CCP & SMART เทิร์นอะราวด์กลางวิกฤต

CCP & SMART เทิร์นอะราวด์กลางวิกฤต #ยากกว่าหาหุ้นเทิร์นอะราวด์คือการหาหุ้นส่วนของหัวใจ #โตสวนกระแส #พื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญ
ตอนนี้โลกมันเลวร้ายเนาะ ใครๆก็รู้ว่าเศรษฐกิจแย่ทั่วโลก แต่ตลาดหุ้นยังสวยงามเสมอ ด้วยปัจจัยเพ้อเจ้อไปวันๆ ก็ปล่อยมันเป็นไปฮะ...ส่วนหนึ่งของการเดินทางสู่จุดแตกดับ อาจผ่านทุ่งลาเวนเดอร์บ้างก่อนถึงหุบเหวก็ไม่เห็นจะเป็นไรเนาะ ใครโกยได้ โกยเลยฮะ ช่วงนี้
แม้เราจะมองเห็นว่ามันกำลังจะแย่ แต่อีกใจก็เชื่อว่า “หุ้น” ยังลงทุนได้อยู่ดี แต่ต้องลงทุนอย่างมีเงื่อนไข ไม่ใช่จั่วไปเรื่อย ซึ่งมันก็เป็นเรื่องพื้นๆแหล่ะฮะ เราควรเลือกหุ้น “หุ้นพื้นฐานดี” เพิ่มเติมอีกนิดคือ “โตสวนกระแส” ซึ่งตลาดหุ้นบ้านเราก็ยังมีอยู่เยอะ ถ้าคิดจะหาคงไม่ยากนัก #เสี่ยวCREW ขอทยอยเอาเรื่องของบริษัทแนวนี้มาเล่าให้ฟังแล้วกัน อ่อ..ไม่ได้เชียร์ซื้อนะเฟ้ย!! ถ้าอ่านแล้วเห็นว่าโอ ก็ไปดูข้อมูลเพิ่มเติมเอา
วันนี้ขอเอาบริษัทวัสดุก่อสร้างมาเหลาหน่อย CCP กับ SMART ตอนที่ภาคก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ดี น่าจะเป็นช่วงกอบโกยของทั้ง 2 บริษัท แต่เปล่าเลยช่วงนั้นระหกระเหินหนักมาก “ขาดทุนต่อเนื่อง” เพราะสงครามราคา การแข่งขันที่รุนแรง และการบริหารจัดการบางส่วนของบริษัทเองที่เป็นปัญหา แต่ตอนนี้ทุกอย่างไม่สู้ดี พี่เขาดันแข็งแรง กำไรโต สวนทางกับภาพรวมของตลาดซะงั้น สาเหตุที่เป็นแบบนั้นเนื่องจากเจอพายุใหญ่มาก่อนคนอื่น ทำให้ต้องปรับตัวอย่างหนัก ปรับโครงสร้างองค์กร เปลี่ยนรูปแบบการขาย พัฒนาผลิตภัณฑ์ ควานหาฐานลูกค้าใหม่ เปิดตลาดใหม่ ทำการตลาดใหม่ จัดการระบบผลิต-ระบบขนส่งใหม่ ฯลฯ เพียบ!! แต่ผู้บริหารก็เอาจนรอดและกลับมาแข็งแรงได้ท่ามกลางวิกฤต

“CCP” บมจ. ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตแบบครบวงจร บริษัทประสบปัญหา “ขาดทุน” ต่อเนื่องในปี 2560 – 2561 จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงของตลาดวัสดุก่อสร้าง และมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจากภาระหนี้การลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของการปรับปรุงเครื่องจักรและโรงงาน ทั้งนี้ในปี 2560 มีรายได้รวม 2,363.91 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 22.53 ล้านบาท และปี 2561 มีรายได้รวมที่ 2,482.32 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 70.63 ล้านบาท
ผลขาดทุนสองปีรวดดังกล่าวทำให้ CCP ต้องเร่งปรับตัวเร็วกว่าชาวบ้าน !!
จากเคยพึ่งพิงโครงการภาครัฐและเอกชนขนาดใหญ่ในเขตภาคตะวันออก-กทม.และปริมณฑล ก็เปลี่ยนเป็นขายมันทั่วประเทศในโครงการทุกรูปแบบ / จากเคยขายเน้นปริมาณแต่มาร์จิ้นต่ำ ก็ต้องหันมาเน้นขายผลิตภัณฑ์ที่มาร์จิ้นสูงขึ้น ผู้ผลิตรายอื่นทำได้น้อย สเปคที่แตกต่างแต่ตอบโจทย์การใช้งานมากกว่า / ตัดทิ้งและปรับรูปแบบธุรกิจที่แข่งขันสูงและไม่ทำกำไรอย่าง“คอนกรีตผสมเสร็จ” (Ready Mix)
หันไปเน้นการให้บริการในลักษณะ Mobile Plant จัดตั้งแพลนท์ปูนชั่วคราวที่สามารถรื้อถอนได้ ให้บริการเช่ารถขนส่ง ขายคอนกรีต รวมทั้งให้บริการตรวจสอบคุณภาพผงปูน ขณะที่ฐานลูกค้าของ CCP ในปัจจุบันถูกขยายออกไปในทุกภาคทั่วประเทศ ได้งานหลากหลายรูปแบบมากขึ้น แถมยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมาตอบโจทย์การใช้งานไม่ขาดสาย
ผลจากการดิ้นรนของบริษัททำให้ปี 2562 รายได้รวมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2,645.56 ล้านบาท และพลิกกลับมาทำกำไรสุทธิ 64.15 ล้านบาท จากรายได้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ และการบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการพัฒนาสินค้า-บริการใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปีนี้... ไตรมาสแรก CCP มีรายได้เฉพาะกิจการ 459.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 404.59 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.65% และมีกำไรเฉพาะกิจการ 45.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 26.59 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 69.61% งบการเงินรวมไตรมาส 1/ 2563 มีรายได้รวม 718.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 637.98 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.68% และมีกำไรสุทธิ 43.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.33 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3,169% โดยกลุ่มรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 12.53% สำหรับกลุ่มรายได้จากการให้เช่าและบริการรถขนส่งสินค้าประเภทคอนกรีตผสมเสร็จ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 27.62% และผลการดำเนินงานของบริษัทย่อย บมจ.สมาร์ทคอนกรีต (SMART) ปรับตัวดีขึ้นมาก
แต่นั่น “โควิด-19” ยังไม่มาเยือน ไตรมาส 2 จึงเป็นตัวชี้วัดที่ดีว่า CCP แข็งแรงแค่ไหน?
“ผลกระทบที่บริษัทได้รับจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีเพียงเล็กน้อย เนื่องจากงานภาครัฐในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศมีการก่อสร้างต่อเนื่อง และมีความจำเป็นต้องใช้คอนกรีต ส่วนภาคเอกชนนั้นมีการชะลอตัวลงในกลุ่มของอสังหาริมทรัพย์ แต่ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมยังมีการลงทุนอยู่ ปัจจุบันเรามีสัดส่วนงาน ภาครัฐ 80% และภาคเอกชน 20% อาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ ระบุว่า
แนวโน้มธุรกิจในปีนี้คาดว่าจะดีต่อเนื่อง ตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ไม่ต่ำกว่า 2,600 ล้านบาท และรักษาอัตรากำไรให้อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเน้นดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ใหม่ที่บริษัทได้มีการปรับในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ต้องเน้นเพิ่ม Backlog ที่มีคุณภาพ มีฐานะการเงินที่ดี เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระ”

