top of page

Concept Speed แบรนด์คนบ้า มุ่งหน้าโกอินเตอร์



ถ้าจะทำแบรนด์เสื้อผ้าเป็นธุรกิจคุณจะเริ่มจากตรงไหนและคิดอะไรบ้าง?

ดีไซน์ เอกลักษณ์ แฟชั่นเทรนด์ การตัดเย็บ แหล่งผลิต เงินทุนหมุนเวียน ต้นทุนต่อเดือน กำไร กลุ่มลูกค้า รีเสิร์ช การตลาด โปรโมชั่น การสร้างแบรนด์ โลโก้ การตกแต่งหน้าร้าน ลูกจ้าง สต๊อคสินค้า ฯลฯ อยากจะบอก ว่า ถ้าให้นั่งนึกจริงจังและเขียนออกมาเป็นแผนเพื่อทำจริงไม่รู้กี่ตอนแม่งถึงจะจบ และแผนนั้นอาจสำเร็จหรือล้มเหลวก็ยังไม่รู้

ลำพังแค่พูดเรื่อง “การสร้างแบรนด์” อย่างเดียวก็บ้าไปแล้ว เพราะมีแต่ศัพท์เทพและนามธรรม อาทิ Brand Character / Brand DNA / Brand Awareness / Brand Belief / Brand Value เอาไปเบาะๆแค่นี้พอคนเขียนจะงงก่อน

แต่คุณเชื่อไหมมีคนบ้าคนหนึ่ง สร้างแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับปั่นจักรยาน “Concept Speed” (CSPD) ขึ้นมา โดยที่ดีไซน์เสื้อผ้าไม่เป็นและไม่รู้เรื่องแบรนด์ รู้เพียงแค่ว่า กูรักการปั่นจักรยาน อยากให้คนไทยมีของดีๆใช้ อยากให้ลูกค้าไว้ใจ เชื่อใจ และมีความสุขกับการปั่นจักรยานด้วยชุดที่เราทำขึ้นมา

