top of page

10 ข้อพึงระวัง "มิจฉาชีพหลอกลงทุน"



10 ข้อพึงระวัง "มิจฉาชีพหลอกลงทุน"

#เจ็บกว่ามิจฉาชีพหลอกคือเธอบอกไม่ได้คิดอะไร


วันนี้ขอเป็นแนวเตือนภัยกันหน่อย เพราะบรรดา "มิจฉาชีพ" อุกอาจลามเข้ามาสู่วงการตลาดหุ้นและการลงทุนกันมากเหลือเกิน

.

หากลองสังเกตุดีๆ เวลาไถฟีดโซเชี่ยลไม่ว่าจะเป็น Facebook IG แม้แต่ Twitter จะเจอกับรูปของเหล่าซีอีโอบริษัทในตลาดหุ้น รวมถึงผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯเอง ที่จะมาพร้อมแคปชั่น "บริษัทของพวกเขากำลังเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาลงทุน ด้วยเงินขั้นต่ำเท่านั้นเท่านี้" และให้ผลตอบแทนที่ไม่น่าจะมีที่ไหนให้ได้มาก่อน ...

.

เมื่อกดเข้าไปดูในคอมเมนต์ ก็จะเห็นกับเหล่าคอมเมนต์หน้าม้า ที่จะมาพิมพ์กันเป็นพรืด ด้วยข้อความซ้ำๆ ว่า สนใจครับ/ค่ะ - ขอรายละเอียด อะไรทำนองนี้ ซึ่งถ้าใครเจอโพสต์ลักษณะนี้ ก็ขอให้รู้ไว้เลยว่านี่คือการหลอกลงทุนแน่นอน

.

เหล่า "มิจฉาชีพ" ได้มีการพัฒนาโฆษณาชวนเชื่อให้ดูมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น การแอบอ้างผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนและตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นข้อที่ 1 ในการมาชวนเชื่อและหลอกเหยื่อ

.

จนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากวิธีข้างต้นแล้ว ยังมีอีก 9 วิธี ที่มิจฉาชีพมักใช้สำหรับหลอกให้เหยื่อหลงเชื่อ ซึ่งต้องระวังให้จงหนักว่าไม่ซื่อแน่นอน ประกอบด้วย

.

2. แอบอ้างโลโก้ตลาดหลักทรัพย์ฯ, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ต่างๆ ให้ดูมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

.

3. การันตีผลตอบแทนระดับสูง เพื่อจูงใจให้ผู้ไม่สามารถควบคุมกิเลศ และความโลภของตัวเองเข้าไปติดกับดัก ลองคิดดูกองทุนต่างๆ ยังไม่มีใครการันตีเลย แล้วอีพวกนี้คือไร

.

4. ทำตัวเป็นผู้รอบรู้ โดยอ้างตัวว่ารู้ข่าววงใน ทำให้ได้เปรียบนักลงทุนอื่นๆ หรือได้โอกาสก่อนคนอื่นๆ ซึ่งข้อนี้บอกเลยว่า ถ้ามีคนที่รู้ข้อมูลดังกล่าวจริงๆ คงไม่มีใครเอาข้อมูลนี้มาแบ่งปันคนหมู่มากแน่นอน

.

5. อาศัยระบบเครื่อข่าย หาสมาชิกเพิ่มเติม โดยอ้างว่าได้รับผลตอบแทนจริงตามโฆษณา

.

6. ปลอมเว็บไซต์ หรือ แอปพลิเคชั่น เพื่อสวมรอยเป็นบัญชีอย่างเป็นทางการที่มีความน่าเชื่อถือ ตบตานักลงทุนมือใหม่ ที่มีข้อมูลไม่เพียงพอ

.

7. เร่งให้ตัดสินใจ เช่น จำกัดผู้เข้าร่วม เพื่อทำให้เหยื่อรู้สึกว่านี่คือโอกาสสุดพิเศษที่ไม่ได้มีมาเสนอบ่อย ๆ

.

8. สร้างกลุ่มโซเชียลมีเดีย นอกเหนือจากโซเชียลมีเดียที่เป็นทางการ เพื่อดำเนินการ อาทิ กลุ่มไลน์บัญชี / การเงินของบริษัทหลักทรัพย์ หรือ บริษัทจดทะเบียน

.

9. ให้โอนเงินผ่านบัญชีที่เป็นชื่อบุคคลธรรมดา แทนบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์

.