“SMART” บมจ. สมาร์ทคอนกรีต ผลิตและจำหน่ายอิฐมวลเบา ภายใต้แบรนด์ “สมาร์ทบล็อกเย็น” ภาพรวมผลการดำเนินงานของ SMART “ขาดทุน” ต่อเนื่องในปี 2560 – 2561 ปัญหาสำคัญของบริษัท คือ ต้นทุนที่สูงเกินไปและราคาขายที่แทบไม่เหลือกำไร แม้จะขายของได้เยอะก็ขาดทุนจนไม่เหลือ สาเหตุหนีไม่พ้นการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดในช่วงเวลาดังกล่าว โครงการภาครัฐล่าช้า เอกชนชะลอตัว ผู้ผลิตทุกรายจึงพากันเร่งยอดขายจากโครงการเดิมที่มีกระจุกตัวด้วย
ทั้งนี้ในปี 2560 บริษัทมีรายได้รวม 308.48 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 74.18 ล้านบาท และปี 2561 มีรายได้รวม 366.31 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 22.93 ล้านบาท
จากสถานการณ์ที่บีบบังคับ SMART ปรับกลยุทธ์ด้วย“การเลิกแข่ง”ในสมรภูมิที่โคตรเดือด หันไปเปิดตลาดใหม่ ปรับฐานกลุ่มลูกค้า ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ไปยันทำการตลาดรูปแบบใหม่ บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในทุกช่องทาง อาทิ โมเดิร์นเทรด ห้างค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง เพิ่มตัวแทนจำหน่าย ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง เพื่อสามารถกระจายสินค้าเข้าสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้เพิ่มขึ้น พร้อมด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์อิฐมวลเบาตกแต่ง เจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มสถาปนิก ควบคู่กับการทำการตลาดเชิงรุก ด้วยกลยุทธ์ O2O (Online to Offline ) เพื่อกระตุ้นการสร้างยอดขายให้เติบโต และสร้างการรับรู้กับลูกค้าในวงกว้าง ผ่านสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย
ปรากฎว่ารอด!! ปี 2562 บริษัทผลประกอบการพลิกกลับมามีกำไร รายได้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 466.82 ล้านบาท กำไรสุทธิ 44.24 ล้านบาท เนื่องจากความต้องการใช้อิฐมวลเบาและอิฐมวลเบาตกแต่งมีมากขึ้น จากการขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมทุกขนาดโครงการไม่เน้นโครงการใหญ่อย่างที่ผ่านมา การกระจายสินค้าของบริษัทไปในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศอย่างไม่มีข้อจำกัด ปริมาณการใช้งานวัสดุอิฐมวลเบาของโครงการก่อสร้างภาครัฐมากขึ้น และราคาจำหน่ายอิฐมวลเบามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น
สำหรับปีนี้...SMART ยังทรงดีต่อเนื่อง ไตรมาสแรกมีรายได้รวม 117.921 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 107.198 หรือเพิ่มขึ้น 10% และมีกำไรสุทธิ 12.517 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2.717 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 360.57%
รังสี ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ ระบุว่า “แม้บริษัทจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้โครงการภาครัฐบางโครงการชะลอการก่อสร้าง แต่งานภาคเอกชนคำสั่งซื้อเดิมที่มีอยู่ยังคงทยอยใช้สินค้าอิฐมวลเบา-อิฐมวลเบาตกแต่งตามปกติ จากโครงการประเภทอาคารที่พักอาศัยทั้งแนวราบและแนวสูง คอนโดมิเนียม ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนงานเอกชน 40% และภาครัฐ 60% คาดว่าปีนี้บริษัทยังสามารถสร้างการเติบโตของรายได้ไม่ต่ำกว่า 5% และมีอัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 10%”