top of page

ใครคือผู้รอดชีวิตในสงครามทีวีดิจิทัล !!



ใครคือผู้รอดชีวิตในสงครามทีวีดิจิทัล !!

นับตั้งแต่ “ทีวีดิจิทัล” ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 57 สมรภูมิรบบนโลกของผู้ประกอบการสื่อทีวีดิจิทัล ก็ลากเลือดกันมาตลอดจนถึงปัจจุบันเลยจ๊ะพี่จ๊า ในช่วงแรกๆที่ประมูลได้ช่องกันไปผู้ประกอบการหลายรายก็ฝันหวานกันไปถึงโอกาสตักตวงขุมทรัพย์จากเม็ดเงินโฆษณาที่มีมูลค่ามหาศาลเข้ากระเป๋าตัวเอง แต่ด้วยภาวะการแข่งขันรุนแรงช่องทีวีที่เพิ่มขึ้นมากเกินไป ทำให้กลยุทธ์ทุ่มเงินลงทุนสร้างคอนเท้นต์แพงกลับไม่ได้ผลอย่างที่คิด

ยิ่งกว่านั้นสภาพเศรษฐกิจไทยที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบภายใต้ความหลากหลายคอนเท้นต์ ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงได้ตรงจุด ผลักดันสื่อออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็วเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เม็ดเงินโฆษณาที่กระจัดกระจายไปในหลายช่องทางมากขึ้น ทำให้สถานีโทรทัศน์แต่ละช่อง ที่มีต้นทุนการผลิตคอนเท้นต์สูงกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ ต้องแบกภาระด้านการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางรายก็ล้มหายตายจากกันไปเลยอย่าง เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล เป็นต้น

ปรากฎการณ์ "คอนเท้นต์ดี เรตติ้งพุ่ง แต่เงินโฆษณาไม่เข้า" กำลังเกิดขึ้นกับสถานีโทรทัศน์หลายรายเวลานี้ การปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อลดต้นทุนด้วยวิธีหั่นราคาโฆษณา ปลดพนักงาน เพื่อหวังต่อลมหายใจต่อไปจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง สำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวงสื่อหลายแขนง หรือนักลงทุนที่กำลังสนใจหุ้นกลุ่มสื่อขณะนี้ คงมีคำถามว่าธุรกิจทีวีดิจิทัลไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วหรือยัง ??

ข้อมูลของ บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย คงสะท้อนคำตอบนี้ได้พอสมควร เพราะเมื่อย้อนไปในปี 57 มูลค่าเงินโฆษณาในระบบสูงกว่า 1.14 แสนล้านบาท ก่อนจะเหลือเพียง 8.64 หมื่นล้านบาทในสิ้นปี 60 และในปี 61 คาดอยู่ที่ 8.9 หมื่นล้านบาท แต่ที่น่าสนใจคือ “นีลเส็น” ประเมินว่าเม็ดเงินโฆษณาหลังจากนี้ไปอาจขยายตัวไม่ถึง 1 แสนล้านบาทอีกแล้ว เพราะเม็ดเงินโฆษณาส่วนใหญ่ทดแทนด้วยสื่อออนไลน์ที่ใช้เงินน้อยกว่ามาก เพราะมีต้นทุนการผลิตคอนเท้นต์ต่ำ หากเทียบกับสื่อทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์ ที่มีต้นทุนการผลิตคอนเท้นต์สูง และยังสามารถบรรลุเป้าเข้าถึงผู้บริโภคได้เหมือนกัน แถมยังอาจมีปริมาณและประสิทธิภาพที่มากกว่า นั่นแปลว่า "เค้กชิ้นโตกำลังถูกลดขนาดลง" สวนทางกับผู้เล่นที่มีมากขึ้น

รายใดที่ยังไม่เร่งปรับตัว ใช้กลยุทธ์ทุ่มค่าใช้จ่ายปั้นคอนเท้นต์เป็นเงินมหาศาล สุดท้ายหากพลาดเป้า ค่าใช้จ่ายนี้คงเป็นเงาตามตัว แบกภาระหนี้กันบานตะไทอย่างแน่นอน

ล่าสุดชาวคณะลงทุนมีความเสี่ยว ได้ปฎิบัติการลงพื้นที่สำรวจความอยู่รอดของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล พบว่าตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมามีเพียง 2 บริษัทที่มีศักยภาพทำกำไรสม่ำเสมอ ได้แก่ ช่อง 35 CH7(HD) และช่อง 23 Workpoint(SD) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 รายที่น่าสนใจ ได้โอกาสจากกลุ่มทุนเข้ามาสนับสนุนด้านการเงิน ส่งผลให้ผลประกอบการปี 61 ส่งสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น ประกอบด้วย บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) โดยงบ 9 เดือนปี 61 พลิกมีกำไรสุทธิ 28.37 ล้านบาท จากที่เคยขาดทุนหนักมาตลอดนับตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา

