top of page

5 หุ้นบิ๊กไซส์ ราคาดิ่งปังๆ (ปังปินาศ)


เนื่องในวาระผันผวนหนักจัดเต็มของตลาดหุ้นในรอบปีนี้ ชาวคณะการลงทุนมีความเสี่ยวขอถือโอกาส “ขยี้” ให้รู้แล้วรู้รอดกันไป จะได้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจว่า ความเสี่ยงนั้นอยู่กับเราเสมอ เมื่อเริ่มต้นใหม่จะได้ทำให้ดีกว่าเดิม


อันดับ1: ราคาหุ้น WORK หรือ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เข้าสู่ขาลงเต็มตัวตั้งแต่ต้นปี 2561 จากราคาเคยขึ้นสูงสุดที่ 85.50 บาท ก่อนจะปรับตัวลงต่ำสุดที่ 29.25 บาท โดยวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ราคาหุ้น WORK มาปิดที่ 31.50 บาท ปรับตัวลง 62.61% นับตั้งแต่ต้นปี (YTD) คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Marketcap) อยู่ที่ 13,909 ล้านบาท

WORK ประกอบธุรกิจหลักในการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อออกอากาศและขายโฆษณาในสถานีโทรทัศน์ของบริษัท ออกอากาศในระบบดิจิทัล "ช่อง 23"

แม้ว่าผลประกอบการ WORK ยังมีกำไรตามปกติ แต่แนวโน้มของกำไรที่ลดลงตามลำดับตั้งแต่ต้นปี จากเรตติ้งของช่องเวิร์คพอยท์ที่ลดลงต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาด

ตามข้อมูลบทวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินกำไรสุทธิของ WORK ทั้งปี 2561 อยู่ที่ 431 ล้านบาท ลดลงถึง 52.4% เทียบกับกำไรสุทธิปี2560 ที่ 904 ล้านบาท สำหรับในปี 2562 ประมาณการกำไรสุทธิจะเติบโต 10% มาอยู่ที่ 486 ล้านบาท ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าผลประกอบการ WORK กำลังผ่านพ้นจุดเลวร้าย และหากเรตติ้งกลับมาดีขึ้น เชื่อว่าราคาหุ้น WORK น่าจะกลับมาพลิกฟื้นได้อีกครั้ง


BEC ยังคงทรงตัวยืนเหนือ 10,000 ล้านบาทโดยตลอด สะท้อนถึงความสามารถการแข่งขันที่ดี แต่ปัญหาค่าใช้จ่ายสูงยังคงเป็นปัจจัยรุมเร้าผลประกอบการตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา ถ้าย้อนไปต้นปี 2561 ราคาหุ้น BEC เคยขึ้นสูงสุดที่ 14.20 บาท และลงไปต่ำสุด 5.90 บาท โดยวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ราคาหุ้น BEC มาปิดที่ 6.10 บาท ปรับตัวลง 53.44% นับตั้งแต่ต้นปี (YTD) คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Marketcap) อยู่ที่ 12,200 ล้านบาท


อันดับ3: ราคาหุ้น BEAUTY หรือ บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) นับเป็นหุ้นขวัญใจมหาชนทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ เนื่องจากธุรกิจเครื่องสำอางก้าวมาเป็นปัจจัยที่5 เป็นอุตสาหกรรมติดอันดับ "เมกะเทรนด์" ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ตอกย้ำผลประกอบการติดอันดับหุ้น Growth stock เพราะตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯปี 2555 มีกำไรสุทธิ 173 ล้านบาท ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็น 1,229 ล้านบาทในปี 2560 เติบโตหลายเท่าตัว สอดคล้องกับราคาหุ้น BEAUTY ที่เข้าไอพีโอในราคา 8 บาท โดยมีพาร์ที่ 1 บาท แต่หากคิดเป็นพาร์ 0.10 บาทในปัจจุบันราคาไอพีโอเวลานั้นอยู่ที่ 0.80 บาท

ในปีนี้หุ้น BEAUTY เคยขึ้นสูงสุดที่ 23.70 บาท นั้นแปลว่าหุ้น BEAUTY เพิ่มขึ้นเกือบ 2,900% นับจากราคาไอพีโอในปี 2555 แต่ด้วยผลประกอบการที่เคยเติบโตโดดเด่นมาตลอด แต่เพิ่งมาสะดุดผลกระทบเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน 2561 เกี่ยวกับการบุกทลายผู้ผลิตเครื่องสำอางและอาหารเสริม "เมจิก สกิน" ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรม ทำให้ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและจีนขาดความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าไประยะหนึ่ง ผลกระทบได้สะท้อนมายังกำไรสุทธิไตรมาส2/61 ที่ทำได้ 256 ล้านบาท นับว่าลดลงเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

