top of page

คนติดกาแฟสู่เทคสตาร์ทอัพ “Nasket”



คนติดกาแฟสู่เทคสตาร์ทอัพ “Nasket”

เราจะเป็นประเทศที่ ก้าวผ่านความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง หลุดพ้น กับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา ด้วยเหตุนี้ “ประเทศไทย 4.0” จึงถูกประกาศเป็นนโยบายขับเคลื่อนประเทศอย่างเป็นทางการ(ตอนแรกเขียนว่ารูปธรรม แต่พอคิดอีกที..ยังไม่ได้ว่ะ) โดยมีเป้าหมายปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม รวมทั้งเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

จากนั้นไม่นานคำว่า Startup ก็แพร่หลายตามมาติดๆ รัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ลงทุนในธุรกิจประเภทนี้ มอบหมายหน่วยงาน ตั้งคณะทำงานสนับสนุน ฯลฯ ด้วยเป้าหมายจะเปลี่ยน Traditional SMEs หรือ SMEs ที่มีอยู่เดิมให้เป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง และหวังว่าไทยจะเป็น “ซิลิคอน วัลเลย์ แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

หากยังพอจำกันได้ช่วงเวลานั้นแม่งโคตรคึกคักเลยฮะ มีแคมเปญโปรโมท แคมเปญสินเชื่อ งานอีเว้นท์ งานสัมมนามากมายก่ายกองเกิดขึ้น แต่..ณ บัดนาวมันก็เงียบลง ข่าวคราวเงียบหาย จนหลายคนอาจลืมไปแล้วว่าเรายังมีธุรกิจนี้อยู่ เนื่องจากไม่ค่อยเห็นสตอรี่ความสำเร็จแบบปังๆเกิดขึ้น ไม่มีข่าวดังๆของสตาร์ทอัพให้ติดตาม บ้างก็บอกว่า Startup ไทยมีอุปสรรคเยอะทั้งแนวคิดการเริ่มธุรกิจ ขาดแคลนบุคลากร เงินทุน และอื่นๆอีกเพียบ

“ภาพรวมเมืองไทยตอนนี้เราไม่ได้ช้านะ แต่เรามีแฟคเตอร์บางอย่างที่ทำให้ตอนนี้ยังสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ เช่น นักลงทุนอยากไปประเทศไหนก่อน อินโดฯก่อน สิงคโปร์ก่อน ช่วงนี้เขาอาจจะอยากไปประเทศที่โตเร็วออกเร็ว คุณภาพไม่ต้องสูงมากก็เข้าไปเวียดนาม แต่มันก็มีบางรายที่ไม่อยากไปสิงคโปร์เขาก็มาสนใจไทย ดีมานด์ตลาดของนักลงทุนเขาก็ปรับเปลี่ยนเป็นช่วงไปเรื่อยๆ ตอนนี้เราถือว่าอยู่ตรงกลางเขาอาจยังไม่ดูปัจจัยนี้

จังหวะอาจยังไม่ได้ก็ต้องหาทาง เราอยู่ไทยแล้วเปลี่ยนสัญชาติเป็นอินโดฯได้ไหมเล่า เอาจริงๆย้ายไปไหนมันก็มีอุปสรรคทั้งนั้น แต่ถ้าคุณมองแต่อุปสรรคก็ลงที่ไหน ทำที่ไหนไม่ได้สักที อย่าเอาแต่ complain สภาพแวดล้อมหันกลับมาดูคู่แข่ง ดูตลาด ดูตัวเราเองแล้วหาทางแก้ไขดีกว่า

เราเองก็มีข้อดีของเรา ฐานมันไม่เหมือนกัน ผมไม่อยากให้ใครมองว่าประเทศไทยช้าหรือสนับสนุนไม่มากพอ เพราะมันเป็นเรื่องความพอใจของแต่ละบุคคล หวังมากก็บอกไม่พอ หวังเท่านี้มันก็พอ ตอนนี้เราถือว่าไม่ได้ช้ามาก ที่ผ่านมามีการเดินหน้ากฎหมาย แก้ไขกฎเกณฑ์หลายอย่างให้เอื้อต่อธุรกิจสตาร์ทอัพมากขึ้น ซึ่งในภาพรวมเรื่องเหล่านี้มันต้องทำไปเรื่อยๆอยู่ดี ไม่มีจบอยู่แล้วเพราะเรื่องใหม่มันๆก็เกิดขึ้นตลอด”

ผรินทร์ สงฆ์ประชา ซีอีโอ Nasket เทคสตาร์ทอัพสัญชาติไทย เล่ามุมมองสตาร์ทอัพเมืองไทยให้ #เสี่ยวCREW ฟังอย่างมันส์ ขณะเดียวกันเราก็แอบเห็นด้วยกับแนวคิด ว่า จะทำอะไรก็แล้วแต่ในยุคนี้ทางมันก็มีของมันอยู่ ต้องดิ้นกันทั้งนั้น เราเองต่างหากปรับตัวได้ดีแค่ไหน หาวิธีไปให้มันรุ่งได้หรือเปล่า

ธุรกิจของ Nasket (นาสเกต) ถือกำเนิดจากการติดกาแฟของ ผรินทร์ ที่วันหนึ่งมีเรื่องไม่คาดคิด “กาแฟหมด” แล้วดันเป็นแบรนด์ที่หาซื้อยาก มีขายเฉพาะที่ ไปอีก แว๊บหนึ่งเลยแอบคิดขึ้นมาว่าถ้าตอนนี้มันมีเครื่องให้เราสแกนบาร์โค้ด “ติ๊ด” แล้วของมาส่งข้างล่างวันพรุ่งนี้น่าจะดี เฮ้ย!! ไอเดียนี้ดีว่ะ ชอบๆจากนั้นก็เก็บเรื่องนี้ไปนั่งคิด นอนคิดอยู่เป็นสัปดาห์ เพราะในระหว่างนั้น (ก่อนเริ่มธุรกิจ) มีไอเดียผุดขึ้นมาเยอะมาก ทำนู่นบ้าง ทำนี่บ้าง ผ่านไปอาทิตย์นึง

กลับมาถามตัวเองว่ายังชอบไอเดียนี้อยู่ไหม สรุปว่าไอเดียนี้ยังอยู่ ยังน่าสนใจ ลองทำดูดีกว่าประมาณนั้น หลังจากนั้นก็เริ่มเดินหน้าธุรกิจของตัวเองอย่างเป็นจริงเป็นจัง เอาประสบการณ์การผู้บริหารในองค์กรขนาดใหญ่มาผสมผสานเข้ากับ Business Model ใหม่ที่ได้ไปเรียนรู้มาซึ่งก็คือ เทคสตาร์ทอัพ

การเริ่มต้นเท่าที่ฟังมาบอกเลยฮะพี่น้อง โคตรทุลักทุเล ยากลำบาก เพราะอีเครื่องชื่อ “นาสเกต” ที่เอาไว้ใช้สแกนบาร์โค้ดสั่งซื้อสินค้าจากสารพัดร้าน แล้วรอรับสินค้าทุกชิ้นได้พร้อมกันในครั้งเดียวนี้ มันไม่เคยมีใครทำมาก่อนบนโลก ซึ่งหมายความว่า ผรินทร์และคณะ ต้องสร้างโมเดลของอุปกรณ์ขึ้นใหม่ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ซอฟท์แวร์ใหม่ ระบบบริหารจัดการสินค้า การจัดส่งสินค้า การรับสินค้า พูดง่ายๆคือสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่เองหมด คล้ายๆกับการสร้างเครื่องบินขึ้นมาครั้งแรกของโลกอ่ะ (อ่านผ่านตัวหนังสือก็คงเฉยๆกันแหล่ะ ลองไปทำเองดิไม่ต้องขนาดนี้ก็ได้เอาแค่ร้านออนไลน์ ขายไรก็ได้ง่ายๆเล็กๆ เพียงเท่านั้นก็จะสัมผัสได้ถึงคำว่า ชีวิตเปลี่ยน)

กว่าจะเป็นเครื่อง นาสเกต เวอร์ชั่นปัจจุบันที่ดูหล่อเหลาไม่แพ้โดม ปกรณ์ ลัม จนไปคว้ารางวัล European Product Design Award 2017 ทดลองทำมาแล้วเป็น 10 โมเดล ซึ่งแต่ละโมเดลก่อนหน้านี้ไม่เคยก่อให้เกิดรายได้ หมดทุนไปอีกหลายล้าน สิ่งที่ได้รับจากแต่ละโมเดลที่ทำมามีแค่ คอมเมนท์จากผู้ใช้ว่าไม่ชอบอะไร พฤติกรรมการใช้งานต้องปรับตรงไหน

“ด้วยความไม่รู้ว่าเขาทำกันอย่างไร พอลูกค้าบ่น ลูกค้าแซว อยากได้หน้าตาสวยๆ เราก็ปรับไปเรื่อยจนไปจ้างดีไซน์เนอร์มาช่วย ตอนนั้นค่าดีไซน์ ค่าทำเครื่อง ค่าถ่ายทำวีดีโอ รวมๆแล้วเป็นล้าน ได้ออกมาเครื่องเดียว พอถ่ายทำเสร็จจอแตก เฮ้อออ ทำไงดีจะมีอะไรไปขาย เงินเก็บก็หมดแล้ว ตอนนั้นจะเลิกทำแล้วล่ะ เลยลองไปคุยกับคนผลิตก่อนว่ามันพลาดตรงไหน ซึ่งมันไม่ใช่ความผิดของคนดีไซน์ แต่เขาก็ทำดีไซน์ใหม่ให้ฟรีเป็นเวอร์ชั่นปัจจุบันที่ได้รางวัลนี่ล่ะ

