top of page

"SSF" กองทุนน้องใหม่หน้าใส เอื้อประโยชน์ให้ใครกันแน่ ?



"SSF" กองทุนน้องใหม่หน้าใส เอื้อประโยชน์ให้ใครกันแน่ ?

#ไม่ว่าSSFจะเอื้อประโยชน์ให้ใครแต่ทั้งหัวใจผมยกให้คุณ


ในอีกไม่กี่สัปดาห์ถึงคราวต้องอำลาปี 2562 อย่างเป็นทางการ ซึ่งเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่กำลังตัดสินใจเลือกลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษี โดยเฉพาะกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่สิ้นสุดอายุใช้ลดหย่อนภาษีภายในสิ้นปี 2562 หลังจากรัฐบาลอนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) มาทดแทนกองทุน LTF โดยจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2563 เพื่อหวังกระตุ้นให้คนไทยเกิดการออมเงิน นอกจากนั้นยังปรับสัดส่วนลดหย่อนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพิ่มขึ้นเป็น 30% ของเงินได้พึงประเมินด้วยเช่นกัน วันนี้ #เสี่ยวCREW กระตุกต่อมความเอะใจพาคุณมาส่งกองทุนน้องใหม่อย่าง SSF ว่าดีแน่หรือไม่ ใช่สำหรับคุณหรือเปล่า

เป็นที่ทราบกันแล้วว่าเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปของกองทุน SSF ส่วนหนึ่งเข้ามาแก้ข้อ "ครหา" ว่ากองทุน LTF เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนรวยได้รับสิทธิทางภาษีมากกว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยเงื่อนไขใหม่เอื้อกับคนรุ่นใหม่ที่เริ่มทำงาน หรือผู้รายได้น้อยและรายได้ปานกลางสามารถออมเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นเท่าตัว แต่กลุ่มรายได้สูงเกินกว่า 1 ล้านบาทต่อปีจะออมเงินเพื่อลดหย่อนภาษีน้อยลงครึ่งหนึ่ง

เนื่องจากเงื่อนไขใหม่การลดหย่อนภาษีของกองทุน SSF มีเพดานซื้อสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท ส่วนกองทุน RMF ไม่ได้กำหนด ดังนั้นเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ได้แก่ กองทุน SSF กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 5 แสนบาทในแต่ละปีภาษี เท่ากับว่าผู้ลงทุนต้องการประหยัดภาษีด้วยแนวทางซื้อกองทุนเพื่อการเกษียณลดหย่อนภาษีทั้งหมดได้สูงสุดปีละ 5 แสนบาท จากเดิมกองทุน LTF และ กองทุน RMF สามารถนำมาลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 1 ล้านบาท

สำหรับหลักเกณฑ์ถือครองกองทุน SSF จำเป็นต้องถือครองถึง 10 ปี นับจากวันที่ซื้อหรือ 12 ปีปฏิทิน กำหนดสิทธิประโยชน์ภาษีไว้ในช่วงปี 2563-2567 จากนั้นค่อยทบทวนว่าจะต่ออายุหรือไม่ ซึ่งแตกต่างกับ LTF ใช้หลักเกณฑ์ถือครอง 7 ปีปฏิทิน ซึ่งในกรณีการปรับเปลี่ยนระยะเวลาการถือครองยาวนานขึ้น จึงมีข้อถกเถียงถึงมุมมองว่าไม่ได้เอื้อกับการออมเงินของผู้ที่มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง เพราะคนกลุ่มนี้มีสัดส่วนน้อยมากที่เข้ามาออมในลักษณะนี้ ขณะที่ส่วนใหญ่มีรายได้ที่ไม่เพียงพอกับการออมเงินด้วยซ้ำ เพราะต้องนำเงินไปใช้หนี้ !!

ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ตอกย้ำถึงถึงประเด็นเงื่อนไขของกองทุน SSF ไม่บังคับให้ลงทุนในหุ้น แตกต่างกับ LTF ที่บังคับให้ต้องลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 65% ไม่น่าจะตอบโจทย์สังคมสูงวัย ที่ต้องทำให้ทุกคนมีรายได้พอใช้หลังเกษียณ เนื่องจากคนไทยยังมีความรู้เรื่องลงทุนน้อย มีแนวโน้มที่คนส่วนใหญ่จะเลือกลงทุนในกองทุนประเภทเสี่ยงต่ำ จะทำให้ผลตอบแทนจะต่ำ อาจทำให้รายได้หลังเกษียณไม่เพียงพอ

แม้ว่าข้อถกเถียงยังดำเนินต่อไปเกี่ยวกับแรงจูงใจลดลงในการซื้อกองทุน SSF จากเวลาถือครองยาวนานขึ้น และการเปลี่ยนแปลงนโยบายไม่ได้บังคับให้ต้องลงทุนในหุ้น อ้างอิงตามสถิติการลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์ พบว่าหุ้นแม้มีความเสี่ยงสูงกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น แต่ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนระยะยาวสูงกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ดังนั้นถ้าเป็นไปตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ แม้ว่าคนไทยจะเลือกออมเงินในกองทุน SSF ที่มีผลตอบแทนที่ต่ำกว่าเดิม ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง คนไทยมีเงินออมไม่เพียงพอใช้ยามเกษียณอายุ แต่เรื่องนี้คงเป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดา เพราะเป็นสิ่งที่เกิดในอนาคต

อย่างไรก็ตาม คนที่อยากออมเงินและประหยัดภาษี ควรคำนึงถึงข้อมูลเกี่ยวกับกองทุน SSF ว่าแต่ละกองทุนจะมีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนอย่างไร เพราะเงื่อนไขของกองทุน SSF นั้นระบุว่าสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภททั้งหุ้น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน ทองคำ น้ำมัน ขึ้นอยู่กับการจัดสรรของผู้จัดการกองทุน เป็นการกระจายเม็ดเงินไปในสินทรัพย์หลากหลายจากที่เคยกระจุกอยู่ในตลาดหุ้น ดังนั้นผู้ลงทุนมือใหม่ต้องศึกษาข้อมูลการลงทุนอย่างรอบคอบ เลือกผู้จัดการกองทุนที่มีนโยบายลงทุนให้เหมาะสมกับผลตอบแทนที่ควรได้รับในระยะยาว เพราะต้องถือครองนานถึง 10 ปีไม่เช่นนั้นซื้อกองทุนผิดชีวิตอาจเปลี่ยนได้

อีกหนึ่งการตั้งข้อสังเกตุของการกระจายลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท กรณีหากรัฐบาลต้องการเงินเพื่อมาลงทุนให้กับประเทศชาติ โดยใช้วิธีการออกเครื่องมือระดมทุนผ่านตลาดเงินและตลาดทุน เช่น กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น กองทุน SSF อาจจะเป็นหนึ่งในทางเลือกช่วยระดมเงินจากคนไทยมาพัฒนาประเทศได้เช่นกัน

เป็นสิ่งที่น่าติดตามต่อไปครับว่า...สุดท้ายแล้วกองทุน SSF จะเอื้อประโยชน์ให้กับใครกันแน่ !!

2 views0 comments
bottom of page