top of page

5 อันดับหุ้นไซส์เล็ก-กลาง สุดดิ่งสะเทือนใจปีนี้ (1ม.ค.- 31 ต.ค.61)


5 อันดับหุ้นไซส์เล็ก-กลาง สุดดิ่งสะเทือนใจปีนี้ (1ม.ค.- 31 ต.ค.61)

#ถ้านั่งมองราคาหุ้นแล้วมันเสียวหันมามองตาผู้ชายเสี่ยวดีกว่าไหม

Mid/Small Cap มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Marketcap) ระดับ 1,000-10,000 ล้านบาท

อันดับ1JMART -71.11%

หุ้น JMART หรือ บมจ.เจ มาร์ท เป็นที่ทราบกันดีในแวดวงการลงทุน เกี่ยวกับการประกาศระดมทุนด้วยเหรียญดิจิทัล เจ ฟิน คอยน์ (JFIN) จำนวน 100 ล้านเหรียญ ในราคาเหรียญละ 6.60 บาท เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดำเนินการผ่านบริษัทย่อย “เจ เวนเจอร์” ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในช่วงแรกของการขายจริง เพราะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรายแรกที่ระดมทุนด้วยการเสนอขายเหรียญดิจิทัล กระตุกให้หุ้น JMART ขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ 25.25 บาท ก่อนจะเข้าสู่ขาลงเต็มตัวจนมาแตะจุดต่ำสุด 4.68 บาท ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2561 ราคาหุ้น JMART มาปิดที่ 5.20 บาท ปรับตัวลง 71.11% นับตั้งแต่ต้นปี (YTD) คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Marketcap) อยู่ที่ 3,818 ล้านบาท

ปัจจุบัน JMART บริษัทมีสถานะเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี มีธุรกิจหลักของบริษัทแกนคือจำหน่ายทั้งค้าปลีกและค้าส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับบริษัทย่อยที่เป็นบริษัทจดทะเบียน ประกอบด้วย บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) บริษัทถือหุ้น 57.04% ดำเนินธุรกิจติดตามหนี้ บริหารหนี้ด้อยคุณภาพ ให้บริการสินเชื่อลิสซิ่งและสินเชื่อรายย่อย

บมจ.เจเอเอส แอสเซ็ท (J)ซึ่งบริษัทถือหุ้น 67.50% ดำเนินธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าในส่วนของธุรกิจมือถือ และศูนย์การค้าแบบคอมมูนิตี้ มอลล์

บมจ.ซิงเกอร์ ประเทศไทย บริษัทถือหุ้น 24.99% ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ซิงเกอร์”และมีบริษัทย่อยประกอบกิจการเช่าซื้อผ่าน บริษัท เอสจี แคปปิตอล

ราคาหุ้น JMART เข้าสู่ขาลง ภายหลังจากต้นปีนักลงทุนมีความคาดหวังเหรียญดิจิทัล JFIN แต่พอเข้าซื้อขายในตลาดรองกลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร อีกทั้งผลประกอบการในครึ่งปีแรกยังขาดทุนสุทธิกว่า 142 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 263 ล้านบาท นับเป็นการขาดทุนสุทธิครั้งแรกในรอบหลายๆปี เวลานี้คงเป็นบทพิสูจน์ฝีมือผู้บริหารว่าจะสามารถทำให้หุ้น JMART ผ่านพ้นจุดต่ำได้เมื่อใด ??

