top of page

อุ๊ต๊ะ...ประกันสังคม



ประกันสังคมจะปรับเพดานสูงสุดการเก็บเงินสมทบจาก 750 บาท เป็น 1,000 บาทแล้วนะจ๊ะ รู้ยังน่าจะเห็นข่าวกันแล้ว เรื่องนี้จัดว่าเด็ด เพราะโดนด่ายับ! มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆท่านๆ คงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกระส่ำระส่าย และมีคำถามมากมาย ว่า เก็บเพิ่มไปทำเพื่อ? เพราะไอ้ที่จ่ายไปอยู่แล้วนั้นมันให้ความรู้สึก “ไม่ค่อยคุ้มค่า” สักเท่าไหร่ #ประกันสังคมเก็บเท่าไหร่ใครจ่ายบ้าง ? ปัจจุบันประกันสังคมเรียกเก็บเงินสมทบ 10% ของเงินเดือน โดยเก็บจากลูกจ้าง 5% และเก็บจากนายจ้าง 5% โดยมีเพดานสูงสุดอยู่ที่ไม่เกิน 750 บาท/เดือน ทั้งในฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง และรัฐบาลช่วยจ่ายอีกส่วนที่ 412.50 บาท #เอาไปไหน ไปทำอะไร เราได้ประโยชน์ยังไงเหรอ ? - ใช้ด้านสิทธิประโยชน์การประกันสุขภาพ 30% ครอบคลุมกรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร พิการ อุบัติเหตุ สามารถใช้สิทธิประกันสังคมเพื่อรักษาได้ตามโรงพยาบาลที่เลือกไว้ - ใช้เป็นหลักประกันการว่างงานในกรณีถูกเลิกจ้าง 10% หากว่างงานสามารถรับเงินชดเชยกรณีว่างงาน รับเงินชดเชยได้ ไม่เกิน 15,000 บาท/ 3 เดือน - ใช้เป็นเงินออมหลังเกษียณ 60% หลังเกษียณที่จะได้คืนตอนอายุ 55 ปีในอัตราเดือนละ 3,000 บาท ทีนี้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ออกมาประกาศว่าจะมีการปรับขึ้นเงินสมทบจากเพดานสูงสุด 750 บาท เป็นสูงสุด 1,000 บาท และจากที่ต้องส่งถึงอายุ 55 ปีก็จะเพิ่มขึ้นเป็นอายุ 60 ปี และในแง่ผลประโยชน์ของผู้ประกันตน ก็จะได้รับผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้นในทุกสาขา ทั้งเงินชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง เงินสงเคราะห์กรณีคลอดบุตร และเงินบำนาญหลังเกษียณ ฟังดูมันก็ดีมิใช่หรือ แล้วจะโวยกันทำไม? กลับมาดูชีวิตจริงของพวกเราดีกว่า ถามว่าจ่ายได้ไหม คำตอบคือ จ่ายได้แหล่ะ (ไม่จ่ายได้ไงถ้าออกมาจริงมันคือการบังคับ 555) แต่เงินที่จ่ายไปเราค่อนข้างคาดหวังอะไรมากกว่านี้หน่อย เพราะเงิน 5% ของเงินเดือนที่เรากำลังพูดถึง มันคือเงินที่เราเอาหยาดเหงื่อแรงงานไปแลกมา และหากจำเป็นต้องจ่ายก็ควรจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่านี้ ทุกวันนี้ถ้าป่วย เมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลด้วยการใช้ประกันสังคม สิ่งที่ทุกคนจะได้พบ คือ เรามักจะถูกจัดแยกออกจากผู้ป่วยอื่น โดยมีทีมแพทย์ ทีมพยาบาล รวมทั้งสัดส่วนอาคารเป็นของตนเองอย่างชัดเจน สภาพแออัดยัดเยียด ป่วยไข้ คออักเสบ ท้องเสียอาหารเป็นพิษ เข้าคิวรอพบแพทย์วันละไม่ต่ำกว่า 