top of page

ปรับทัศนคติ!!ตะลุยความเสี่ยง


ปรับทัศนคติ!!ตะลุยความเสี่ยง

“ความผันผวนจะคงอยู่กับเราไปอีกสักระยะหนึ่งและคงไม่ใช่ระยะสั้นๆ ความยากคือไม่รู้ว่าจะอยู่กับเรานานเพียงใด”

ยุทธพล ลาภละมูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.ภัทร ให้มุมมองเกี่ยวกับการลงทุนในช่วงต่อจากนี้ และคาดว่าโมเมนตัมของความผันผวนจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนเริ่มกลับมาดีขึ้น แต่ถ้าเรามองกลับด้านสิ่งที่เฟดประกาศว่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เกิดคำถามตามมาคือ เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะไม่ได้เติบโตต่อเนื่องและยาวนานอย่างที่ทุกคนคิดหรือไม่

ปัจจุบันการจัดพอร์ต Asset Allocation จำเป็นต้องเลือกสินทรัพย์ที่ดีในการกระจายความเสี่ยง การลงทุนตลาดหุ้นไทยนั้นเชื่อว่าคงขึ้นได้ไม่มาก เนื่องจากมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนทั้งในประเทศและนอกประเทศ เช่น การเจรจาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ที่คาดหวังว่าจะมีผลไปในทิศทางที่ดี แต่อย่าลืมว่าสงครามครั้งนี้ก็ไม่ได้ยุติ การยืดเยื้อออกไปทำให้มีผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกแน่นอน

ส่วนในประเทศการเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ เชื่อว่าตลาดคงตอบรับไปแล้ว สิ่งที่คาดเดาได้ยากคือเสถียรภาพของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร นโยบายเศรษฐกิจยังดำเนินการต่อเนื่องได้ตามแผนยุทธศาสตร์เดิมหรือไม่ ??

ปัจจุบันมิติเรื่องของ Valuation และมิติด้าน Growth ยังไม่เห็นสัญญาณที่เป็นบวกชัดเจน กำไร บจ.ไทย คงไม่สามารถเติบโตได้น่าสนใจจนต้องเพิ่มพอร์ตการลงทุนหุ้นมากๆ ล่าสุดธีมลงทุนที่ฝ่ายวิจัยเราทำก็เน้นบริหารความเสี่ยงเป็นหลัก กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น ตราสารหนี้ กองทุนอินฟราฟันด์ฯ เป็นต้น ในมุมมองการลงทุนในสินทรัพย์หุ้นนั้น ยังคงให้น้ำหนักเป็น Underweight”

ขณะที่การลงทุนสินทรัพย์ตราสารหนี้ ก็ยังไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่สูงนัก แต่ก็ถือเป็นทางเลือกถือครองสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในระดับหนึ่ง ปัจจุบันเน้นเพิ่มถือครองเงินสดมากกว่าสถานการณ์ในช่วงปกติ เพื่อเป็นกระสุนเข้าซื้อสินทรัพย์ในราคาถูกหากเกิดภาวการณ์ปรับฐานของราคา

บลจ.ภัทร ยังมีมุมมองระมัดระวังการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ปีนี้คาดว่าดัชนีจะอยู่ที่ 1,640 จุด แต่การแกว่งตัวจะเป็นกรอบที่กว้างตั้งแต่ฐานล่างที่ 1,500 จุด และกรอบด้านบนที่ 1,750 จุด อ้างอิงกับกำไรต่อหุ้น (Earning per Share) 110 บาท กำไร บจ. โต 6% ฉะนั้นถ้าต้องการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ก็แนะเลือกลงทุนได้แค่บางกลุ่มเท่านั้น

บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี เป็นหนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์ต่างชาติ เปิดข้อมูลการลงทุนในช่วงนี้ว่า ต้องจับตาประเด็นการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเป็นสำคัญ โดยล่าสุดสื่อต่างประเทศรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐกำลังเตรียมข้อตกลงการค้าในขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จะลงนามร่วมกันในไม่ช้านี้ พร้อมระบุว่าการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐและจีนอาจจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนมี.ค.นี้

สำหรับทิศทางของ Asset Class ต่างๆ ในเดือนมีนาคม จะยังขึ้นกับ 1) ผลการเจรจาปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่มีการเลื่อนเวลาการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนออกไปจากเส้นตายเดิมในวันที่ 1 มี.ค. 2) กระบวนการ Brexit 3) ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก 4) ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของประเทศต่างๆ 5) ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน 6) การประชุมธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเพื่อกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ

โดยรวมคาดว่าตลาดหุ้นและราคาน้ำมันจะปรับขึ้นต่อในเดือนนี้ ส่วนตราสารหนี้และราคาทองคำจะทรงตัวหรือมีราคาปรับตัวลดลง

ปัจจัยที่ต้องติดตาม

12 มี.ค. สหรัฐประกาศตัวเลข CPI YoY เดือน ก.พ. จากเดือนก่อนหน้าที่ 1.6% 14 มี.ค. สหรัฐประกาศตัวเลข Retail Sales Advance MoM เดือน ก.พ. จากเดือนก่อนหน้าที่ -1.2% 15 มี.ค. : สหรัฐประกาศตัวเลข Industrial Production MoM เดือน ก.พ. จากเดือนก่อนหน้าที่ -0.6%

เราให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นที่ 30% ในปีนี้จากความเสี่ยงหลายประการที่จะเป็นตัวฉุด upside ของตลาดหุ้นทั่วโลก ให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ที่ 50% เนื่องจากมองทิศทางการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศต่างๆ เริ่มเข้าสู่สมดุลต่อภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ไปแล้ว ทำให้ downside risk ของราคาตราสารหนี้จำกัด ในขณะที่ตราสารทางเลือกอื่นๆ อย่าง ทองคำ น้ำมัน กองทุนอสังหาฯ และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กองทุน LTF RMF (เพื่อการลดหย่อนภาษี) ให้น้ำหนักการลงทุนที่ 5%

สำหรับหุ้นไทยเราแนะนำ ให้ทยอยสะสม หากดัชนีปรับฐานลงมาที่ระดับ 1,620 -1,600 จุด สำหรับกองทุนต่างประเทศ แนะนำให้ลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในทองคำ, กองทุนที่ลงทุนในกองทุน REIT หรือหน่วยลงทุนในกองทุนอสังหาฯ และกองทุนที่ลงทุนตลาดหุ้นอาเซียน




0 views0 comments
bottom of page