อันดับ2 DDD -68.64%

หุ้น DDD หรือ บมจ.ดู เดย์ ดรีม ไม่นานมานี้บริษัทรายงานผลประกอบการไตรมาส3/61 สร้างความผิดหวังกับนักลงทุน เนื่องจากบริษัทขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 670,000 บาท จากที่เคยกำไรสุทธิไตรมาส3/60 ที่ 44 ล้านบาท และไตรมาส2/61 ที่ 63 ล้านบาท ความเชื่อมั่นในหุ้น DDD ที่ลดลง นับว่าสอดคล้องกับหุ้นปรับตัวลดลงรุนแรงเช่นกัน DDD เคยขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุดที่ 121 บาท ก่อนจะโดนเทขายต่อเนื่องลงมาทำจุดต่ำสุดที่ 25.50 บาท ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2561 ราคาหุ้น DDD มาปิดที่ 27.75 บาท ปรับตัวลง 68.64% นับตั้งแต่ต้นปี (YTD) คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Marketcap) อยู่ที่ 8,821 ล้านบาท

DDD ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวภายใต้เครื่องหมายการค้า "NAMU LIFE" โดยมีชื่อกลุ่มผลิตภัณฑ์ว่า "SNAILWHITE" และธุรกิจรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์บำรุงผิวภายใต้เครื่องหมายการค้าอื่น (OEM)

ราคาหุ้น DDD ปรับตัวมากตามทิศทางเดียวกับหุ้น BEAUTY ที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สาเหตุหลักเกี่ยวกับการบุกทลายผู้ผลิตเครื่องสำอางและอาหารเสริม "เมจิก สกิน" ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรม ทำให้ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและจีนขาดความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าชั่วคราวนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2561

ล่าสุดเริ่มมีนักวิเคราะห์หลายสำนัก เพิ่มน้ำหนักในหุ้น DDD มากขึ้น เพราะในช่วงปลายปีนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นทั้งจากเข้าสู่ไฮซีซั่น และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวรัฐบาลช่วยสนับสนุน รวมทั้งยอดขายในจีนและฟิลิปปินส์เริ่มขยายตัวได้ดี แต่ทั้งหมดเป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น สุดท้ายแล้วหุ้น DDD ที่ปรับตัวลงมาลึกจะสามารถไต่ขึ้นไปจุดสูงสุดเดิมได้หรือไม่ คงต้องอดใจรอดูกันต่อไป...

อันดับ3: MALEE -66.27%

MALEE หรือ บมจ.มาลี กรุ๊ป ผู้ผลิตและจำหน่ายผลไม้กระป๋องและน้ำผลไม้ภายใต้เครื่องหมายการค้า "มาลี" มีจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ราคาหุ้น MALEE เข้าสู่ขาลงมาตั้งแต่ต้นปี 2560 ถ้านับเฉพาะในปี 2561 เคยขึ้นสูงสุดที่ 39.75 บาท ปรับตัวลงต่ำสุดที่ 11.60 บาท ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2561 หุ้น MALEE มาปิดที่ 12.90 บาท ปรับตัวลง 66.27% นับตั้งแต่ต้นปี (YTD) คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Marketcap) อยู่ที่ 3,612 ล้านบาท

สาเหตุหลักกระทบหุ้น MALEEปรับตัวลงลึก เกิดขึ้นจากผลประกอบการเติบโตช้าลง สะท้อนจากปี 2559 บริษัทมีกำไรสุทธิ 530 ล้านบาท และทรุดตัวเหลือ 285 ล้านบาทในปี 2560 ต่อมาในปี 2561 พบว่าครึ่งปีแรกขาดทุนสุทธิ 5.41 ล้านบาท ล่าสุดนักวิเคราะห์เกือบทุกสำนักคาดว่าสิ้นปีนี้ MALEE น่าจะยังไม่ดีขึ้นและมีผลขาดทุนสุทธิ ถือเป็นการขาดทุนสุทธิครั้งแรกในรอบ 10 ปี

ผลขาดทุนเกิดขึ้นจากยอดขายน้ำผลไม้ของแบรนด์ "มาลี" ลดลงตามการแข่งขันรุนแรง แม้ว่ายอดขายผลไม้กระป๋องเพิ่มขึ้นก็ตาม ขณะที่ยอดส่งออกยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา หลังเสียจุดขายจากปัญหาปรับปรุงขั้นตอนการผลิตน้ำมะพร้าว นอกจากนี้ มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากภาษีน้ำตาลและภาษีสรรพสามิต และต้นทุนค่าเสื่อมจากการลงทุนเครื่องจักรใหม่ที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