10. หลอกให้ลงทุนเพิ่มเรื่อยๆ กำหนดเงื่อนไขให้โอนเงินเพิ่มเมื่อต้องการนำเงินออก

.

ทั้งหมดนี้คือกลยุทธ์ที่ "มิจฉาชีพ" กำลังนิยมใช้หลอกตบทรัพย์เหยื่ออยู่ในขณะนี้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามไล่ปิดช่องโหว่เพื่อสกัดโจรโซเชี่ยล เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ ก.ล.ต. ก็เร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนผ่านทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ และออฟไลน์ที่จะสื่อสารออกไปได้ อีกทั้ง ยังมีการพยายามดำเนินคดีกับเหล่ามิจฉาชีพด้วย

.

ข้อมูลปี 2565 พบว่า ตำรวจไซเบอร์มีการไล่อายัดบัญชีม้าไปกว่า 5.8 หมื่นบัญชี และได้มีการปิดซิมหมายเลขโทรศัพท์มือถือลวงแสนกว่าเบอร์

.

ขณะที่ กลุ่มธนาคาร ก็ได้ใช้มาตรการยกเลิกการส่ง SMS, อีเมล, เฟซบุ๊ค ที่มีการแนบลิงค์ เพื่อลดโอกาสที่มิจฉาชีพจะหลอกให้ลูกค้ากดลิงค์อันตราย และขั้นตอนการยืนยันการทำธุรกรรมการเงินของลูกค้า ระบบของธนาคารจะเพิ่มเตือนก่อนการยืนยัน และแจ้งเตือนภัยรูปแบบใหม่ๆ ให้ทราบ

.

นอกจากนี้ บางธนาคารได้ยกเลิกการให้บริการอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อป้องกันการปลอมแปลงเว็บไซต์ อีกทั้งยังให้ประชาชนยืนยันตัวตนเพิ่มเติมด้วย Biometric comparison บน โมบายแบงก์กิ้ง เมื่อทำธุรกรรมที่มีมูลค่าสูง

.

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้น แต่มิจฉาชีพก็ยังมีการพัฒนากลยุทธ์ขึ้นทุกวัน ซึ่งหากใครที่ตกเป็นเหยื่อและสูญเงินให้คนเหล่านั้นไปแล้ว บอกได้เลยว่าหนังชีวิตแน่นอน

.

เพราะแม้ปัจจุบันประเทศไทยจะบังคับใช้พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ที่ผู้เสียหายสามารถแจ้งธนาคารอายัดบัญชีปลายทางได้ทันทีที่ทราบ หรือภายใน 72 ชั่วโมง และสามารถแจ้งความได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เป็นไปได้ยากที่จะได้เงินคืน

.

เนื่องจากผู้เสียหายกว่าจะทราบว่าถูกหลอก เวลาก็ผ่านไปนานแล้ว กรณีที่ผู้เสียหายรู้ตัวเร็ว ก็ไม่ทันมิจฉาชีพอยู่ดี เพราะต้องประสานงานไปยังธนาคารที่เป็นบัญชีต้นทาง เพื่อให้ธนาคารประสานงานไปยังธนาคารปลายทางที่เงินถูกโอนออกไป ก็กินเวลาไปนานโข

.

หรือแม้แต่ผู้เสียหายจะเดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ก็ต้องรอต่อคิวแจ้งความ, ผ่านกระบวนการสอบสวน และดำเนินการแจ้งความบันทึกในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี และยังต้องขอให้ตำรวจออกหมายเรียกพยานเอกสาร และขออายัดบัญชี ไปยังธนาคารของผู้รับโอน ซึ่งกว่ากระบวนการจะครบจบ เงินของเราก็ถูกมิจฉาชีพโอนไปเล่นแร่แปรธาตุไปถึงไหนต่อไหนแล้วก็ไม่รู้

.

ดังนั้น ภูมิคุ้มกันที่จะไม่ทำให้เราตกเป็นเหยื่อ ก็ต้องเริ่มที่ตัวเองเป็นสิ่งที่ดีที่สุดนั่นแหละ คือ ต้องตระหนักรู้ว่าไม่มีการลงทุนใด ที่จะให้ผลตอบแทนสูงภายในไม่กี่วัน สิ่งสำคัญที่สุด คือ อย่าด่วนโอนไว พึงละลึกไว้เสมอว่า เงินที่ออกจากกระเป๋าเราไปแล้ว ก็ยากที่จะได้คืนเช่นกัน

444 views0 comments
bottom of page