กลุ่ม GRAMMY เคยถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ช่อง 31 หรือ ONE(HD) ก่อนจะมีกลุ่มนางสาวประนันท์ภรณ์ ปราสาททองโอสถ ทุ่มเงินกว่า 1.9 พันล้านบาท ซื้อหุ้นเพิ่มทุนจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ สัดส่วน 50% ส่วนเจ้าของเดิมอย่าง GRAMMY เหลือถือหุ้น 25.50% และกลุ่มนายถกลเกียรติ เหลือถือหุ้น 24.50% ของทุนจดทะเบียน

และบริษัทลูก จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง ช่อง 25 หรือ GMM25(SD) ,ธุรกิจวิทยุ,และเอไทม์มีเดีย เข้าตา “ตระกูลสิริวัฒนภักดี” ถูกซื้อโดย บริษัท อเดลฟอส ซึ่งเป็นกลุ่มนายฐาปน และนายปณต บุตรของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของอาณาจักรเบียร์ช้าง มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของไทย ทุ่มเงิน 1 พันล้านบาท เข้าถือหุ้นใหญ่ใน บริษัทบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง ในสัดส่วน 50%

เช่นเดียวกับ บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง (AMARIN) เจ้าของ บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น ช่อง 34 หรือ Amarin TV (HD) หลังจากที่เคยขาดทุนหนักมาตั้งแต่ปี 57 เริ่มพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 78.54 ล้านบาทในงบ 9 เดือนแรกปี 61 ผลงานที่ดีเกิดขึ้นภายหลังจากนายฐาปน และนายปณต สิริวัฒนภักดี ใช้เงินทุ่ม 850 ล้านบาท ซื้อหุ้นบริษัทโดยถือผ่าน บริษัท วัฒนภักดี จนล่าสุดกลายเป็นถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 60.10%

ส่วนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่เหลืออีก 12 ราย ยังมีผลงานกระท่อน กระแท่น ขาดทุนติดต่อกัน 3-4 ปี มาเดากันเล่นๆครับว่าในปี 62 ใครจะพลิกสถานการณ์เป็นผู้รอดชีวิตในสมรภูมิศึกนี้ได้บ้าง...ตอนนี้บอกเลยว่า คาดเดาได้ยากจริงๆ


บริษัทที่ผลประกอบการยังมีกำไร

บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ ช่อง 35 หรือ CH7(HD) ปี57 กำไรสุทธิ 5,510 ล้านบาท ปี58 กำไรสุทธิ 2,723 ล้านบาท ปี59 กำไรสุทธิ 1,567 ล้านบาท ปี60 กำไรสุทธิ 1,516 ล้านบาท


บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง ช่อง 23 หรือ Workpoint Creative TV(SD) ปี57 ขาดทุนสุทธิ 208 ล้านบาท ปี58 ขาดทุนสุทธิ 15 ล้านบาท ปี59 กำไรสุทธิ 106 ล้านบาท ปี60 กำไรสุทธิ 933 ล้านบาท

บริษัทที่มีผลประกอบการเริ่มฟื้นตัว

บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ช่อง 31 หรือ ONE(HD) ปี57 ขาดทุนสุทธิ 2.54 ล้านบาท ปี58 ขาดทุนสุทธิ 72.8 ล้านบาท ปี59 ขาดทุนสุทธิ 159 ล้านบาท ปี60 กำไรสุทธิ 123 ล้านบาท

บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล ช่อง 25 หรือ GMM25(SD) ปี57 ขาดทุนสุทธิ 268 ล้านบาท ปี58 ขาดทุนสุทธิ 650 ล้านบาท ปี59 ขาดทุนสุทธิ 326 ล้านบาท ปี60 ขาดทุนสุทธิ 638 ล้านบาท

บริษัท โมโน บรอดคาซท์ ช่อง 29 หรือ MONO29(SD) ปี57 ขาดทุนสุทธิ 296 ล้านบาท ปี58 ขาดทุนสุทธิ 387 ล้านบาท ปี59 ขาดทุนสุทธิ 275 ล้านบาท ปี60 กำไรสุทธิ 90 ล้านบาท

บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น ช่อง 34 หรือ Amarin TV (HD) ปี57 ขาดทุนสุทธิ 339 ล้านบาท ปี58 ขาดทุนสุทธิ 655 ล้านบาท ปี59 ขาดทุนสุทธิ 846 ล้านบาท ปี60 ขาดทุนสุทธิ 354 ล้านบาท

บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น ช่อง 27 หรือ CH8 ปี57 ขาดทุนสุทธิ 97 ล้านบาท ปี58 ขาดทุนสุทธิ 289 ล้านบาท ปี59 ขาดทุนสุทธิ 150 ล้านบาท ปี60 ขาดทุนสุทธิ 14 ล้านบาท

