top of page

“ส่วยทางหลวง” ฟันกำไร 300 กว่าเท่า!! ธุรกิจต้นทุนต่ำ รัฐใจป้ำจ่าย Fixed cost



“ส่วยทางหลวง” ฟันกำไร 300 กว่าเท่า!! ธุรกิจต้นทุนต่ำ รัฐใจป้ำจ่าย Fixed cost #รับส่วยเป็นเรื่องทุจริตรักคนผิดเป็นเรื่องสุดเสียใจ

“ส่วยทางหลวง” ช่วงนี้กำลังดังเลย แต่แท้จริงมันมีมานมนานกาเลแล้วล่ะ . #เสี่ยวCREW มีโอกาสทำความรู้จักกับมันครั้งแรกน่าจะร่วม 20 ปีได้ สมัยยังวิ่งข่าวภาคสนาม พี่ๆ สมาคมรถบรรทุกเอาเรื่องนี้มาร้องเรียนที่กระทรวงคมนาคม แบบน่ารักๆ ว่า “ค่าสติกเกอร์ก็จ่ายไปแล้ว ทำไมยังมาจับ มาเอาเพิ่ม เอาอะไรนักหนา แค่นี้ก็จะไม่มีกำไรอยู่แล้ว” . มาถึงปัจจุบันส่วยสติกเกอร์นี้ก็ยังอยู่ครับ แต่คาดว่าราคาคงปรับขึ้นตามยุคสมัย เพราะข้าวของแพง อะไรต่อมิอะไรแพง บริษัท ส่วยสติ๊กเกอร์ จำกัด (มหาชน) (นามสมมติ) จึงมีความจำเป็นต้องเก็บค่าบริการแพงขึ้น . จากข้อมูลของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยคือ ส่วยสติ๊กเกอร์ มี 2 ประเภท ประกอบด้วย • ส่วยสติ๊กเกอร์สายสั้น (รถบรรทุกวิ่งภายในจังหวัดเดียว) ราคาขั้นต่ำ คันละ 3,000 บาท/เดือน • ส่วยสติ๊กเกอร์สายยาว (รถบรรทุกสามารถวิ่งข้ามจังหวัดได้) ราคาขั้นต่ำ คันละ 5,000 บาท/เดือน ปัจจุบันรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปมีจำนวน 1.4 ล้านคัน แบ่งเป็นรถบรรทุกที่ติดส่วยสติ๊กเกอร์จำนวน 10% . ทั้งนี้ หากเราลองคิดรายได้ของ บมจ. แห่งนี้แบบขำๆ โดยคำนวณจากอัตราค่าบริการเฉลี่ยของสติกเกอร์ทั้ง 2 แบบ (4,000 บาท x 140,000 คัน) จะมีรายได้อยู่ที่ 560 ล้านบาท/เดือน และ 6,720 ล้านบาท/ปี (รายได้คำนวณโดยยังไม่คิดค่าแรกเข้ารายปี) คาดว่าอัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 90% . ในด้านของต้นทุนเรียกได้ว่า ต่ำโคตรๆ เนื่องจากมีเพียงค่าผลิตสติกเกอร์ PVC พิมพ์ลายสำหรับติดรถยนต์ ราคาสูงสุดไม่เกิน 10 บาท/แผ่น จำนวน 1.5 แสนแผ่น/เดือน (บนสมมติฐานเปลี่ยนสติกเกอร์ให้ลูกค้าทุกเดือน และมีการพิมพ์เผื่อ) จะมีต้นทุนอยู่ที่ 1.5 ล้านบาท/เดือน และ 18 ล้านบาท/ปี . ค่าใช้จ่ายประจำอื่นๆ สามารถควบคุมได้อย่างดีเยี่ยม อาทิ ถนนที่ให้ลูกค้าวิ่งไม่ต้องทำเอง ถนนพังไม่ต้องซ่อมเอง บุคลากรไม่ต้องจ้าง รัฐนำเงินงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน นิติบุคคลมาจ่ายให้ทั้งหมด . ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจแทบไม่มี เพราะลูกค้ามีโอกาสใช้บริการซ้ำสูง ถ้าไม่ใช้ซ้ำก็ไปเบียดเบียนก่อกวนให้มาใช้จนได้ การตรวจสอบจับกุมฐานรับส่วย ถึงมีก็ไม่เคยจับใครได้ ธุรกิจจึงสามารถดำเนินมาได้หลายสิบปี . จากการบริหารจัดการระดับเทพดังกล่าว ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 37,300% หรือ 373 เท่า และคาดว่าจะสามารถบริหารให้ดีอย่างนี้ได้อย่างสม่ำเสมอ . อย่างไรก็ตามการดำเนินธุรกิจของ บริษัท ส่วยสติ๊กเกอร์ จำกัด (มหาชน) (นามสมมติ) สร้างความเสียหายให้กับส่วนรวมอยู่พอสมควร เนื่องจากลูกค้าของบริษัทมักบรรทุกของเกินพิกัดกฎหมาย วิ่งตอนไหนก็ตามใจฉัน ขนของ ปรับแต่งรถ แบบไม่คำนึงความปลอดภัย เป็นสาเหตุให้ถนนพังเป็นว่าเล่น ซ่อมแล้วซ่อมอีก . จากรายงานประจำปีกรมทางหลวงปีงบประมาณ 2565 การบำรุงรักษาทางหลวงใช้งบอยู่ที่ประมาณ 20,455 ล้านบาท โดยถูกใช้มากที่สุดสำหรับงานบำรุงพิเศษและบูรณะ (เกินเยียวยาซ่อมไม่ไหว เช่น ราดยางใหม่ เทคอนกรีตใหม่ ทั้งช่วง ทั้งเส้น ฯลฯ) 7,346 ล้านบาท . รองลงมาคือ งานซ่อมบำรุงผิวทาง (อุด โบก ฉาบ ปะ ซ่อม ฯลฯ) 5,914 ล้านบาท อ่อ..งบทั้ง 2 ส่วนนี้ไม่รวมกับงบฟื้นฟูทางหลวง ซึ่งเป็นการพังที่เกิดจากภัยธรรมชาติ . ส่วนการจับกุมรถบรรทุกที่ทำผิดกฎหมาย บรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งเป็นสาเหตุให้ถนนพังก็มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถติ 3 ปีย้อนหลังมีดังนี้ ปี 63 จับได้ 2,796 คัน / ปี 64 จับได้ 2,891 คัน / ปี 65 จับได้ 3,488 คัน . งบประมาณในการซ่อมของที่ไม่ควรเสียเหล่านี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่การจับกุมกวดขันเป็นไปอย่างซอฟท์ๆ น่ารัก แถมยังมี บริษัท ส่วยสติ๊กเกอร์ จำกัด (มหาชน) (นามสมมติ) มาเป็นปัจจัยเร่งเพิ่มความฉิบหายเข้าไปอีก . นี่ยังไม่นับรวมความสูญเสียด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ประชาชนต้องแบกรับ เช่น อุบัติเหตุ เวลาในการเดินทาง ความสิ้นเปลืองพลังงาน การทำลายสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ลองพิจารณาดูแล้วกัน ว่ามันควรไม่มีอยู่จริง ตรวจไม่เจอ ปล่อยเบลอต่อไปหรือไม่

219 views0 comments
bottom of page