top of page

ระฆังดีไม่ตีก็ดังเข้าตลาดหุ้นประตูหลังพังๆก็เพียบ


การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม หรือ ที่เรียกติดปากว่า Backdoor Listing จัดเป็นวิธีการเข้าตลาดหุ้นที่เร็วที่สุด แค่มีตังค์เปย์เพื่อซื้อบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่แล้ว กระบวนการใช้เวลาเพียง 3-6 เดือนเป็นอันเสร็จพิธี ต่างจากวิธีการทำไอพีโอที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี วิธีการนี้จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากหลังวิกฤติปี 40 เป็นต้นมา

กลุ่มเป้าหมายส่วนมากจะเป็นบริษัทที่ธุรกิจใกล้เจ๊งหรือมีผลประกอบการแย่ลงต่อเนื่อง เพราะราคาจะย่อมเยาและเจรจาง่าย แต่ในความง่ายและรวดเร็วก็มาพร้อมกับความบกพร่องในมาตรฐานและการตรวจสอบคัดกรองที่เหมาะสม หุ้นส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้จึงยังตกอยู่ในวังวนเดิม แม้จะเปลี่ยนเจ้าของหรือผู้บริหารใหม่ยังคงไม่ทิ้งภาพหุ้นขายฝัน หุ้นเก็งกำไร และเป็นหุ้นผลประกอบการห่วยเหมือนเดิม

ในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมามีหุ้นที่ถูกแบ็คดอร์รวมทั้งสิ้น 8 บริษัท เชื่อไหมว่ามีถึง 5 บริษัทหรือเกินกว่าครึ่งที่ผลงานยัง..........เหมือนเดิม (เติมคำในช่องว่างด้วยจินตนาการที่หนักหน่วง เริ่ม!!) ที่น่าตกใจคือมีรายหนึ่งโดนพักการซื้อขายไปเรียบร้อยแล้ว 5 บริษัทนี้มีอะไรบ้าง

อ่านต่อในแคปชั่นใต้ภาพนาจาาาาาา



บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH)

แมงเม่ารายเล็กรายใหญ่คงรู้จักกันดี เพราะปีก่อนเขาปัง (ปัง-ปิ๊-นาศ) มาก EARTH มาจากการแบ็คดอร์ บมจ. แอ๊ดว้านซ์เพ้นท์ แอนด์ เคมิเคิล (APC)

เมื่อปี 53 โดยเปลี่ยนจากธุรกิจสีทาบ้านเป็นธุรกิจถ่านหิน ธุรกิจก็ดำเนินมาด้วยดีหลายปี ตามเทรนด์ของอุตสาหกรรม ราคาหุ้นช่วงพีคๆ เคยขึ้นไปถึง 8.85 บาทในช่วงปี 56 จากช่วงราคาราว 2 บาท ตอนเข้ามาใหม่ ๆ

ธุรกิจมีกำไรตลอด มีการจ่ายปันผลผู้ถือหุ้นตามปกติ ล่อใจแมงเม่าเป็นอย่างดี จนวันหนึ่งความแตก !!! ธุรกิจเป็นเพียงเอกสารลวงโลกและวิศวกรรมการเงินล้วนๆ กู้เงินแบงก์มาหมุนจนพันขาตัวเองหกล้ม ขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินใช้หนี้ โดนฟ้องร้อง และผู้บริหารโดดข้อหาอินไซด์ซื้อขายหุ้น

ทุกวันนี้”โลกแตก”หุ้นโดนขัง ห้ามซื้อขาย ไปเป็นที่เรียบร้อย รายย่อยที่หนีตายไม่ทัน 6,949 ราย ก็ทำใจกันไป


บมจ.ณุศาศิริ (NUSA)

หรือเดิมชื่อ บมจ.อั่งเปา แอสเสท (PAO) เข้าตลาดฯด้วยการแบ็คดอร์ บมจ.ไทยเกรียง กรุ๊ป (TDT) เมื่อปี 54 เปลี่ยนจากธุรกิจสิ่งทอเป็นอสังหาริมทรัพย์ รายนี้สร้างความฮือฮาตั้งแต่กลับเข้าเทรดผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ประเดิมเทขายหุ้น 100 ล้านหุ้น หรือ 2.64% สร้างความปั่นป่วนต่อราคาหุ้น

โดนตลาดหลักทรัพย์สั่งเทรดเงินสดตั้งแต่วันแรกที่กลับเข้าซื้อขาย

หลังจากนั้นราคาหุ้นก็ขึ้นๆ ลงๆ แถมเพิ่มทุนเก่งมาตลอดทาง เป็นอีกหนึ่งหุ้นเก็งกำไรของชาวเม่า ผลประกอบการขาดทุนมาตั้งแต่ปี 59 ยันครึ่งแรกของปีนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นกดราคาหุ้นต่ำบาทมา 2 ปีแล้ว ล่าสุดเหลือเพียง 0.33 บาท มีรายย่อยถือหุ้น 6,360 ราย