“ตอนเริ่มผมไม่มีความรู้เรื่อง AI เรื่องออกแบบ ทำแบบเลยแม้แต่นิดเดียว เสื้อแบบแรกที่เราผลิตเกิดจากการเขียนอีเมล์ไปบอกโรงงานว่า เราจะเอาโลโก้ขนาดนี้วางไว้ที่หน้าอก เอาคำวางไว้ตรงนั้น สีประมาณงี้ คือโรงงานเขาต้องมโนทำให้เราอ่ะครับ ก็ยังลุ้นอยู่เลยว่าจะดี ไม่ดี พอตัวจริงออกมา เฮ้ยยย...ใช้ได้เจ๋ง ล็อตแรกก็ขายหมดทั้ง 50 ตัว แต่ต้องบอกก่อนว่าคุณภาพชุดของเราเป็นเดอะเบสตั้งแต่เริ่มนะครับ เพราะเลือกใช้โรงงานในอิตาลี ซึ่งดีที่สุดทั้งการตัดเย็บและเทคโนโลยีของผ้า”พีช สุคนธราช Founder / CEO / Marketing & Sale Manager / Barista / Cycling / Designer ของ CSPD เล่าที่มาที่ไปบางส่วนให้ #เสี่ยวCREW ฟัง “พีช” เริ่มปั่นจักรยานเพราะอยากลดความอ้วน (แล้วคลั่งจักรยานจนถึงวันนี้) ขณะเดียวกันก็เป็นพ่อค้าออนไลน์ที่รับพรีออเดอร์ชุดจักรยานแบรนด์ชั้นนำจากอังกฤษอย่าง Rapha จนมีฐานลูกค้าในมือมากระดับหนึ่ง แต่ด้วยการแข่งขันรุนแรงในตลาดออนไลน์ช่วงนั้น จึงเกิดแนวคิดอยากเป็น “ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ” ให้กับแบรนด์ใดสักแบรนด์ จากอีเมล์ที่เขาส่งไปหาแบรนด์ต่างๆเป็นร้อยอีเมล์ มีหนึ่งแบรนด์ถ้วนที่ตอบรับ จากนั้นงานขายดีโคตร ชีวิตเปลี่ยน!!รายได้แซงงานประจำที่บริษัทแห่งหนึ่ง จนตัดสินใจลาออกและยึดอาชีพนี้เป็นธุรกิจ สุดท้ายพีชตัดสินใจทำร้านกาแฟที่ขายชุดจักรยานชื่อ “Concept Speed” ในปี 2558 (ร้านที่ทุกคนบอกว่า “กาแฟแก้วละหมื่น) ด้วยเงินทุนที่สะสมจากการขายของออนไลน์ ช่วงเริ่มต้นยังไม่มีการขายชุดจักรยานแบรนด์ตัวเอง ยึดแนวคิดการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศ Katusha Warsaw และ Blacksheep แต่ทำด้วยฝันที่ใหญ่ขึ้น“ขายแม่งให้ทั่วทั้งเอเชีย” “ช่วงที่ว่างวางแผนเยอะมาก ช่องทางจำหน่าย ติดต่อเมืองนอก เป้าคืออยากเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่ละแบรนด์ทั่วเอเชีย จากนั้นก็ทำการตลาดบินไปทั่ว เพราะเราคิดว่าเรารู้แล้วมีประสบการณ์จากตอนทำงานร่วมกับแบรนด์ใหญ่ แต่สุดท้ายคือเราไม่เข้าใจตลาดอื่นเลย เราก็ขายได้แค่ในเมืองไทยนั่นแหล่ะ ผลลัพท์มันแย่มากครับ ที่หนักสุดคือเราห่วงลูกค้าในไทย คือมึงเปลี่ยนแบรนด์มาขายอีกแล้ว ผมไม่อยากให้ลูกค้าตามไปเรื่อยๆ ถ้าผมขายแบรนด์อื่นต่อไปมันคงถึงจุดต้องเปลี่ยนอีก เลยถามตัวเองหยุดไหม ทำแบรนด์ตัวเองดีกว่า” ปัจจุบัน CSPD เดินหน้าทำแบรนด์และการตลาดอย่างจริงจังมาแล้ว 2 ปีกว่า ด้วยการดีไซน์เสื้อผ้าเองทั้งหมด (ไปเรียนมาแล้วเว้ยยย) ออกชุดปั่นจักรยานมาแล้ว 10 กว่าคอลเลคชั่น โดยคอลเลคชั่นหลักแต่ละปี ซึ่งมาพร้อมดีไซน์กระชากใจ โดดเด่น และงานทริปปั่นจักรยานแสนซาดิสม์ ประกอบด้วย CSPD the Warrior / CSPD Searching For Higher Ground / CSPD Racing Club นอกจากนี้มีการออกคอลเลคชั่นย่อย เสื้อยืด แจ็คเก็ต ถุงเท้า อุปกรณ์เสริมอื่นๆสำหรับนักปั่นเพิ่มเติม ตามโอกาสที่เหมาะสม หากนับฐานลูกค้าที่กระจายอยู่ในประเทศตอนนี้ ทั้งที่ซื้อประจำทุกคอลเลคชั่น ซื้อบางอย่าง ซื้อมือสอง ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นราย และค่อยๆขยายออกไปอย่างต่อเนื่อง เท่ห์ไปกว่านั้น CSPD เป็นแบรนด์ไทยที่โกอินเตอร์เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา แต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในเกาหลีใต้ อินโดนิเซีย ไต้หวัน และยังมีประเทศในเอเชียที่อยู่ระหว่างการเจรจาเพิ่มเติม (อ่อ..