top of page

5 ปัจจัยเสี่ยงไตรมาส2


ระหว่างที่พี่ไทยเรากำลังเพลิดเพลินกับ การสาดน้ำสงกรานต์ / EDM PARTY / การเที่ยว-เดินทาง / เฉลิมฉลองกันอย่างเต็มเหนี่ยว (วันนี้แม่งต้องมีคนแฮงค์ มีคนลา มีคนอู้)

โลกไม่ได้หยุดตามยังหมุนไปพร้อมกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและการลงทุน #เสี่ยวCREW ขอต้อนรับสู่โลกแห่งความจริงหลังวันหยุดยาว

เรียนเชิญพ่อแม่พี่น้องทุกท่านพบกับ ความเสี่ยงที่สถิตอยู่กับเราในไตรมาสสอง ณ บัดนี้!!!

หลายสำนักวิจัยฯระดับโลกมีความเห็นทิศทางเดียวกัน ปีนี้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัวอย่างชัดเจน ปัจจัยหลักที่กระทบหนีไม่พ้นสงครามการค้าของสหรัฐฯ-จีน แม้จะแสดงท่าทีผ่อนคลายบ้างหลังเจรจากันมาตั้งแต่ปลายปี 2561แต่เกมส์ยังคงไม่จบสิ้น อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคทั่วโลกเกิดการชะลอตัวพร้อมกัน

ล่าสุด IMF ออกมาหั่นประมาณการ GDP โลกปี62 เหลือ 3.3% จากเดิมที่คาดเติบโต 3.5% ขณะที่อัตราการขยายตัวของปริมาณการค้าโลกชะลอตัวเหลือ 3.4% จากที่คาดขยายตัว 4%

แม้สหรัฐฯและจีนเจรจาพักรบสงครามการค้าตั้งแต่ปลายปี 61 แต่สหรัฐฯยังเก็บภาษีนำเข้ารวม 3 รอบ ประกอบด้วย 2 รอบแรกวงเงินรวม 5 หมื่นล้านเหรียญ อัตราภาษี 25% และรอบที่3 วงเงินรวม 2 แสนล้านเหรียญ อัตราภาษี 10% ซึ่งสหรัฐฯเองได้ยืดระยะเวลาการขึ้นภาษีนำเข้ารอบที่3จาก 10% เป็น 25% ออกไปไม่มีกำหนด ขณะที่จีนก็ทยอยปฎิบัติตามที่สหรัฐฯเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง

ทั่วโลกกำลังจับตาการเจรจารอบใหม่ช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ สถานการณ์การค้าโลกจะผ่อนคลายหรือร้อนระอุขึ้นอีกครั้งกันแน่ คงต้องติดตามกันต่อไป ว่าสงครามการค้าจะลุกลามกระทบเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่คาดการณ์กันหรือไม่ เพราะปัจจุบันสหรัฐฯยังเดินหน้ากีดกันการค้ากับหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะผลกระทบการขึ้นภาษียานยนต์ ประเทศมหาอำนาจฝั่งยุโรปและญี่ปุ่น เป็นเป้าหมายหลักที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นดังกล่าวไปไม่น้อย

เป็นผลกระทบเชื่อมโยงจากสงครามการค้า เพราะเดิมธนาคารกลางสหรัฐฯ(FED) ประกาศว่าต้องการขึ้นดอกเบี้ยหลังเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวชัดเจนแล้ว แต่พอมาวันนี้กลับส่งสัญญาณชะลอขึ้นดอกเบี้ยอย่างชัดเจน หลังจากเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยมาแล้วทั้งหมด 9 ครั้ง รวม 2.25% นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 ทำให้เกิดคำถามว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้วหรือไม่ ที่ผ่านมา FED ได้แสดงท่าทีชัดเจนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังต้องการเงินหมุนในระบบ เพราะชะลอการลดงบดุลตั้งแต่เดือนกันยายนปี61 หลังได้เริ่มลดงบดุลไปเมื่อเดือนตุลาคม60 ด้วยการขายพันธบัตรสหรัฐฯและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน จากจุดสูงสุดที่ 4.5 ล้านล้านเหรียญมาเหลือ 4.02 ล้านล้านเหรียญในปัจจุบันหรือลดลงราว 10.80% เท่านั้น แปลว่าถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มส่อแววชะลอตัว จะส่งผลดีกับตลาดหุ้นในระยะถัดไปได้จริงหรือ ??

การถอนตัวของอังกฤษออกจากยุโรป (Brexit) ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง และมีท่าทีจะเป็นส่วนหนึ่งที่กระทบเศรษฐกิจโลกให้เติบโตในอัตราชะลอตัว ซึ่งผลทางอ้อมที่เกิดตอนนี้ คือ ความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน โดยค่าเงินทั่วโลกรวมทั้งเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น การค้าในระยะสั้นและการส่งออกของไทยอาจได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของชาวอังกฤษและยุโรปลดลง เพราะเงินปอนด์มีแนวโน้มอ่อนค่ามากกว่าเงินยูโร สถานการณ์ล่าสุดได้เลื่อนวัน Brexit ออกไปช่วงกลางปี หรืออาจชัดเจนราวสิ้นปี 2562 จากเดิมกำหนดวันที่ 29 มี.ค. 2562 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในอังกฤษถูกบั่นทอนลง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ชะลอลงใกล้ระดับตํ่าสุดในรอบ 2 ปี 2 เดือน และอัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือน ม.ค. 2562 ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 1.9% ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี

แม้การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย(ใช่ไหม)เมื่อ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา จะเป็นใบเบิกทางเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ แต่สุดท้ายกลับยังมาถกเถียงกันเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลของ 2 ขั้วพรรคการเมือง ซึ่งวันนี้คงไม่มานั่งวิเคราะห์สูตรตั้งรัฐบาลกันแล้ว ปล่อยให้คนเหล่านั้นทะเลาะกันไปเถอะ แต่อยากให้มาโฟกัสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเป็นลูกผีหรือลูกคนกันแน่

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกถึง 70% ของ GDP ประเทศจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้า เพราะปัจจุบันสหรัฐฯยังเดินหน้าเก็บภาษีนำเข้าจีน 2 รอบแรกวงเงิน 5 หมื่นล้านเหรียญ อัตราภาษี 25% และรอบ 3 วงเงิน 2 แสนล้านเหรียญ อัตราภาษี 10% ซึ่งผลกระทบดังกล่าวปัจจุบันยังไม่สะท้อนการหดตัวของ GDP ให้เราเห็นกันอย่างเต็มที่

ล่าสุดมี 3 องค์กรวิเคราะห์เศรษฐกิจไทย ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้กันบ้างแล้ว ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ลดเหลือ 3.8% จากเดิม 4.0% มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ลดเหลือ 3.5-3.8% จากเดิม 4.1% และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจไทยพาณิชย์ ลดเหลือ 3.6% จากเดิม 3.8%

อย่างไรก็ตามความหวังของคนไทยทั้งประเทศยังไปผูกกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพื่อให้เดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่เคยหาเสียงกันเอาไว้ ช้าก่อนประสก...เจ้าลองไตร่ตรองสักนิด นโยบายรัฐที่โม้กันเอาไว้มากมายนั้น ต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า “เงิน” จำนวนมาก ในยามที่เศรษฐกิจกำลังเป็นขาลงทั่วโลกเช่นนี้ จะหาเงินมากๆมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ มันไม่ง่ายนะเว้ย เมื่อหาเงินไม่ได้เอาไงต่อ ??


0 views0 comments
bottom of page