แต่เดี๋ยวก่อนน...เรื่องมันยังไม่จบแค่นั้นครับคุณตำรวจ ล่าสุด “กลุ่มกิตติอิสรานนท์” นักลงทุนบิ๊กเนมและอดีตผู้หุ้นใหญ่ SUPER เข้ามาทยอยเก็บหุ้น NUSA อย่างต่อเนื่อง จนขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แทน "กลุ่มเทพเจริญ" ผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมที่แบ็คดอร์เข้ามาตอนแรก คล้ายกับการทำแบ็คดอร์รอบใหม่ ต้องจับตาว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรทางธุรกิจหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อราคาหุ้นอย่างแน่นอน ลองดู SUPER เป็นตัวอย่างสิจ๊ะตัวเอง


บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ (CGD)

ของตระกูล "เตชะอุบล" //// หึหึ รู้นะคิดอะไรอยู่ ///เข้าตลาดฯด้วยการแบ็คดอร์ บมจ.แลนด์มาร์ค ดีเวลล็อปเม้นท์ด้วยความมุ่งหวังในการแตกไลน์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เข้าตลาดมาเมื่อปี 53 เป็นหุ้นเก็งกำไรที่ได้รับความนิยม ราคาหุ้นจากระดับต่ำบาท พุ่งไปพีกถึง 3.52 บาท ล่าสุดเหลือ 1.45 บาท

ผลประกอบการไม่ต้องพูดถึง ขาดทุนตั้งแต่ปี 58 จนถึงปัจจุบัน มีแผนปั้นโครงการอสังหาฯใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ แต่ไม่ยักมีกำไร มันก็แปลกๆ ดีนะ รายย่อย 5,720 รายที่แหงกอยู่กับพี่เค้าก็คงคิดเหมือนกันแหล่ะว่าไหม


บมจ.ดิจิตอลเทค แพลนเน็ต (DIGI)

แบ็คดอร์ บมจ.แอสเซท ไบร์ท (ABC) เดิมทำธุรกิจอสังหาฯ กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาเติมธุรกิจ E-Payment และ E-commerce แต่!!.... หุ้นตัวนี้เป็นพวกเสพติดการขาดทุน

ไม่ว่ากลุ่มเดิมหรือกลุ่มใหม่ ผลประกอบการก็เน่าเหมือนเดิมแถมผู้บริหารยังพัวพันคดีปั่นหุ้น พัวพันคดีฉาว "ครูอ้อย เข็มพิษ(ทิศ)ชีวิต" ราคาหุ้นจากระดับต่ำบาท พุ่งไปพีคถึง 12.72 บาท (โคตรรพีค) ล่าสุดกลับมาเทรดที่ 0.27 บาทอีกครั้ง อย่างเฟี้ยวพี่บอกเลย DIGI นี่เสมอต้นเสมอปลายขาดทุน 4-5 ปีติดเลยทีเดียวเชียว มีเหล่าชาวเม่าร่วมถือหุ้นเป็นพยาน 5,367 ราย



บมจ.ดีมีเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (DCORP)

แบ็คดอร์ บมจ.เอเซีย จอยท์ พาโนราม่า (AJP) หรือ “อาจารย์เพชร” (เกจิชื่อดังวงการหุ้น) รุกธุกิจแบบหลากหลาย แปลกๆ เปลอะๆ ไปเรื่อย ทั้ง พลังงาน ไอที มีเดีย อีเวนท์ หนักสุดน่าจะเป็นสปากระเป๋าแบรนด์เนม (แต่ไม่เป็นรูปเป็นร่างสักอัน) จากเดิมที่ทำธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม AJP พ้นจากการฟื้นฟูธุรกิจหลังโดนพักการซื้อขายไปตั้งแต่ปี 40 พอกลับมาเทรดเมื่อปี 56 ราคาหุ้นก็พุ่งไปเทรดระดับเกือบ 17 บาทจากก่อนโดนพักการซื้อขายราคาอยู่ที่เพียง 0.23 บาท

จนมาเปลี่ยนกลุ่มผู้ถือหุ้นเมื่อปี 58 หลังจากนั้นก็เล่นข่าวจะทำธุรกิจใหม่เยอะแยะมากมาย ขณะเดียวกันผลประกอบการก็ขาดทุนเยอะแยะต่อเนื่องเช่นกัน ราคาหุ้นล่าสุดเหลือแค่ 2.8 บาท ... ครับสวัสดีครับ

33 views0 comments
bottom of page