ลืมบอกตอนนี้มีของก็อปฯด้วยนะ แปลว่า เสื้อผ้าแบรนด์นี้แม่มมฮิตใช้ได้) ส่วนการตลาดของแบรนด์ CSPD เน้นการใช้ช่องทางออนไลน์ FB IG Website สื่อสารกับกลุ่มลูกค้าค้าแบบไม่พูดเยอะเจ็บคอ แต่ใช้ภาพที่เปี่ยมไปด้วย Passion และ Emotion ของการปั่นจักรยานราวกับเป็นส่วนหนึ่งของวิญญาณ เป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องและชักชวนผู้คนให้มาคลั่งไคล้ไปด้วยกัน ภาพเหล่านี้นี่เองทำให้ลูกค้าต่างประเทศเกิดความสนใจผลิตภัณฑ์อยากรู้ว่าเป็นไงตามไปดูได้ที่ http://www.facebook.com/ConceptSpeed/ นอกจากนี้ยังมีการจัดอีเว้นท์ทริปจักรยานอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่จำกัดผู้เข้าร่วมว่าจะต้องเป็นลูกค้า CSPD เท่านั้น นักปั่นที่ใส่แบรนด์อื่น ไม่ได้เป็นลูกค้าก็สามารถเข้าร่วมได้ เพราะต้องการสร้าง Community ของนักปั่นให้เหนียวแน่น อยู่ปั่นด้วยกันไปนานๆ การก่อตัวของความสำเร็จในระยะเวลาอันรวดเร็ว ไม่ได้หมายความว่า CSPD ไม่มีอุปสรรค “เคยมีอยู่คอลเลคชั่นหนึ่งผมสั่งสินค้าพลาดแล้วของมันไม่ตรงแบบ สีเพี้ยน ยอดขายดรอป เงินหมุนไม่ทันกว่าจะผ่านมาได้ ตอนนั้นบอกพนักงานทุกคนเลย ถ้าไม่รอดเตรียมตัวไปสมัครงานใหม่ เครียดมาก แต่เราก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการแจ้งลูกค้า หลายๆคนก็โอเคของก็ทยอยออก คือ ธุรกิจเราทำด้วยเงินที่เก็บสะสมมา ขายของได้ก็เอาเงินไปสั่งของใหม่ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา วิกฤตครั้งนั้นมันเลยเกิดเพราะเงินทุนไม่เพียงพอ แต่หลังจากนั้นไม่เป็นแล้วครับมีผู้ร่วมทุนชาวไต้หวันเข้ามาถือหุ้น ทำให้ฐานะการเงินเราดีขึ้น ออกสินค้าได้คล่องตัวมากขึ้น แต่ก็ยังต้องรอบคอบอยู่ดีไม่ใช่คิดจะทำอะไรก็ทำ แบรนด์เรามีกันอยู่ 3 คนครับ แต่ละคนทำหลายอย่างมาก คิดอะไรไว้เยอะ อยากอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด แต่เราทำอะไรเยอะไม่ได้ เงินไม่ถึง ไม่ได้มีทุนมากแบบแบรนด์ใหญ่ แต่นั่นไม่ใช่ว่าแบรนด์ใหญ่เขาจะออมมือให้ ถ้าเขาขยับเราไม่ไหวแน่ ดังนั้นต้องเลือกสิ่งที่โดนให้ลูกค้า ให้กับแบรนด์ ซึ่งการเลือกตรงนี้โคตรยาก มันต้องรอบคอบที่สุด ครีเอท และได้ผลด้วย ในอนาคตถ้า CSPD โตกว่านี้เราเองก็ต้องค่อยๆขยับกิจกรรมและความหลากหลายของสินค้าตาม” สำหรับความฝันและเป้าหมายของ CSPD “พีช” บอกว่า ผมไม่ได้อยากร่ำรวย ไม่ได้อยากเทียบชั้นกับแบรนด์ใหญ่โตโด่งดังว่าต้องเป็นแบบเขา แต่ผมอยากมีความสุขกับสนุก อยากสร้างValueให้แบรนด์มากกว่านี้ อยากทำของดีๆออกมาเรื่อยๆ อยากเห็นแบรนด์ไทยอย่างเราเป็นที่ยอมรับของตลาดทั่วโลก สิ่งเหล่านี้มันท้าทายกว่าการทำธุรกิจเพื่อสร้างแค่เงิน ซึ่งเราก็จะค่อยๆพัฒนา CSPD ให้ดีขึ้นไปอีก และเอาความเห็นต่างๆของลูกค้ามาปรับปรุงในหลายๆด้านของเรา

2,437 views0 comments
bottom of page