top of page

ใช้เงินให้รอดตายจากสงกรานต์



ใช้เงินให้รอดตายจากสงกรานต์ #สงกรานต์ไม่ได้มีหนเดียวแต่ถ้าขาดคุณผมคงห่อเหี่ยวตลอดไป ฮั่นแน่!! จิตเตลิดกันอยู่ล่ะสิ อีกไม่กี่อึดใจวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์จะมาถึง ปีนี้จัดกันไปแน่นๆ 5 วันรวด หลายคนวางแผนกลับภูมิลำเนา ไปเที่ยวพักผ่อน ไปทำบุญ ไปช้อปปิ้ง ไปเล่นน้ำ ไปปาร์ตี้หัวราน้ำ ไปทานข้าวกับครอบครัว ไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ไปดูหนังฟังเพลง ฯลฯ หลากหลายแผนการวนเวียนอยู่ในหัว จะมีกี่แผนที่วางไว้ก็แล้วแต่ ทุกแผน ทุกกิจกรรม ที่คิดไว้ต้องใช้ “ตังค์” ไม่มีตังค์ทำไม่ได้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ตัวเลขใช้จ่ายสงกรานต์ปีนี้อยู่ที่ 1.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.76% โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่หมดไปกับการเดินทาง-ท่องเที่ยวในประเทศ การใช้จ่ายอื่นๆ ประกอบด้วย ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยประเภทเครื่องประดับ เช่น ทองคำ การใช้จ่ายจัดเลี้ยงสังสรรค์ ค่าใช้จ่ายทานอาหารนอกบ้าน ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์การใช้จ่ายของประชาชนกรุงเทพฯปีนี้อยู่ที่ 25,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.6% แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสังสรรค์ 9,650 ล้านบาท ค่าที่พัก/เดินทาง 6,650 ล้านบาท ช็อปปิ้ง 4,600 ล้านบาท ทำบุญไหว้พระ 2,050 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมอื่นๆ อาทิ ให้เงินผู้ใหญ่ในครอบครัว ค่าเที่ยวสถานที่ต่างๆ / ดูหนังฟังเพลง / เล่นน้ำ 2,050 ล้านบาท ตัวเลขจากสองสำนักวิจัยใหญ่บอกอะไรเรา? คำตอบ คือ สงกรานต์นี้เงินของหลายคนน่าจะพุ่งปรี๊ดออกจากกระเป๋ามากกว่าปกติ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่หลายท่านอาจใช้เงินมากเกินไป เมื่อหมดเทศกาลแล้วอาจต้องเผชิญกับโรคทรัพย์จางและภาระซินโดรม ไปอีกระยะหนึ่ง เคล็ดลับง่ายๆเพื่อให้รอดตายจากอาการเหล่านี้ 1. ตั้งงบประมาณ เอาให้ชัดว่า 5 วันนี้จะใช้เงินไม่เกินเท่าไหร่ จัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมว่าจะใช้ทำกิจกรรมอะไรบ้าง อย่าออกตัวแรงตั้งแต่วันแรกๆจนหมดงบ แต่หากหมดจริงก็อย่าเพลินเกินเหตุ จนไปดึงเงินจากอนาคตมาใช้มากเกินไป (ห้ามไปก็ไม่ทำหรอก มีรูดมีกดแน่นอน เอาที่พอดีล่ะกัน) 2. ทำใจให้สงบ ปาร์ตี้สงกรานต์มีทุกวันในช่วงหยุดยาว แต่..เราไม่ต้องไปทุกวันก็ได้ ไม่ผิดจารีตประเพณีไทยแต่อย่างใด อย่าหมกมุ่น อย่าคิดถึงแต่ความเปียก ความเซ็กซี่ ความเมา ความมัน ความสนุก ระลึกไว้เสมอทุกครั้งที่ก้าวออกจากบ้านไปเล่นน้ำแบงค์พันจะปลิวออกจากกระเป๋าอย่างน้อย 1 ใบ ดังนั้นอยู่บ้านทำอย่างอื่นบ้างก็ไม่ตายนะจ๊ะ 3. ปาร์ตี้ที่บ้าน ถ้าอยากสังสรรค์กับเพื่อนฝูง การจัดปาร์ตี้เบาๆที่บ้าน เป็นอีกทางออกที่ดี ไม่เบียดเสียด ไม่ต้องแย่งกันกิน คุยกันรู้เรื่อง เลิกกี่โมงก็ได้ ที่สำคัญประหยัดงบประมาณกว่ามากๆๆ ทั้งค่าอาหารและเครื่องดื่ม 4. กิจกรรมครอบครัว ถือเป็นกิจกรรมที่สร้างคุณค่าทางจิตใจเป็นอย่างมาก (ควรทำตลอดนะไม่ใช่แค่เทศกาล) ดังนั้นอย่ามัวแต่แบ่งงบประมาณ-เวลาไปใช้เพื่อความสนุกความมันส่วนตัวเพียงอย่างเดียว ควรแบ่งเวลาวันหยุดยาวอย่างเหมาะสมให้กับบุพการี ญาติผู้ใหญ่ พวกท่านเหล่านี้ไม่ต้องการสิ่งของเงินทองใดๆ มีแต่จะทำเลี้ยงเราจนกินไม่ไหว ขอแค่เราโผล่หัวไปให้เจอหน้าไปดูแลท่านบ้างก็พอ 5. ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เล่นน้ำ ปาร์ตี้ สังสรรค์ อาจไม่ใช่คำตอบของเทศกาลนี้เสมอไป มีวันหยุดยาวๆ แถมเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย หลายคนอาจใช้โอกาสนี้ในการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ อาทิ เก็บกวาดทำความสะอาดบ้าน จัดบ้านใหม่ / โละข้าวของเครื่องใช้ไปส่งต่อให้คนที่ขาดแคลน / ทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล / ออกกำลังกาย นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อกลับไปลุยงานกันใหม่ / อ่านหนังสือดีๆเพื่อสร้างความรู้ แรงบันดาลใจ / วางแผนปรับปรุงตัวเอง ฯลฯ กิจกรรมดีๆรออยู่เพียบเลย ไม่เสียตังค์ด้วย ถึงเสียก็ไม่มากเท่ากินเหล้าอยู่ดี ลองไปคิดดูแล้วกัน โตๆกันแล้วอย่าให้พูดเยอะ เจ็บคอ!! สุดท้ายนี้ #เสี่ยวCREW ขอให้พ่อแม่พี่น้องมีความสุขกันมากๆ สนุกสนานสมใจ เดินทางปลอดภัย โชคดีมีชัย ในเทศกาลสงกรานต์นี้ขอรับ แล้วอย่าลืมกลับมาเจอกับแนวโน้มเศรษฐกิจการลงทุนไตรมาส 2 “เสี่ยงและเสี่ยว” ขนาดไหนค่อยว่ากันหลังสงกรานต์

0 views0 comments
bottom of page