Copy of หุ้นกู้ดอกสูงไปไหน ทำไมดูแหม่งๆ

หุ้นกู้ดอกสูงไปไหน ทำไมดูแหม่งๆ #หุ้นกู้อาจเต็มไปด้วยความเสี่ยง #แต่ผู้ชายเสี่ยวเต็มไปด้วยความรัก ข่าวคราวออกหุ้นกู้ภาคเอกชนช่วงนี้ ทำให้ #เสี่ยวCREW รู้สึกแหม่งๆใจคอไม่ดีพิกล จากเคยเป็นทางเลือกการลงทุนที่ดูเสี่ยงน้อย ค่อยๆกินดอกกันไปในภาวะปกติ บัดเดี๋ยวนี้หวือหวาโคตรๆดอกพุ่งไป 7-8% กันแล้ว ท่ามกลางมรสุมถล่มเศรษฐกิจทั่วโลก มันใช่หรอ? ทำไมยอมรับต้นทุนสูงขนาดนี้ ร้อนเงินหรอ? กำไรบริษัทจ่ายดอกกันมันเลยนะ เงินพอจ่ายได้ตลอดทางแน่นะ ไม่พอ!! รัฐยังมาผสมโรงความแหม่งนี้เข้าไปอีกกก กู้เงินมา 4 แสนล้าน ตั้งกองทุนดูแลหุ้นกู้ภาคเอกชน ด้วยเหตุผลที่ ว่า เป็นการช่วยเสริมสภาพคล่องสู่ภาคธุรกิจ ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับภาคการเงินโดยรวม ในมุมมองบ้านๆสไตล์เรา การที่ธุรกิจขนาดใหญ่ดูร้อนเงินแบบนี้มันน่ากังวลแฮะ เพราะการฟื้นตัวของธุรกิจในอนาคตนั้นยากที่จะกลับสู่ภาวะปกติ (เน้นว่าปกตินะฮะไม่ต้องโตหรอก) หากเกิดไรขึ้นมาหุ้นกู้เหล่านี้คงดูไม่จืด แม้จะเป็น Investment Grade ก็ไม่ช่วยอะไรหากมันจะล้ม แต่ไม่เกิดคงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตามไม่ต้องเห็นด้วยกับเราหรอก ที่ร่ายมาเราเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างที่คิดไหม ดูมุมมองมืออาชีพ ผู้บริหารกองทุน ด้วยดีกว่าเนาะ ว่ามันโอมั้ย คุณอิศรา พุฒตาลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.วี ให้คำตอบเรื่องหุ้นกู้ไว้ประมาณนี้ฮะ Q: แนวโน้มการลงทุนในหุ้นกู้ปัจจุบันเป็นอย่างไร? A: ช่วงเดือน มี.ค.- 12 มิ.ย. 63 บริษัทเอกชนมีการจัดหาเงินผ่านการออกหุ้นกู้ระยะยาวจำนวนทั้งสิ้น 15,0571ล้านบาท คิดเป็น 5.71% ของหุ้นกู้ทั้งหมด(รัฐบาล+เอกชน) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 45.73% ผู้ออกหุ้นกู้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ อาทิ PTTGC (AA+) / CPALL (AA-) / CPF (A+) / LH (A+) / FPT (A-) / THANI (A-) / MTC (BBB+) / ANAN (BBB) และ PF (BB+) ทั้งหมดยังได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี สามารถขายหุ้นกู้ได้เกือบเต็มมูลค่าที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขาย ผู้ออก/ มูลค่าที่ได้รับอนุญาต(ลบ.)/ มูลค่าที่ออก(ลบ.)/ เดือนที่เสนอขาย PTTGC 17,000 15,000 เม.ย. 63 CPALL 7,900 7,500 พ.ค. 63 CPF 33,000 25,000 มิ.ย. 63 LH 5,400 5,400 พ.ค. 63 FPT 1,000 1,000 พ.ค. 63 THANI 4,700 4,032 พ.ค. 63 MTC 4,200 4,000 มิ.ย. 63 ANAN 3,000 1,170 เม.ย. 63 PF 400 427 มิ.ย. 63 ข้อมูลจาก: ThaiBMA / SEC Q: ทำไมผู้ประกอบการเอกชนยอมแบกรับต้นทุนสูง กู้แบงก์ดีกว่าไหม? A: แม้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมาจะมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้อันดับเครดิต BBB อายุคงเหลือ 3 ปี ณ สิ้นเดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ 4.22% เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือน ม.ค. 63 อยูที่ระดับ 3.83% จากความกังวล ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ ทำให้นักลงทุนต้องการผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยความเสี่ยง แม้การออกหุ้นกู้ของบริษัทที่มีการจัดอันดับเครดิตในระดับ investment grade จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการกู้จากสถาบันการเงินแล้ว การกู้เงินจากแบงก์ยังมีต้นทุนที่สูงกว่า โดยค่าเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR เฉลี่ย 5 แบงก์ใหญ่อยู่ที่ระดับ 5.36% นอกจากนี้การออกหุ้นกู้ยังเป็นทางเลือกในการจัดหาเงิน คงอัตราดอกเบี้ยได้ในระยะยาว และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของบริษัทเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของธุรกิจในตลาดเงินอีกด้วย Q: มีมุมมองความเสี่ยงระยะยาวในเรื่องนี้อย่างไร? A: ความเสี่ยงระยะยาวในแต่ละภาคอุตสาหกรรมอาจแตกต่างกันบ้าง แต่ภาพรวมแล้วความเสี่ยงที่ส่งผลต่อผู้ลงทุนในตราสารหนี้ คือ ผู้ลงทุนอาจจะไม่ได้รับการชำระดอกเบี้ย หรือ เงินต้นจากผู้ออกหุ้นกู้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ออกหุ้นกู้ อย่างไรก็ตามหากผู้ออกหุ้นกู้ สามารถปรับแผนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ จะทำให้ความเสี่ยงระยะยาวจากการถือหุ้นกู้เป็นเวลานานลดลง ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ จึงได้จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) เพื่อดูแลให้กลไกตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนทำงานได้ ในภาวะที่ตลาดการเงินมีความกังวลจากผลกระทบของโควิด 19 เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและการดำเนินงานของภาคธุรกิจ จนลุกลามกลายเป็นวิกฤตความเชื่อมั่น และบั่นทอนเสถียรภาพของระบบการเงินไทย Q: มีข้อเสนอแนะการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนอย่างไร? A: การลงทุนในหุ้นกู้เอกชนมีโอกาสได้รับผลตอบสูงกว่าการฝากเงิน และยังมีผู้ออกหุ้นกู้อีกหลายรายที่มีอันดับเครดิตที่ดี บริษัทมีแนวโน้มการดำเนินงานที่ดี มีความน่าสนใจลงทุน ทั้งนี้ผู้ลงทุนควรมีความระมัดระวังในการลงทุน โดยเลือกลงทุนในผู้ออกหุ้นกู้ที่มีระดับหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับที่เหมาะสม มีการดำเนินงานและมีกระแสเงินสดที่ดี เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน