top of page

อัพเกรดสเตตัส “กลางกระจ้อน”



อัพเกรดสเตตัส “กลางกระจ้อน”


“กลางกระจ้อน” คำนี้ถูกบัญญัติจากที่ไหนสักแห่งในโลกออนไลน์ อารมณ์ว่าเอา “รวยกระจุก จนกระจาย” สมาสกันขำๆกลายเป็น “กลางกระจ้อน” ซึ่งหมายถึง ชนชั้นกลางผู้โชคร้าย ทำงานปากกัดตีนถีบจ่ายภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย เงินเข้าระบบทุกบาททุกสตางค์ แต่กลับมีคุณภาพชีวิตต่ำเตี้ยเรี่ยราด ใช้ชีวิตแบบไม่แร้นแค้นแต่ก็ไร้ซึ่งอนาคตไปวันๆ


จากการสำรวจของ Facebook ในช่วงปลายปี 61 ประเทศไทยมีจำนวน กลางกระจ้อน อยู่ที่ประมาณ 49 ล้านคน หรือประมาณ 73% ของจำนวนประชากร ถือเป็นประเทศที่มีสัดส่วนคนชั้นกลางมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ฟังดูเหมือนจะดีเพราะเรามีกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญต่อการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจอยู่เยอะ


แต่..สถานการณ์จริง ณ บัดนาวไม่ค่อยโอ!! สาเหตุก็เกิดจากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมการทำมาหากิน (เล่าให้ฟังไปเมื่ออังคารที่แล้ว) อีกประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามและเป็นสาเหตุให้ กลางกระจ้อน ชีวิตไม่ค่อยดี คือ “ทำตัวเอง” อาทิ ก่อหนี้เกินจำเป็น ใช้จ่ายเกินตัว ไม่วางแผน ไม่พัฒนา โทษลมโทษฟ้า ฯลฯ


#เสี่ยวCREWไปอ่านเจอบทความของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ซึ่งแปลมาจาก Keith Cameron Smith เรื่องความแตกต่างที่โดดเด่น 10 ข้อ ระหว่างคนรวยกับคนชั้นกลาง เลยอยากเอาแนวคิดการเปลี่ยนตัวเองจาก “กลางกระจ้อน” อัพเกรดสู่ “คนชั้นกลางขั้นเทพ” หรือ “รวย” มาฝาก ลองเอาไปปรับทัศนคติและทำกันดู


1. คนรวยคิดยาว คนชั้นกลางคิดสั้น คนจนคิดสั้นที่สุด คนจนมักคิดอะไรแบบวันต่อวันทำนองหาเช้ากินค่ำ มักคิดแต่เฉพาะเรื่องของความอยู่รอดเป็นหลัก คนชั้นกลางมักคิดเป็นเดือนต่อเดือน นั่นคือคิดถึงวันเงินเดือนออก ความสุขสบายจากการจับจ่ายใช้สอยสินค้า

แต่คนรวยจะคิดยาวเป็นปีๆ วางแผนและมีเป้าหมายชัดเจน คือ ต้องการความเป็นอิสระทางการเงิน ทำเกิดการอดออม ลงทุนระยะยาว ทำให้เงินงอกเงยแบบทบต้นเป็นเวลานาน ซึ่งคือสูตรสำคัญในการที่จะทำเกิดความมั่งคั่ง


2. คนรวยพูดเรื่องไอเดีย คนชั้นกลางพูดเรื่องสิ่งของคนจนพูดเรื่องคนอื่น ไม่ได้หมายความว่าคนรวยไม่พูดเกี่ยวกับสิ่งของหรือคนอื่น แต่คนรวยจะพูดถึงเรื่องของคนอื่นน้อยกว่าคนจน และมักเป็นคนที่มีแนวความคิดดีๆ หรือมีมุมมองต่างๆ มากกว่าคนชั้นกลางและคนจน

สาเหตุเนื่องจากคนรวยมักมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนจน ซึ่งมักจะชอบการ “ซุบซิบนินทา” ส่วนคนชั้นกลางอาจจะเน้นการทำงานประจำ ชอบพูดถึงเรื่องรถยนต์ ดนตรี การพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น


3. คนรวยยอมรับการเปลี่ยนแปลง คนชั้นกลางต่อต้านการเปลี่ยนแปลง รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงจะคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ที่เคยชิน คนรวยคิดว่าการเปลี่ยนแปลงอาจนำมาซึ่งชีวิตที่ดีกว่า ในการเปลี่ยนแปลงมักมีโอกาสที่เขาอาจฉกฉวยได้ นิสัยนี้อาจจะมาจากการที่คนรวยมีความมั่นใจสูงกว่าคนชั้นกลางที่มักจะกลัวว่าตนเองจะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ๆได้


