top of page

มติอัปยศ ! ไฟเขียวควบรวม TRUE-DTAC "กสทช." ไม่มีอำนาจ หรือ ไม่ยอมใช้ ?


มติอัปยศ ! ไฟเขียวควบรวม TRUE-DTAC "กสทช." ไม่มีอำนาจ หรือ ไม่ยอมใช้ ? #ไม่อยากเป็นทรูไม่อยากเป็นดีแทค #เราอยากเป็นแค่คนดีของเธอ

20 ต.ค.ที่ผ่านมา ผลประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเสียงข้างมาก “รับทราบและกำหนดเงื่อนไข” การควบรวม 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคม ระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) . หลังจากนั้น "ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์โทรคมนาคมและหนึ่งในผู้ร่างกฎหมาย กสทช. ถึงกับต้องโพส Facebook ส่วนตัวถึงผลการประชุมนี้ว่า "มติอัปยศ"... . "สำหรับผมการที่ กสทช.อ้างว่าไม่มีอำนาจห้ามการควบรวม เป็นมติอัปยศของเสียงข้างมากโดยแท้ เพราะ กสทช.จงใจตัดอำนาจของตน ไม่ทำหน้าที่ตามกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนอย่างร้ายแรง เพราะจะทำให้ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยมีการผูกขาดมากขึ้น" "ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" ชี้ชัดถึงสิ่งที่เกิดและกำลังจะเกิดขึ้น . ที่จริงก่อนหน้านี้มีสัญญาณมาพอสมควรว่า จะมีการ "เล่นกลทางกฎหมาย" ว่า กสทช.ไม่มีอำนาจห้ามควบรวม ตามที่ผู้บริหารสำนักงาน กสทช. บางราย มีท่าทีชี้นำมาโดยตลอด แม้ศาลปกครองได้เคยพิจารณาแล้วว่า กสทช.มีอำนาจเต็มที่จะให้การควบรวมเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ . ราวกับว่ามีอำนาจแต่ไม่ยอมใช้ หรือจงใจตีมึนปล่อยให้การควบรวมดำเนินต่อไปได้ เพราะผู้ทำธุรกรรมดันเป็นเจ้าสัวใหญ่นายทุนยักษ์ของบ้านเราเสียด้วยสิ... . งานเขียนของ "สฤณี อาชวานันทกุล" นักเขียนและนักวิชาการอิสระด้านการเงินและธุรกิจที่ยั่งยืน ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เหตุการณ์นี้เข้าข่าย "การยึดกุมกลไกกำกับดูแล" (Regulatory Capture) โดยกลุ่มผลประโยชน์อย่างชัดเจน ซึ่งมีจุดข้องใจ 4 ประเด็น ประกอบด้วย ... . 1. กรรมการ กสทช. 2 ราย มองว่า TRUE กับ DTAC ไม่ใช่กิจการประเภทเดียวกัน 2. ประธาน กสทช. ออกเสียงคนเดียวสองครั้งในมติเดียวกัน 3. กรรมการ กสทช. ที่ลงมติ ‘รับทราบ’ จำกัดอำนาจตัวเอง คนหนึ่งได้รับการสรรหามาในฐานะกรรมการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค อีกคนเป็นกรรมการด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน 4. ประธานกรรมการ กสทช. ที่ออกเสียงสองครั้ง ไม่เคยมีประวัติหรือผลงานใดๆ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ผ่านการสรรหาจากวุฒิสภา . น่าสงสัยเหลือเกินว่า "การยึดกุมกลไกกำกับดูแล" ในกรณีนี้เกิดขึ้นที่ระดับใดบ้าง ตั้งแต่ระดับสำนักงาน กสทช. หรือ คณะกรรมการ กสทช. หรือระดับวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. . กรณีแบบนี้เกิดขึ้นชัดเจนมาครั้งหนึ่งแล้ว คือมติฉิวเฉียดของ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) อนุญาตให้ "กลุ่มบริษัทซีพี" ควบรวมกิจการค้าปลีกของ "บริษัท เทสโก้ โลตัส" . ย้อนกลับมาที่ความเห็นของ "ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" ระบุว่า การควบรวมหากปล่อยให้เกิดขึ้นแล้วมันแก้คืนไม่ได้ !!! และผลกระทบจะตกเป็นของผู้บริโภคโดยตรง แม้จะมีเงื่อนไขว่าการควบควมครั้งนี้ต้องลดราคาเฉลี่ยลง 12% ใน 90 วันหลังควบรวม . แต่ผลการศึกษาในภาพรวมโดยนักวิชาการไทยหลายสถาบันชี้ว่า ราคาค่าบริการหลังควบรวมอาจสูงขึ้น 2-23% ในกรณีที่ไม่มีการสมคบราคากัน (ฮั้ว) ระหว่างผู้ประกอบการ 2 รายที่เหลืออยู่ แต่หากมีการฮั้วราคากัน อัตราค่าบริการอาจสูงขึ้นถึง 120-244% และ GDP ของประเทศจะหดตัวลง 0.5-0.6% . เช่นเดียวกันกับผลการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศของ กสทช. เอง ที่ชี้ไปในทางเดียวกันว่า ไม่ควรอนุญาตให้มีการควบรวม . น่าแปลกใจเหลือเกิน!! ที่สุดท้ายกลับถูกปล่อยผ่านไปได้เฉย...... . อย่างไรก็ดีล่าสุด สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เข้ายื่นหนังสือต่อ คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของ กสทช. 3 คน และ รักษาการเลขาธิการ กสทช. กรณีการพิจารณาการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC . เพราะในการพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ 775/65 ของศาลปกครองกลางที่ผ่านมา กสทช.ได้ยอมรับต่อศาลปกครองว่า กสทช.สามารถใช้อำนาจตามกฎหมาย ในการห้ามไม่ให้มีการรวมธุรกิจได้ ซึ่งเป็นไปตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ที่ระบุว่า กสทช.มีอำนาจอนุญาต หรือไม่อนุญาต การรวมธุรกิจฯได้ . ซึ่ง กสทช. ควรพิจารณาใช้อำนาจลงมติในการอนุญาต หรือไม่อนุญาต ให้รวมธุรกิจตามคำวินิจฉัยของศาลปกครอง ไม่ใช่เพียงแต่ลงมติรับทราบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ซึ่งการทำเพียงรับทราบ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ ? . เรื่องนี้คงต้องติดตามกันอีกยาว แต่ที่แน่ ๆ หากปล่อยให้การควบรวมเกิดขึ้นจริง ผู้บริโภคได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะเดิมคู่แข่งขันในธุรกิจนี้ก็น้อยอยู่แล้ว หากลดจาก 3 เหลือ 2 บันเทิงแน่นอน... . เมื่อไหร่หนอที่หน่วยงานที่มีอำนาจสูงสุดตามกฎหมาย จะทำตามหน้าที่ของตนได้อย่างสมศักดิ์ศรีและภาษีของประชาชนจริง ๆ กันเสียที....

2 views0 comments
bottom of page