อันดับ4: ICHI -56.26%

ICHI หรือ บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป ที่มีเสี่ยตัน ภาสกรนที เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเจ้าพ่อนักการตลาดผู้โด่งดัง (ในอดีต) เป็นอีกรายที่หุ้นได้รับผลกระทบจากความผิดหวังผลประกอบการมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ภายหลังเกิดภาวะการแข่งขันรุนแรงในตลาดชาเขียว และกำลังซื้อผู้บริโภคไม่ได้เติบโตเหมือนกับในอดีต ทำให้มีคำพูดว่า "ชาเขียวอิชิตัน" ได้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว

แม้ปัจจุบันการขยายตลาดส่งออกใน CLMV จะมีแนวโน้มเติบโต แต่ยังเป็นสัดส่วนน้อยกว่ารายได้ในประเทศที่ชะลออย่างชัดเจน และด้วยแผนขยายตลาดในอินโดนีเซีย ทำให้บริษัทร่วมในอินโดนีเซียยังมีผลขาดทุนจากการอัดการตลาดอย่างหนัก นอกจากนี้ยังต้องรับภาระเพิ่มขึ้นจากต้นทุนภาษีน้ำตาลและภาษีสรรพสามิตอีกด้วย ทำให้ปัจจุบันนักวิเคราะห์ส่วนมากยังคงมีมุมมองเป็นเชิงลบกับหุ้น ICHI

ราคาหุ้น ICHI ในปี 2561 เคยขึ้นสูงสุดที่ 10.20 บาท ปรับตัวลงต่ำสุดที่ 3.98 บาท ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2561 หุ้น ICHI มาปิดที่ 3.98 บาท ปรับตัวลง 56.26% นับตั้งแต่ต้นปี (YTD) คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Marketcap) อยู่ที่ 5,174 ล้านบาท

อันดับ5: FN -54.34%

FN หรือ บมจ.เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท ผู้ประกอบธุรกิจศูนย์จัดจำหน่ายสินค้าประเภท “เอ๊าท์ เลท” หนึ่งในสถานที่นักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้าไปจับจ่ายซื้อของ

สินค้า FN ประกอบของใช้ประเภทเสื้อผ้า เครื่องนอน เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ และของใช้ภายในบ้าน ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท และตราสินค้าอื่น ที่เป็น International Brand เป็นส่วนใหญ่ และที่ผ่านมา FN นับเป็นหุ้นที่มีความโดดเด่นเรื่องศักยภาพอัตรากำไรสูง จากการขายสินค้าที่ผลิตขึ้นมาเอง (House Brand) รวมถึงการระบายสต็อกสินค้าได้ดี ส่งผลให้กระแสเงินสดหมุนเวียนได้คล่องตัว

เมื่อย้อนไปปี 2559 FN มีอัตรากำไรสุทธิ 13.32% ก่อนจะลดลงมาในครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 3.61% ทำให้กำไรสุทธิลดลงตามลำดับ แม้รายได้จะยังทรงตัวที่ระดับ 1 พันล้านบาทก็ตาม

สถานการณ์ธุรกิจ FN ที่ผ่านมา มุมมองนักวิเคราะห์ เห็นตรงกันว่าเกิดจากการเติบโตยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ลดลงสูง ที่สำคัญสินค้า House Brand ที่มีส่วนต่างของกำไรสูงนั้นยอดขายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าในช่วงปลายปีจะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย แต่ต้องมาลุ้นกันว่ายอดขายของ FN จะขยับเพิ่มขึ้นได้มากน้อยอย่างไร เป็นอีกหนึ่งคำตอบที่ยังคาดเดาได้ยากจริงๆ...

0 views0 comments
bottom of page