บริษัทที่มีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง

บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ช่อง 30 หรือ MCOT(HD) และ ช่อง 14 หรือ MCOT Kids and Family ปี57 กำไรสุทธิ 503 ล้านบาท ปี58 กำไรสุทธิ 57 ล้านบาท ปี59 ขาดทุนสุทธิ 734 ล้านบาท ปี60 ขาดทุนสุทธิ 2,542 ล้านบาท 9 เดือนแรกปี61 ขาดทุนสุทธิ 385 ล้านบาท

บริษัท บางกอก มีเดียแอนด์บรอดคาสติ้ง ช่อง 36 หรือ PPTV(HD) ปี57 ขาดทุนสุทธิ 1,102 ล้านบาท ปี58 ขาดทุนสุทธิ 1,799 ล้านบาท ปี59 ขาดทุนสุทธิ 1,996 ล้านบาท ปี60 ขาดทุนสุทธิ 2,028 ล้านบาท

บริษัท เอ็นบีซีเน็กซ์ วิชั่น ช่อง 22 หรือ Nation TV ปี57 ขาดทุนสุทธิ 39 ล้านบาท ปี58 ขาดทุนสุทธิ 80 ล้านบาท ปี59 ขาดทุนสุทธิ 241 ล้านบาท ปี60 ขาดทุนสุทธิ 727 ล้านบาท

บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ ช่อง 32 หรือ Thairath TV ปี57 ขาดทุนสุทธิ 894 ล้านบาท ปี58 ขาดทุนสุทธิ 1,148 ล้านบาท ปี59 ขาดทุนสุทธิ 928 ล้านบาท ปี60 ขาดทุนสุทธิ 927 ล้านบาท

บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสติ้ง ช่อง 18 หรือ NEW TV ปี57 ขาดทุนสุทธิ 425 ล้านบาท ปี58 ขาดทุนสุทธิ 741 ล้านบาท ปี59 ขาดทุนสุทธิ 636 ล้านบาท ปี60 ขาดทุนสุทธิ 461 ล้านบาท

บริษัท วอยซ์ทีวี ช่อง 21 หรือ Voice TV ปี57 ขาดทุนสุทธิ 310 ล้านบาท ปี58 ขาดทุนสุทธิ 409 ล้านบาท ปี59 ขาดทุนสุทธิ 368 ล้านบาท ปี60 ขาดทุนสุทธิ 354 ล้านบาท

บริษัท ทรู โฟร์ยู สเตชั่น ช่อง 24 หรือ True4U(SD) ปี57 ขาดทุนสุทธิ 135 ล้านบาท ปี58 ขาดทุนสุทธิ 403 ล้านบาท ปี59 ขาดทุนสุทธิ 633 ล้านบาท ปี60 ขาดทุนสุทธิ 328 ล้านบาท

บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย ช่อง 13 หรือ 3 Family,ช่อง 28 หรือ 3SD,ช่อง 33 หรือ 3HD ปี57 ขาดทุนสุทธิ 495 ล้านบาท ปี58 ขาดทุนสุทธิ 14.2 ล้านบาท ปี59 ขาดทุนสุทธิ 118 ล้านบาท ปี60 ขาดทุนสุทธิ 204 ล้านบาท

บริษัท ไบรท์ ทีวี ช่อง 20 หรือ Bright TV ปี57 ขาดทุนสุทธิ 39 ล้านบาท ปี58 ขาดทุนสุทธิ 229 ล้านบาท ปี59 ขาดทุนสุทธิ 191 ล้านบาท ปี60 ขาดทุนสุทธิ 134 ล้านบาท

บริษัท ไทยนิวส์ เน็ตเวิร์ค ช่อง 16 หรือ TNN24 ปี57 ขาดทุนสุทธิ 131 ล้านบาท ปี58 ขาดทุนสุทธิ 200 ล้านบาท ปี59 ขาดทุนสุทธิ 164 ล้านบาท ปี60 ขาดทุนสุทธิ 125 ล้านบาท

บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น ช่อง 19 หรือ Spring News ปี57 ขาดทุนสุทธิ 24 ล้านบาท ปี58 ขาดทุนสุทธิ 34 ล้านบาท ปี59 ขาดทุนสุทธิ 211 ล้านบาท ปี60 ขาดทุนสุทธิ 19 ล้านบาท

บริษัท แบงคอกบิสสิเนส บริดคาสติ้ง ช่อง 26 หรือ NOW ปี57 ขาดทุนสุทธิ 84 ล้านบาท ปี58 ขาดทุนสุทธิ 218 ล้านบาท ปี59 ขาดทุนสุทธิ 480 ล้านบาท ปี60 ยังไม่รายงานผลประกอบการต่อกระทรวงพาณิชย์

เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ลาจอปิดฉากช่องทีวีดิจิทัล ช่อง 15 หรือ LOCA,ช่อง 17 หรือ ไทยทีวี THV

1 view0 comments
bottom of page