top of page

“หนี้เสีย อีส คัมมิ่ง”



“หนี้เสีย อีส คัมมิ่ง” #เอ็นพีแอลไม่ดีต่อเศรษฐกิจแต่มีเธอในชีวิตมันดีต่อหัวใจ #อย่างโหด #กลัว สิ้นเดือนนี้แล้วนะจ๊ะ มาตรการพักชำระหนี้รอบแรกจะสิ้นสุดลง หลายแบงก์มีออกมาตรการมาเพิ่ม เพื่อพยุงกันต่ออีกระยะ เพราะเห็นทรง “ลูกหนี้” หลายรายแล้วคงรอดยาก งานก็ไม่มี ตังค์ในกระเป๋าหดหาย จะชำระหนี้ได้อย่างไร

แถมภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ ก็ไม่เอื้อให้ธุรกิจต่างๆสามารถฟื้นตัวได้ Soft Lone ที่รัฐออกมาช่วย ก็เข้าถึงยากไปอีก ลูกหนี้หลายรายไม่ผ่านเกณฑ์ ด้านแบงก์ก็ไม่อยากเพิ่มความเสี่ยงให้ตัวเอง

#เสี่ยวCREW เดาว่าไม่นานเกินรอ เราจะเห็นหนี้เสียพุ่งอย่างแรง!! และคงหนีไม่พ้นที่ปัญหานี้ จะเป็นอีกปัจจัยที่ฉุดภาพรวมเศรษฐกิจให้ร่อแร่

จับตาหนี้เสียพุ่ง กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย • คาดการณ์ NPLสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 3.5% สูงสุดในรอบ 16 ปี จากปัจจุบันที่ 3.23% • ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า NPL มีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 5% • หลังหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ประเมินว่ามีหนี้เสียที่ซุกอยู่ใต้พรมอีกมหาศาล หลายภาคธุรกิจจะยังไม่ฟื้นตัวง่ายๆ โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว • ประเมินว่า 6 เดือนข้างหน้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการเงินสภาพคล่องถึง 1.3 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมามีลูกหนี้ที่ขอพักชำระตามมาตรการช่วยเหลือเพียง 30-40% เท่านั้นที่กลับมาจ่ายหนี้ได้ ส่วนที่เหลือยังขาดสภาพคล่อง • มาตรการที่เหมาะสมสำหรับยับยั้งปัญหาหนี้เสีย ภาครัฐต้องขยายมาตรการเพื่อต่อลมหายใจเพิ่มอีกอย่างน้อย 2 ปี มิเช่นนั้นจะเกิดหนี้เสียผุดขึ้นมาจำนวนมาก และส่งผลให้สถาบันการเงินต้องตั้งสำรองมากขึ้นตามไปด้วย

จัดการกิจการผีดิบ ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ • สถาบันการเงินควรเร่งคัดกรองลูกหนี้ชั้นดี กับลูกหนี้ชั้นเลว สำหรับการช่วยเหลือในระยะถัดไป เพื่อป้องกันปัญหา "ซอมบี้เฟิร์ม" คือ ผู้ประกอบการที่ธุรกิจไปต่อไม่ไหว แต่ประคองตัวได้จากมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีเนื่องจากจะทำลายระบบโดยรวม • ควรตัดออก แล้วช่วยเหลือธุรกิจชั้นดีให้อยู่รอดมากกว่า เพราะหากสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลาย กลุ่มนี้จะมีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า

สึนามิหนี้ครัวเรือน ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย • ก่อนเกิดโควิด-19 หนี้ครัวเรือนไทยสูงอยู่แล้ว มูลค่าราว 7 ล้านล้านบาท หรือ 70% ของ GDP ปี 62 ซึ่งหนี้ครัวเรือนนี้ แบ่งใหญ่ๆ ออกได้เป็น หนี้บุคคลที่มีหลักประกัน เช่น หนี้เงินกู้ซื้อบ้าน หนี้เช่าซื้อรถยนต์ ฯลฯ และหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน เช่น หนี้บัตรเครดิต และหนี้เงินกู้เพื่อการบริโภคอื่นๆ ฯลฯ • มาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินเปรียบเหมือนการ "แช่แข็งปัญหา" เท่านั้น ซึ่งหากหมดมาตรการต่างๆ ปัญหาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นตัวตาม และมีโอกาสเห็น “สึนามิหนี้ครัวเรือน” • คาดปี 64 หนี้ครัวเรือนจะพุ่งเป็น 12.2 ล้านล้านบาท เกือบเท่าตัวจากปี 62 • การที่แบงก์ชาติได้ประกาศขอให้ธนาคารพาณิชย์ จัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนสำหรับระยะ 1-3 ปีข้างหน้า และขอให้งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลรวมถึงการซื้อหุ้นคืน เพื่อรักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็งและรองรับการทำธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณที่เตือน ว่า คุณภาพของสินทรัพย์ที่สำคัญของระบบธนาคารพาณิชย์ คือ ลูกหนี้ อาจมีคุณภาพด้อยลง • จำเป็นต้องเก็บกำไร หรือสินทรัพย์สภาพคล่อง ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในเงินกองทุนเอาไว้ในสภาวะแบบนี้ โดยเฉพาะหากมีหนี้เสียเพิ่มขึ้น และต้องมีการตั้งสำรอง อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของธนาคารได้หากไม่เตรียมความพร้อม

จับตาธุรกิจล้ม-คนตกงานเพียบ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence และ Actuarial Science and Risk Management คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ • ตั้งแต่ไตรมาส 3/63 เป็นต้นไป ให้จับตาดูผลกระทบที่แท้จริงของโควิด-19 มองว่าอัตราการว่างงานจะพุ่งเป็นจรวด จะมีการเลิกจ้างงานท่วมทะลักทลาย จะมีการลดขนาดองค์กรเพื่อให้อยู่รอด คนไทยจะตกงานหลายล้านคน โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยว จะหายไปมาก แรงงานนอกระบบได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะภาคการท่องเที่ยวใช้แรงงานนอกระบบค่อนข้างมาก เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ธุรกิจก็ไม่มี กิจการไม่มีทางเลือกก็ต้องเลิกจ้าง • กิจการที่จะอยู่รอดต้องเป็นกิจการที่แข็งแกร่งจริงๆ มีจุดขายเฉพาะตัว แต่กิจการที่ฐานไม่แข็งแรงจะล้มหายตายจากเป็นเบือ ซึ่้งเริ่มเห็นมากขึ้นในช่วงนี้ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคารจำนวนมาก แม้กระทั่งร้านส้มตำเล็กๆ ริมทางก็ยังปิดกิจการ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญเงียบเป็นป่าช้า • หนี้เสียภาคเอกชนจะล้นทะลัก เพราะมีบริษัทที่ไปต่อไม่ไหว ล้มละลาย จะเป็นปัญหาอันหนักหน่วงของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลต่อกำไรลดลง แต่จะไม่หนักเท่าปี 2540 ที่ตอนนั้นยังไม่ได้ระวังเรื่องหนี้เสียและการตั้งสำรองเท่าปัจจุบัน ซึ่งรัดกุมกว่ามาก

5 views0 comments
bottom of page