top of page

"หุ้นบริหารหนี้" โอกาสทองบนซากปรักหักพัง



"หุ้นบริหารหนี้" โอกาสทองบนซากปรักหักพัง

"ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก"

โคตรคม โคตรได้อารมณ์ โคตรตรงความรู้สึกในยามนี้

เศรษฐกิจมึนงง การลงทุนผันผวนนนน


ตลาดหุ้นไทยต้นสัปดาห์ร่วงมากกว่า 100 จุด วอลุ่มซื้อขายทะลุแสนล้านบาท นักลงทุนแห่ทิ้งหุ้นกลุ่มพลังงานเครือ ปตท. ดิ่งติดฟลอร์จนแทบจะเรียก ป่อเต็กตึ๊ง มหาวิกฤตนี้เป็นผลมาจากการประชุมกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ล่ม!! ผู้นำรัสเซีย งัด ซาอุฯ ไม่เข้าร่วมข้อตกลงลดกำลังผลิต


เหตุการณ์ลักษณะนี้คงพอเดาได้ถึงต้นตอของราคาน้ำมันที่ลดลง เพราะภาพรวมเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกิจกรรมทางการค้าและการลงทุนทั่วโลกชะงักรวดเร็ว ฉุดความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกหดตัวอย่างมีนัยสำคัญ


ส่วนเศรษฐกิจไทย!! แม้จะไม่วิกฤต (ใช่ป่าววะ) แต่ก็เรียกได้ว่าผู้คนกำลังหดหู่ รู้สึกขาดความมั่นคงในชีวิตไม่แตกต่างกับภาคธุรกิจผู้ประกอบการขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่ เข้าร่วมโครงการผ่อนผันชำระหนี้กับธนาคารเอกชนและธนาคารรัฐบาลกันถ้วนหน้า บางรายแบกรับภาระไม่ไหวก็กลายเป็นหนี้เสียไป หนักจัดก็ปิดกิจการ!!


แต่...ท่ามกลางความแย่ของธุรกิจอื่น มันก็มีคนที่อาจโตอย่างโดดเด่น "ธุรกิจบริหารจัดการหนี้" เรียกง่ายๆว่าซื้อหนี้เสียของผู้ผิดนัดชำระหนี้ (NPL) และสินทรัพย์ที่โดนยึด (NPA) เข้ามาบริหาร ในยามที่เศรษฐกิจไม่ดีธุรกิจประเภทนี้ก็เข้าไปหาซื้อหนี้จากสถาบันการเงินในราคาถูก (แบงก์ก็อยากขายแหละ เพื่องบที่สวยงาม) ระหว่างทางก็รับกระแสเงินสดเข้ามาสม่ำเสมอจากดอกเบี้ยบวกเงินต้นของลูกค้า หรือกรณี NPA ราคาขยับเพิ่มขึ้นทุกปี เพิ่มมูลค่าให้กับหนี้เป็นทรัพย์สินโดยอัตโนมัติ ก่อนจะทยอยเก็บเกี่ยวดอกผลแบบเต็มไม้เต็มมือในยุคที่เศรษฐกิจกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหลังจากลูกค้ามีศักยภาพในการชำระหนี้ดีขึ้น


“ช่วงนี้เป็นโอกาสทองธุรกิจบริหารจัดการหนี้ เพราะมีโอกาสคว้าของราคาถูกปัจจุบันภาพรวมสินเชื่อในระบบของไทยอยู่ที่ประมาณ 16 ล้านล้านบาท ท่ามกลางเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ ยิ่งเร่งแนวโน้ม NPL เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนคาดมาอยู่ที่กว่า 3% เทียบกับกรณีภาวะปกติจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5% ถ้าตีเป็นมูลค่าหนี้ NPL ปีนี้อาจทะลุ 5 แสนล้านบาท”นักวิชาการด้านหนี้เสน่หา เล่าให้ฟังแบบชิลๆ


หนี้ NPL มูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท อาจถูกแบ่งออกมาประมูลขายในราคาต่ำกว่าภาวะปกติ เพราะการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง จำเป็นต้องเร่งขายหนี้ออกมามากกว่าเดิม เพื่อลดภาระตั้งสำรองหลังปรับใช้เกณฑ์มาตรฐานบัญชีใหม่เป็นผลบวกภาพรวมอุตสาหกรรมธุรกิจบริหารจัดการหนี้ที่มีโอกาสเลือกซื้อหนี้เข้ามาต่อยอดการเติบโตได้มาก


สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยที่ประกอบธุรกิจบริหารจัดการหนี้ ประกอบด้วย 3 บริษัทชั้นนำ ได้แก่ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) / บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) / บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO)


ถ้าเทียบชั้นกันแล้ว BAM นับเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม มีพอร์ตลูกหนี้สูงกว่า 4.6 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เน้นหนี้ที่มีหลักประกัน แตกต่างกับ JMT มีพอร์ตบริหารหนี้กว่า 1.74 แสนล้านบาท และ CHAYO มีพอร์ตบริหารหนี้กว่า 5 หมื่นล้านบาท พอร์ตหนี้ส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกัน


แผนเข้าประมูลหนี้ของทั้ง 3 บริษัทในปี 63 ประกอบด้วย BAM มีแผนเข้าซื้อหนี้มูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาท /JMT มีแผนเข้าซื้อหนี้เพิ่มมูลค่า4.5-6 พันล้านบาท /CHAYO มีแผนเข้าซื้อหนี้เพิ่มมูลค่า7.5 พันล้านบาทข้อมูลจากสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) รวบรวมบทวิเคราะห์คำนวนค่าเฉลี่ยราคาหุ้นเหมาะสมของ 3 บริษัท ดังนี้


- BAM ราคาพื้นฐาน 29.00 บาท/หุ้น


- CHAYO ราคาพื้นฐาน 6.20 บาท/หุ้น


- JMT ราคาพื้นฐาน 22.45 บาท/หุ้น

0 views0 comments
bottom of page