แต่มันไม่จบแค่นั้น โรงงานไทยผลิตไม่ได้ค่าขึ้นโมพลาสติกเป็นสิบล้านเลย คิดเลยคงทำต่อไม่ไหว แต่ก็ลองทำตัวต้นแบบขึ้นมาเองก่อนด้วยพีวีซีทั้งหมด 40 เครื่อง แล้วก็ไปคุยกับทาง King Power ขอไปติดตั้งที่โรงแรมพูลแมนเอาไว้ใช้สแกนสั่งของฝากจากแคตตาล็อกในโรงแรม ขณะเดียวกันก็พยามทำโมขึ้นมาเองเรื่อยๆจนเริ่มเห็นพัฒนาการ ก็หันมาพัฒนาระบบวงจรไส้ใน เอาไปให้วิศวกรจากเยอรมันนีดีไซน์โดนไปอีก 1 ล้าน แต่มันออกมาดีมากนะ สุดท้ายเราก็ไปขายไอเดียกับ Angel Investor ไปขายกระดาษว่ามันเป็นแบบนั้นแบบนี้นะ ก็เลยได้เงินมาต่อธุรกิจในช่วงแรก”

ปัจจุบัน นาสเกต ขายได้แล้วววนะจ๊ะประมาณ 3,000 กว่าเครื่อง โดยเป็นการขายแบบ B2B ให้กับโครงการคอนโดมีเนียมของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ อาทิ แสนสิริ ออริจิ้น ซึ่งลูกค้าคอนโดฯที่ใช้เครื่องส่วนใหญ่มียอดการสั่งซื้อสินค้าสม่ำเสมอ แผนลำดับต่อไปคือการขยายตลาด B2B และ B2C เพิ่มเติม โดยจะเน้นไปที่คอนโดมิเนียมในเขตเมืองย่าน CBD ก่อน เพื่อควบคุมต้นทุนและมาตรฐานของการขนส่งให้นิ่ง ควบคู่ไปกับการพัฒนา Eco System ให้มีความสมบูรณ์แบบ

นอกจากการสั่งซื้อสินค้าแล้ว นาสเกต ยังสามารถใช้จ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟ แค่เอาบิลมาแสกนบาร์โค้ดก็จ่ายบิลได้ทันที มีพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมให้บริการอื่นๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น FIXZY บริการช่างซ่อมบำรุง / Seekster แม่บ้านทำความสะอาด ดูแลงานบ้านต่างๆ / Let’s Relax สปา นวดผ่อนคลาย / Bar B Q Plaza เป็นต้น ผรินทร์ยังแอบบอกเราว่ามีอีกหลายรายเลยที่จะเข้ามาร่วมให้บริการผ่านนาสเกตในอนาคต ที่น่าจะได้เห็นเร็วๆนี้คงจะเป็นร้านเกี่ยวกับความหล่อ ความสวย

สุดท้ายนี้ขอสรุปให้ฟังว่า นาสเกต เข้ามาแก้ปัญหาอะไรให้กับชีวิตประจำวันบ้าง

ใช้ง่ายไม่ต้องลงทะเบียน เสียบปลั๊กใช้งานได้เลย ต่อเน็ตได้โดยไม่ต้องกรอก Wi-Fi มีซิมการ์ดในตัว บางทีคนแก่ที่บ้านอาจกรอกไม่ ไม่ต้องเสียเวลาเลือกสินค้าจากเมนู ไม่ต้องเข้าเว็บไปหาไปสั่ง เอาบาร์โค้ดมาสแกนก็สั่งได้เลย แถมสั่งจากร้านไหนก็ได้ มีรอบจัดส่งแน่นอน วันละ 1 ครั้งเวลา 1 ทุ่ม โดยจะส่งให้ที่ลอคเกอร์สินค้าของแต่ละห้อง ไม่มีข้อจำกัดเรื่องปริมาณขั้นต่ำ ราคาขายเท่าหน้าร้าน หน้าจอใช้ฟังก์ชั่นอินเตอร์คอมได้ง่ายแค่โทรเข้าเครื่อง (สะดวกในกรณีมือถือไม่อยู่กับตัว)

สรุป: ลองคิดดูแล้วกันว่าในอนาคตเราอยู่บ้านจิ้มๆหน้าจออันนึง สินค้าและบริการทุกอย่างก็มาเสิร์ฟให้ถึงที่มันจะสะดวกแค่ไหน ฝั่งคนขายเองก็มีช่องทางจำหน่ายเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น โมเดลแบบนี้ไปต่อได้แบบพึ่บพั่บทั้งในและต่างประเทศไหม?? มาลุ้นและเอาใจช่วยกันต่อไป









19 views0 comments
bottom of page