300 คิว ป่วยไปต้องไปนั่งรอเช้ายันเย็น แทนที่จะพักผ่อนอยู่บ้านฟื้นฟูร่างกาย หลายๆคนคงรู้สึกเหมือนกัน การใช้ประกันสังคมในทุกรูปแบบ เหมือนเราถูกแบ่งแยกชนชั้นเป็นพลเมืองชั้น 2 ที่ต้องคลานเข่าเข้าไปที่สำนักงาน ที่โรงพยาบาลและขอร้อง อ้อนวอน กราบกราน ให้เจ้าหน้าที่ทำงานของตัวเอง สุดท้ายถ้าต้องพบหมอจริงๆ ก็อดไม่ได้ ที่จะเลี้ยวรถไปคลินิคหรือโรงพยาบาลเอกชนแทน เพราะอยากได้คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าการเข้าไปใช้บริการประกันสังคม #สรุป คือ เงินที่จ่ายไปถ้าไม่เป็นอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยหนักหนาสาหัสก็แทบไม่ได้ใช้ อย่างไรก็ตามเราจ่ายได้และยอมจ่าย เพราะแม้การบริการจะแย่ในฐานะผู้ป่วยนอก แต่วันนึงถ้าเจ็บหนักต้องล้มหมอนนอนเสื่อ นอนโรงพยาบาล พิการทุพลภาพ ก็ยังคิดว่าคุ้มค่า . . ในด้านเงินบำนาญประกันสังคมที่ได้รับเป็นรายเดือนหลังจากอายุ 55 ปี ในเกณณ์เก่าพนักงานเงินเดือน 20,000 บาท ได้เงินบำนาญจากประกันสังคมเดือนละ 3,000 บาท เกณฑ์ใหม่จะเพิ่มขึ้นเป็น 4,000 บาท และได้รับหลังจากอายุ 60 ปี . . คำถามคือ เมื่อคุณอายุ 55-60+ แล้ว มีเงิน 3,000-4,000 บาท แก่แล้ว เรี่ยวแรงก็ไม่ค่อยมีไปทำงานอะไรเพิ่ม คุณสามารถยังชีพอยู่ได้ด้วยเงินเท่านี้จริงๆหรือ ข้าวของก็แพงขึ้นตามเงินเฟ้อ ที่เฟ้อด้วยอัตราปกติอีก . . #เรื่องราวทั้งหมดมันก็เป็นแบบนี้แหล่ะครับพี่น้อง . . ว่ากันตามหลักธรรมชาติ คนเราจ่ายเงินซื้อของหรือบริการอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่อยากได้ตอบแทน คือ สินค้าและบริการที่ดี แต่เมื่อเปรียบเทียบกับความจริงที่ได้รับจากประกันสังคมในปัจจุบันแล้ว หลายท่านก็รู้สึกได้เองว่ามันไม่ตอบโจทย์ในแง่ความคุ้มค่า ดังนั้นเมื่อ สปส.โพล่งออกมาว่าจะเก็บตังค์เพิ่ม จึงไม่แปลกอะไรเลยที่ลูกค้าทั้งประเทศจะโวยวาย เพราะที่ผ่านมาประกันสังคมไม่เคยพิสูจน์ตัวเองให้เห็น ว่า ผู้ประกันตนได้รับสิทธิที่ดีขึ้น มีมาตรฐานมากขึ้น . . นี่ยังไม่นับประเด็นอื่นๆอีกนะเฟ้ยยย เช่น นายจ้างที่จ่ายสมทบนั้นหาได้มีสวัสดิการอะไรตอบแทนไม่ แนวทางจัดการค่าใช้จ่ายในอัตราเร่งที่เกิดจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการของ สปส.ที่พุ่งปรี๊ด ความโปร่งใสในการบริหารจัดการกองทุน การป้องกันการแทกแซงจากนโยบายรัฐนโยบายทางการเมือง ฯลฯ . . #สุดท้ายนี้ บ่นให้ตาย ก็ต้องจ่ายเหมือนเดิม ทางเราไม่ติดอะไร แต่ถ้าช่วยทำให้ผู้ประกันตนสบายใจ น่าจะได้ใจและลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปได้เยอะ คุณล่ะครับ มีประสบการณ์กับระบบประกันสังคมแบบไหนกันบ้าง ? (ข้อสอบอัตนัย 10 คะแนน) เริ่ม !!!

1 view0 comments
bottom of page