4. คนรวยกล้ารับความเสี่ยงที่พิจารณาและไตร่ตรองดีแล้ว เพื่อจำกัดความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนที่ดี ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ คนชั้นกลางส่วนใหญ่นั้นมักจะกลัวการลงทุนในหุ้นหรือตราสารการเงินที่มีความผันผวนของราคา โดยที่ไม่พยายามศึกษาว่าในระยะยาวแล้วมันอาจคุ้มค่ากว่าการฝากเงินในธนาคารมาก อีกมุมหนึ่งคนที่กล้ารับความเสี่ยงอย่าง “บ้าบิ่น” เช่นคนที่เล่นหุ้นวันต่อวันก็ไม่ใช่นิสัยของคนรวย คนรวยจะต้องรับความเสี่ยงเฉพาะที่มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว


5. คนรวยเรียนรู้และเติบโตตลอดชีวิต ขณะที่คนชั้นกลางคิดว่าการเรียนรู้จบที่โรงเรียน นิสัยการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ถือเป็นหัวใจเศรษฐีที่สำคัญการเรียนรู้จากโรงเรียนเป็นเพียงพื้นฐานที่เรานำมาศึกษาต่อด้วยตนเอง เวลาในชีวิตหลังจากเรียนจบนั้นยาวนานมากหลายสิบปี

ดังนั้นความรู้ส่วนใหญ่จึงควรที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่เราเรียนจบจากโรงเรียน เกิดขึ้นจากการทำงาน การศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ


6. คนรวยทำงานเพื่อหากำไร คนชั้นกลางทำงานเพื่อค่าจ้าง คนรวยมองว่านี่คือหนทางที่จะทำให้รวยได้มากกว่าแม้ว่าจะมีความเสี่ยง แต่คนชั้นกลางมักจะไม่กล้าเสี่ยงและอาจมีความคิดสร้างสรรค์น้อยกว่าจึงมุ่งไปที่การหางานที่มีรายได้แน่นอน ซึ่งรายได้จากการใช้แรงงานของตนเองนั้นมีน้อยคนที่จะทำให้ตนเองรวยได้


7. คนรวยเชื่อว่าพวกเขาจะต้องใจบุญสุนทาน คนชั้นกลางคิดว่าพวกเขาไม่มีปัญญาที่จะทำบุญ เรื่องนี้เป็นเรื่องของแต่ละคน ที่ไม่ค่อยบอกหรือทำให้รู้กัน ยกเว้นกรณีที่เป็นการบริจาคใหญ่ๆ อย่างกรณีของเศรษฐีชื่อดังของโลกหลายๆคน


8. คนรวยมีแหล่งรายได้หลากหลายคนชั้นกลางมีเพียงหนึ่งหรือสองแหล่ง ข้อนี้ไม่แน่ใจว่าคนรวยมีรายได้จากหลายแหล่ง เพราะรวยแล้วจึงไปลงทุนในทรัพย์สินหลายๆอย่าง หรือมีทรัพย์สินหลายอย่างจึงทำให้รวย แต่ที่เห็นชัดเจน คือ คนชั้นกลางมักไม่ลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงทำให้รายได้มักจะมาจากเงินเดือนเป็นหลัก


9. คนรวยเน้นการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งของตนเอง คนชั้นกลางเน้นการเพิ่มของเงินเดือน เป้าหมายของคนรวยนั้นอยู่ที่ว่าตนเองมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนโดยมองที่ภาพรวม ดังนั้นถ้าคนรวยมีหุ้นอยู่ การที่หุ้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นก็มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่คนชั้นกลางพยายามทำงานเพื่อให้มีเงินเดือนสูงขึ้น โดยอาจลืมไปว่าจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นด้วย สรุป คือ คนรวยเน้นการลงทุนใช้เงินทำงานแทนตนเอง คนชั้นกลางเน้นการใช้แรงงานของตนเอง


10. คนรวยชอบตั้งคำถามที่เป็นบวกและสร้างกำลังใจ เช่น จะสร้างรายได้เป็นเท่าตัวในปีนี้ได้อย่างไร? ขณะที่คนชั้นกลางชอบตั้งคำถามที่เป็นลบและเสียกำลังใจ เช่น จะหาเงินมาจ่ายหนี้ค่าบัตรเครดิตเดือนนี้ได้อย่างไร ?


สรุป: เป็นคนแบบไหนก็ได้ไม่ผิด!! ไม่ต้องรวยล้นฟ้าอย่างใครเขา แต่จงอย่าลืมเป็นคนดี รู้จักพอ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข นั่นคือเดอะเบส

1 view0 comments
bottom of page