แม้ว่าผลประกอบการไม่ได้ย่ำแย่ถึงขั้นขาดทุน แต่ราคาหุ้น BEAUTY ได้ทรุดตัวลงต่ำสุดที่ 6.45 บาท ก่อนจะค่อยๆฟื้นตัวมาปิดที่ 10.00 บาทในวันที่ 31 ตุลาคม คิดเป็นปรับตัวลง 51.92% นับตั้งแต่ต้นปี (YTD) คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Marketcap) อยู่ที่ 30,062 ล้านบาท

ล่าสุดนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ทยอยปรับคำแนะนำ "ซื้อ" เพราะเชื่อว่ากำไรสุทธิของ BEAUTY กำลังก้าวสู่ขาขึ้นรอบใหม่ สิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือกำไรสุทธิในไตรมาส3/61 จะมีโอกาสสร้างเซอร์ไพรส์ หักปากกานักวิเคราะห์ได้หรือไม่


อันดับ4: หุ้น PTG หรือ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการค้าปลีกและค้าส่งน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้สถานีบริการน้ำมันแบรนด์ PT ธุรกิจขนส่งน้ำมัน และธุรกิจ Non-Oil ได้แก่ "กาแฟพันธุ์ไทย" รวมถึงร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ PT Mart และ Max Mart แต่ปัจจุบันมีรายได้หลักมาจากการค้าปลีกและค้าส่งน้ำมันกว่า 98% โดยมีจำนวนสถานีบริการน้ำมัน ล่าสุดมีประมาณ 1,860 สาขา ราคาหุ้น PTG เข้าสู่ขาลงชัดเจนตั้งแต่ต้นปี 2561 จากราคาเคยขึ้นสูงสุดที่ 23.70 บาท ก่อนจะปรับตัวลงต่ำสุดที่ 9.80 บาท โดยวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ราคาหุ้น PTG มาปิดที่ 10.50 บาท ปรับตัวลง 51.83% นับตั้งแต่ต้นปี (YTD) คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Marketcap) อยู่ที่ 17,535 ล้านบาท

สาเหตุหลักกดดันหุ้น PTG ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เป็นการซึมซับกับการรายงานกำไรชะลอตัวมาตั้งแต่ต้นปี

ล่าสุดนักวิเคราะห์ "หยวนต้า" ยังระมัดระวังความเสี่ยงจากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ค่าครองชีพประชาชนอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันไม่สามารถปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันได้

เช่นเดียวกับธุรกิจ Non-Oil แม้ว่าพัฒนาการด้านกำไรจะเริ่มดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังไม่สามารถชดเชยต้นทุนทั้งหมดได้ จึงทำให้ธุรกิจ Non-Oil ยังเป็นปัจจัยหลักกดดันผลประกอบการของ PTG ผ่านค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร

แต่หากพิจารณากำไรสุทธิปี 2560 ที่ 913 ล้านบาท และในปี 2561 คาดอยู่ที่ 949 ล้านบาท ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,175 ล้านบาทในปี 2562 จึงมีโอกาสสูงที่ราคาหุ้น PTG จะพลิกฟื้นตัวขึ้นได้ในอนาคต

อันดับ5: หุ้น CBG หรือ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังและเครื่องดื่มอื่นๆ ภายใต้เครื่องหมายการค้า "คาราบาวแดง" มีการขยายตลาดสินค้าทั้งในไทย และกลุ่มประเทศ CLMV จีน และอังกฤษ

ราคาหุ้น CBG ทรุดตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2560 เนื่องจากผลประกอบการอ่อนแอ ภายหลังมีค่าใช้จ่ายสูงจากแผนขยายตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอังกฤษที่เข้าเป็นผู้สนับสนุนให้แก่ทีมสโมสรเชลซี และการแข่งขัน English Football League (EFL) อย่างเป็นทางการ

แม้ว่า CBG จะใช้งบการตลาดสูงแต่ด้วยภาวะการแข่งขันรุนแรง ส่งผลให้ยอดขายทั้งในอังกฤษและจีนต่ำกว่านักวิเคราะห์คาด สะท้อนผ่านมายังผลประกอบการปีนี้ จากข้อมูลบทวิเคราะห์ บล.เอเชีย เวลท์ คาดว่ากำไรสุทธิปีนี้จะอยู่ที่ 1,029 ล้านบาท ต่ำกว่าปี 2560 ที่มีกำไรสุทธิ 1,246 ล้านบาท แต่ในปี 2562 และ2563 ได้ประมาณการกำไรสุทธิของ CBG อยู่ที่ 1,596 ล้านบาท และ 1,840 ล้านบาท ถ้าเป็นไปตามคาดราคาหุ้น CBG ที่ปรับตัวลดลงรอบนี้ ก็อาจเป็นแค่ผลกระทบจากความเชื่อมั่นที่สูญเสียไปในระยะสั้นเท่านั้น

2 views0 comments
bottom of page