top of page

ธรณี ”หนี้” นี้เอายังไง



ธรณี ”หนี้” นี้เอายังไง



ย้อนกลับไปประมาณปีกว่าๆ “หนี้เสีย” หรือ “NPL” อยู่ในอาการที่หลายคนบอกว่าไม่ค่อยน่าห่วง เนื่องจากยังมีสัดส่วนต่ำเมื่อเทียบกับยอดรวมสินเชื่อทั้งระบบ (แถวนี้คิดว่าน่าห่วงมานานแล้ว) เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มเติบโตได้ ภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ แต่วันนี้...ชีวิตเริ่มเปลี่ยน!!

มุมมองต่อการเพิ่มขึ้นของ NPL ในอัตราเร่ง เริ่มสะท้อนความกังวลหลากหลาย อาทิ การกล่าวถึงหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูง การออกมาตรการควบคุมสินเชื่อรูปแบบต่างๆ การปิดกิจการของผู้ประกอบการขนาดกลาง-ขนาดเล็กที่เพิ่มมากขึ้น การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ การตั้งสำรองที่สูงขึ้นของธนาคารพาณิชย์ ฯลฯ


กระหน่ำซ้ำเติมด้วยภาพรวมเศรษฐกิจที่ไม่สดใส ชะลอตัวยาวๆ ส่งผลกระทบต่อการบริโภค การใช้จ่าย การลงทุนภาคเอกชน ห่อเหี่ยวลงเรื่อยๆ และช่วงต่อจากนี้ภาพรวมเศรษฐกิจก็ดันมีความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยลบต่างๆต่อไปอี้กกก (ไม่ใช่แค่ “ไทย” เป็นทั้งโลกเราหนีห่วงโซ่นี้ไม่ได้อย่าโทษรัดบาน) ยิ่งเป็นปัจจัยกดดันให้”ความนอยด์” ได้เวลาออกฤทธิ์


#เสี่ยวCREW สรุปข้อมูล NPL ล่าสุดและทิศทางของมันมาให้ ลองพิจารณาดูฮะว่าควรนอยด์ไหม ?


- NPL ไตรมาส 2 อยู่ที่ 4.5 แสนล้านบาท หรือ 2.95% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบ (ลดลงจากไตรมาส 1 ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และตัดหนี้สูญ)


- NPL ไตรมาส 3 อยู่ที่ 4.7 แสนล้านบาท หรือ 3.03% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบ


- ธนาคารพาณิชย์บางแห่งตั้งสำรองเพื่อหนี้สงสัยจะสูญมากขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง บางแห่งระบุว่าการตั้งสำรองที่สูงขึ้นเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ที่จะเริ่มใช้ใน ม.ค.63


- สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ Special Mention: SM (หนี้ที่กำลังจะเสียจ่ายไม่ไหวนั่นแหล่ะ) ณ ไตรมาส 2 อยู่ที่ 4.18 แสนล้านบาท 2.74% ของยอดสินเชื่อรวมทั้งระบบ และมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น


- ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้รายได้ของบุคคลทั่วไป-ผู้ประกอบการลดลง และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ตามมา (ไม่มีตังค์เลยไม่จ่ายนั่นเอง) สวนทางกับ NPL และ SM ที่มีโอกาสโตมากขึ้น


- แนวโน้มไตรมาส 4 สำนักพยากรณ์เศรษฐกิจหลายแห่งให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า สถานการณ์ NPL น่าจะกดดันมากขึ้น เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่มากระตุ้นรายได้ของบุคคลทั่วไป-ผู้ประกอบการ ธนาคารพาณิชย์จะดูแล NPL อย่างใกล้ชิด ระมัดระวังมากขึ้น เพื่อให้ NPL ณ สิ้นปีออกมาต่ำกว่าไตรมาส 3 โดยวิธีการ คือ เร่งปรับโครงสร้างหนี้ และการขายหนี้ให้บุคคลที่ 3


- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้ความเห็นว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้ระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจ SME ที่ด้อยลง มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ดำเนินการไปช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง


- ยังต้องติดตามพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ พฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SME การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร


#สรุป: หนี้ที่โชว์กันอยู่เวลามันหายไปหรือลดลง ส่วนใหญ่เกิดจากการตัดออกหรือให้คนอื่นมารับไป ซึ่งมันก็ทำให้ตัวเลขทางบัญชีดูดีขึ้น หนี้ลดอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ได้แปลว่าหนี้มันถูกชำระทั้งหมด แค่ย้ายไปกองอีกที่ไม่ให้ใครเห็น ดังนั้นตอนนี้เรามีหนี้เสียสะสมอยู่ในระบบเพียบ อาจถึงหลักล้านล้านบาทไปแล้วด้วยมั้ง ยิ่งเศรษฐกิจหน่วงๆ เสี่ยงๆ แบบนี้ก็มีความเป็นไปได้สูงที่หนี้จะโตพึ่บพั่บกันได้อีก

ข้อมูลจาก: ธนาคารแห่งประเทศไทย

0 views0 comments
bottom of page