32 บจ.แห่ระดมทุนท้ายปีเฉียดแสนลบ. เอ๊ะ!!! เอาตังค์ไปทำไรกัน

32 บจ.แห่ระดมทุนท้ายปีเฉียดแสนลบ. เอ๊ะ!!! เอาตังค์ไปทำไรกัน #อยากมีตังค์ให้ระดมทุนอยากมีคุณให้ใส่ใจ
ช่วงนี้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) พาเหรดระดมทุนกันอุตลุด ทั้งขายหุ้นกู้และเพิ่มทุนจดทะเบียน นับมูลค่าที่กำลังจะขายในช่วงที่เหลือของปีนี้รวมกันได้กว่า 9.5 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่นำเงินไปชำระหนี้ เพิ่มสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียน และใช้ในการลงทุนและขยายธุรกิจ . มาดูหุ้นกู้กันก่อน มูลค่ารวมล่าสุด 4.2 หมื่นล้านบาท จาก 19 บริษัท มีทั้ง บจ.ขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ ที่ระดมขาย โดย CPALL มูลค่าสูงสุดถึง 1 หมื่นล้านบาท แถมเป็น "Perpetual Bond" หรือที่เรียกกันว่า "หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" แปลว่าไม่มีกำหนดไถ่ถอน จนกว่าบริษัทจะขอไถ่ถอนเอง หลังผ่าน 5 ปี หรือจนกว่าจะเลิกกิจการ ซึ่งมีดอกเบี้ยจูงใจ 5 ปีแรกที่ 4.6% ต่อปี หลังจากนั้นกำหนดตามเงื่อนไข . ที่น่าจับตา คือ ส่วนใหญ่หุ้นกู้ที่ออกมีเรทติ้งต่ำกว่าระดับน่าลงทุน (Investment Grade) หรือต่ำกว่า "BBB-" และมีถึง 6 บริษัทที่เป็นหุ้นกู้ไร้เรทติ้ง โดยจูงใจด้วยอัตราดอกเบี้ยระดับสูงเฉลี่ย 5-7% ต่อปี ซึ่งนักลงทุนต้องศึกษาความเสี่ยงให้รอบคอบกับหุ้นกู้กลุ่มนี้ . สำหรับการเพิ่มทุน มูลค่ารวมกว่า 5.3 หมื่นล้านบาท จาก 14 บริษัท โดยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนเพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงใช้ลงทุนขยายธุรกิจ ขณะที่มีหลายรายเพิ่มทุนเพื่อเปิดทางให้พันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาถือหุ้น เช่น JMART-SINGER ที่เพิ่มทุนเพื่อให้ VGI-U เข้ามาถือหุ้น โดยมูลค่าการเพิ่มทุนรวมทั้งเครือกว่า 3 หมื่นล้านบาท . ขณะที่ AAV หุ้นสายการบินที่สภาพคล่องกำลังแย่ เพิ่มทุนครั้งใหญ่มูลค่ามโหฬารราว 1.4 หมื่นล้านบาท ขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (RO) และ บุคคลในวงจำกัด (PP) ซึ่งคาดหวังว่าเงินระดมทุนนี้จะต่อชีวิตธุรกิจได้ หลังได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 . นักวิเคราะห์หลายรายมองตรงกัน ว่า จะเห็นการระดมทุนของ บจ.เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและเพิ่มโอกาสการลงทุน อย่างไรก็ตามนักลงทุนต้องประเมินผลกระทบและความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างรอบคอบ ว่าเงินที่ระดมได้มา นำไปใช้ได้ถูกที่ถูกทางหรือไม่ และจะสนับสนุนการฟื้นตัวหรือการเติบโตทางธุรกิจอย่างไร

