top of page

หุ้นจ๊าบฝ่ากระแส “ดิสรัปชั่น”


นักลงทุนคาดหวังอะไรจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ? กำไรโต อัตราส่วนกำไรดี ธุรกิจขยายตัวต่อเนื่อง ฐานะการเงินมั่นคง มีปันผล ราคาหุ้นดี ฯลฯ อะไรประมาณนี้น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนอยากเห็นและอยากได้จากหุ้นที่ลงทุนอยู่ แต่ในยุคนี้คงต้องยอมรับและปรับทัศนคติกันใหม่ เพราะการโตชิลๆ โตโครมคราม ธุรกิจราบรื่นมั่นคงแบบที่ผ่านมา อาจไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆอีกต่อไป

ในช่วงครึ่งหลังปี 61 ถึงไตรมาสแรกที่ผ่านมา หลายคนคงผ่านตากันบ้างกับเหตุการณ์กำไรลดฮวบฮาบของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ ที่เคยรุ่งเรือง มีกำไรโตมาอย่างต่อเนื่อง (จริงๆอีกหลายแห่งเกิดก่อนหน้านั้นมานานแล้ว เช่น กลุ่มธุรกิจสื่อ) สถานการณ์แนวนี้จริงๆมันก็เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายอย่าง อาทิ สภาพเศรษฐกิจโดยรวม กำลังซื้อ การผันแปรของต้นทุน สงครามการค้า การกีดกันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จนถึงการดิสรัปชั่นทางธุรกิจ

อย่างไรก็ตามหลายกลุ่มธุรกิจมีการปรับ Business Model ที่โคตรจ๊าบ เพื่อให้สถานการณ์ทางธุรกิจปรับตัวดีขึ้น สามารถสร้างการเติบโตในภาวะที่ปัจจัยร้ายรุมเร้า และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในอนาคต ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นอีกเรื่องสำคัญที่นักลงทุนต้องนำมาประกอบการพิจารณาลงทุน #เสี่ยวCREW เอาความจ๊าบบางส่วนมาให้ดูกัน


ธุรกิจทีวีดิจิทัลในไทย เป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่กำลังอยู่ในช่วงขาลงชัดเจน นอกจากการเเข่งขันทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องแล้ว มูลค่าเม็ดเงินโฆษณายังลดลงอย่างมีนัยสำคัญตามภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สดใส และที่สำคัญคือเม็ดเงินโฆษณาส่วนใหญ่ไหลเข้าไปในสื่อออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้ 7 ช่องทีวีดิจิทัลต้องยอมยกธงขาวคืนใบอนุญาตในที่สุด แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือ การบุกอย่างหนักของ "ซูเปอร์แพลตฟอร์ม" จากผู้เล่นต่างประเทศ อาทิ เน็ตฟลิกซ์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ เป็นต้น

บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) (WORK) ผู้ผลิตคอนเทนต์ และเจ้าของช่องทีวีดิจิทัล ปัจจุบันยังค่อนข้างมีความแข็งแรง ผลิตคอนเทนต์เป็น Talk of the town หลายครั้งบนโลกโซเชียลมีเดีย ล่าสุดรายการเวทีแลกหมัดดารา "10 FIGHT 10" กลับมาสร้างกระแสผู้ชมเรียกเรตติ้งได้ดีอีกครั้ง รวมถึงรายการอื่นๆที่น่าสนใจ ทำให้นักวิเคราะห์หุ้นหลายสำนักมีมุมมองเป็นบวกกับทิศทางกำไรในช่วงที่เหลือของปีนี้

ที่น่าสนใจคือ "เวิร์คพอยท์" มีรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์ 200-300 ล้านบาท/ปี มียอด Subscribers บนแพลตฟอร์มยูทูปผ่านช่อง "WorkpointOfficial" สูงถึงเกือบ 24 ล้านคน เป็นอันดับ 70 ของโลก แต่ในอนาคตคงต้องมาลุ้นกันว่าโมเดลธุรกิจที่มีความแตกต่างกับผู้เล่นรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน จะเป็นสิ่งผลักดัน "เวิร์คพอยท์" ฝ่ากระแสดิจิทัลดิสรัปชั่นไปได้อย่างมั่นคงหรือไม่

อุตสาหกรรมธนาคารไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เห็นได้ชัดจากกรณี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) ตัดสินใจดิสรัปชั่นตัวเอง ด้วยการประกาศลงทุนดิจิทัลแพลตฟอร์มครั้งใหญ่ และในปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายของแผนการลงทุนด้วยงบ 1 หมื่นล้านบาท ถือว่าสูงกว่า 3 ปีที่ผ่านมาที่ลงทุนเฉลี่ย 6-7 พันล้านบาท/ปี เป้าหมายหลักคือการลดต้นทุนในทุกๆมิติ ย้ายการให้บริการในสาขามาอยู่บนมือถือเป็นหลัก ขยายฐานลูกค้าเข้ามาในโมบายแบงกิ้งของ SCB ให้มากที่สุด

เบื้องต้นวางเป้าหมายผู้ใช้งานดิจิทัลแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นเป็น 12 ล้านรายในสิ้นปีนี้ เป็นประโยชน์สำคัญในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้อยู่บนช่องทางดิจิทัลมากขึ้น

เช่นเดียวกับ ธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) (KBANK) เดินหน้าเข้มข้นเพิ่มประสิทธิภาพดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง โดยกลยุทธ์สำคัญคือการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเพิ่มฐานลูกค้าในดิจิทัลแพลตฟอร์ม เช่น K+ หรือเชื่อมต่อแพลตฟอร์มอื่นในโลกโซเชียล เพิ่มฐานรายได้จากการปล่อยสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ปัจจุบันมีผู้กู้ยืมราว31.3 ล้านราย

และปีนี้ทุ่มงบลงทุนกว่า 5 พันล้านบาท เพื่อต่อยอดพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีและบุคลากร ผ่านบริษัทในกลุ่มกสิกร "บิซิเนส–เทคโนโลยี กรุ๊ป" (KBTG) มีเป้าหมายเป็นธนาคารอัจฉริยะพัฒนาไกลกว่าการเป็นเพียงธนาคาร หรือแพลตฟอร์มบนโทรศัพท์มือถือ และใช้นวัตกรรมสร้างคุณค่าให้แก่ทุกคน โดยในปี 2564 มีเป้าหมายเป็นองค์กรเทคโนโลยีติดอันดับหนึ่งของไทย และติดอันดับต้นๆในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนเป็นที่น่าติดตามเช่นกัน เพราะถ้าย้อนไปในอดีตรัฐบาลส่งเสริมพลังงานทดแทนหลายด้าน ส่งผลให้เกิดภาวะการเเข่งขันสูงขึ้น นโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐลดลงจากเดิม เกิดความไม่คุ้มค่าเพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงแต่มีผลตอบแทนต่ำ และในอนาคตมีโอกาสต่ำลงไปเรื่อยๆ

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนรายใหญ่ กำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากแผนลงทุนโรงงานในการผลิตแบตเตอรี่ "Energy Storage" คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2 ปี เพื่อรองรับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ ปัจจุบันได้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าขึ้นเองจากฝีมือวิศวกรคนไทยเป็นรถอีวีสัญชาติไทยชื่อ “MINE” และผลิตเรือไฟฟ้าชื่อว่า “อีเฟอรี่” ใช้ขนส่งผู้โดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาแทนเรือโดยสารเดิมๆที่มีมลพิษพร้อมกับต่อยอดขยายสถานีชาร์จไฟฟ้ามีแผนเพิ่มเป็น 1,000 แห่งภายในสิ้นปีนี้ ถ้าโมเดลดังกล่าวประสบความสำเร็จจะช่วยผลักดันไทยก้าวเข้าสู่ระบบ Smart Transport ได้ในอนาคต

1 view0 comments
bottom of page