไม่อุดหนุนแล้ว สาเหตุหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเงินหมดแล้ว ฝีมือไม่ถึง ไม่คุ้มค่าส่ง ลองแล้วถือว่าช่วยแล้ว
- สู้ราคาค่าโฆษณากับมืออาชีพไม่ไหว พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์มืออาชีพนั้น มียอดค่าโฆษณาที่จ่ายให้แพลตฟอร์มต่างๆ ตั้งแต่วันละ 30-50 บาท ไปจนถึง วันละ 1,200,000 บาท(สูงสุดที่แอดเคยเห็น) เป็นพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์นะครับ ไม่ใช่บริษัทใหญ่โตอะไร ซึ่งพอผู้ขายเข้ามาในตลาดมากยิ่งขึ้น การประมูลพื้นที่การแสดงโฆษณา ก็จะราคาสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ
- ยอดขายไม่เสถียรเพียงพอที่จะให้ยึดถือเป็นอาชีพ ต้องวนกลับไปทำงานประจำเช่นเดิม
- ผู้ซื้อที่เคยว่าง และใช้เวลาอยู่หน้าจอ สุดท้ายจะโหยหาประสบการณ์จริง ความต้องการออกไปพบสังคม สายลมแสงแดด พออัดอั้นตันใจมากๆ ได้ออกทีก็ไปยาวเลย ทำให้เข้าใจ ว่าประสบการณ์ออฟไลน์นั้นมีคุณค่าขนาดไหน
สุดท้ายแล้วออนไลน์ก็เหมือนทุกตลาด ที่ต้องมีการวางแผนระยะสั้นระยะยาว มีแผนการตลาด มีกลยุทธ์ มีการสร้าง Brand Awareness และพูดได้เลยว่าการอยู่รอดบนตลาดออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ทั้งต้นทุน การบริหารจัดการที่ดี และ...ไม่ฟรีนะครับ
มันจึงไม่ใช่ทางออกง่ายๆ ที่ใครมีปัญหาก็จะโยนมาให้ขายออนไลน์ สุดท้ายแล้ว เข้ามาแล้วตาย มีใครเยียวยาไหมครับ ?