top of page

Top 10 ช่องทาง"ฟอกเงิน"ไทย



Top 10 ช่องทาง"ฟอกเงิน"ไทย

ถ้าคุณเคยดูหนังเกี่ยวกับ แก๊งค์มาเฟีย เจ้าพ่อค้ายา แก๊งค์ปล้น ผู้มีอิทธิพล ในหนังจะมีอยู่ฉากหนึ่งที่หัวหน้าหรือตัวพ่อของแก๊งค์ นั่งคุยกับชายใส่สูท เนี้ยบ คูล ดูฉลาด ซึ่งเป็นตัวแทนจากกองทุน ธนาคาร หรือบริษัทบางแห่ง เพื่อหาข้อตกลงกันว่าจะเอาเงินไปทำอะไรดี อาทิ ตั้งมูลนิธิ ซื้อสินทรัพย์ ตั้งกองทุน ซื้อหุ้น ซื้อพันธบัตร กระจายฝาก ฯลฯ และใช้ระยะเวลาเท่าไรเงินผิดกฎหมายของแก๊งค์เหล่านี้จึงกลายเป็นเงินสะอาด ตรวจสอบไม่ได้ เมื่อตกลงกันเสร็จอีตัวแทนและชาวแก๊งค์ก็แยกย้ายจากกันไปพร้อมยานพาหนะสุดหรู

เรื่องราวทำนองนี้มันไม่ได้มีแต่ไหนหนังนะเออ เรื่องจริงมันมีอยู่เพียบบบ แต่พฤติกรรมอาจไม่เป๊ะขนาดนี้ เพราะเงินผิดกฎหมายนั้นมีจำนวนมากที่สุดในระบบการเงินโลก ธุรกรรม“ฟอกเงิน”จึงอยู่คู่ระบบการเงินโลกมานานโคตรๆ (ฟอกกันไม่มีหมดสิ้น)

ยิ่งสมัยนี้เทคโนโลยีล้ำไปไกล มีสกุลเงินดิจิตอลเกิดขึ้นมากมาย เงินเข้าเงินออกผ่านสกุลเงินเหล่านี้ทางการจะตรวจสอบก็ยากหรืออาจทำไม่ได้เลย ถือเป็นอีกช่องทางสวรรค์ของเงินผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่การถือกำเนิดของ Libra รวมทั้งสกุลเงินดิจิตอลอื่นๆบนโลกจะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ (จนกว่าจะหาทางควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ)

อย่างไรก็ตาม "อาชญากร" แม่งมีความเป็นอัจฉริยะ ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีสกุลเงินดิจิตอลกลุ่มคนเหล่านี้มีความพยายามใช้ช่องว่างหรือจุดอ่อนของภาคการเงิน นำมาเป็นช่องทางฟอกเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิดกันอย่างแพร่หลายอยู่ดี

ตามรายงานเอกสารเผยแพร่ของ ปปง.(สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) ร่วมกับ นิด้า (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) จัดทำล่าสุดในปี 2559 ตามมาตรฐานของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน FATF (Financial Action Task Force) ผู้ออกมาตรฐานตรวจสอบการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน การต่อต้านการสนับสนุนทางการเงิน แก่การก่อการร้ายของประเทศต่างๆทั่วโลก จัดอันดับ 10 ช่องทางความเสี่ยงสูงสุดที่อาชญากรใช้ฟอกเงินในไทย ประกอบด้วย

1) ธนาคารพาณิชย์ แม้ภาคธนาคารพาณิชย์จะมีการบริหารจัดการและมีมาตรการควบคุมเป็นอย่างดีแต่เนื่องจากภาคธุรกิจดังกล่าวมีผลิตภัณฑ์และช่องทางการให้บริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่อย่างหลากหลาย รวมทั้งมีสาขาอยู่เป็นจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กลายเป็นเครื่องมือในการฟอกเงินของผู้กระทำผิดได้มาก

2) อสังหาริมทรัพย์ เป็นภาคธุรกิจประเภทหนึ่งที่อาชญากรมักจะใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินเนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงและสามารถใช้วิธีการต่างๆ ในการโอนเปลี่ยนมือผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่ออำพรางปกปิดแหล่งที่มาของเงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด ประกอบกับนายหน้าค้ำอสังหาริมทรัพย์มีจำนวนมาก และไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตรวจกรองรายชื่อลูกค้ำเพื่อป้องกันการฟอกเงิน

3) กิจการค้าของเก่า พระเครื่อง วัตถุมงคล มูลค่าทรัพย์สินขึ้นอยู่กับความพอใจโดยเป็นการตกลงกันเองระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย จึงสามารถตั้งราคาซื้อขายในราคาที่สูงเกินจริงให้ดูเสมือนว่ำได้รับเงินจากการซื้อขายโดยสุจริต ทำให้หน่วยงานไม่สามารถกำกับดูแลเพื่อการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4) องค์กรไม่แสวงหากำไร (Non-Profit Organization-NPOs) ปัจจุบันกรมการปกครองทำหน้าที่ควบคุมดูแลการจดทะเบียนมูลนิธิและสมาคมไทย ซึ่งอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายยังไม่ครอบคลุมในด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ประกอบกับมี NPOs ดำเนินการอยู่ในประเทศเป็นจำนวนมากกว่า 20,000 องค์กร ทำให้การควบคุมดูแลไม่อาจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

5) ด่านศุลกากร เนื่องจากประเทศไทยมีพรมแดนถึง 31 จังหวัดที่อยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่จำนวนด่านศุลกากรและเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ และกรอบกฎหมายยังไม่มีความชัดเจนในอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน จึงทำให้เสี่ยงต่อการตกเป็นช่องทางการฟอกเงิน โดยอาศัยการลักลอบขนเงินสด ตราสารทางการเงิน รวมทั้งสิ่งของมีค่า เช่น ทองคำ ผ่านเข้า-ออกประเทศ

6) กิจการค้าและเช่าซื้อรถยนต์ เป็นภาคธุรกิจการค้าที่เอื้อต่อการเปลี่ยนสภาพเงินที่ได้จากอาชญากรรมให้กลายเป็นทรัพย์สินที่ถูกต้องตามกฎหมายได้สะดวก และสามารถอำพรางปกปิดโดยการกระจายกรรมสิทธิ์ไปยังบุคคลอื่นได้ง่าย ประกอบกับมีจำนวนธุรกิจรายย่อยอยู่เป็นจำนวนมาก และมาตรการควบคุมจากหน่วยงานภาครัฐยังไม่เพียงพอ

7) กิจการค้าทองคำ อัญมณี เป็นภาคธุรกิจที่อาชญากรมักใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินเนื่องจากมีร้านค้าประเภทนี้กระจายทั่วไปในประเทศเป็นจำนวนมาก การซื้อขายดำเนินการได้สะดวก และหน่วยงานกำกับดูแลไม่อาจตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง

8)ธนาคารเฉพาะกิจ เป็นภาคบริการทางการเงินที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินงานตามนโยบายรัฐเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีอำนาจมอบหมายให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาดำเนินการจัดการ ตรวจสอบและบริหารความเสี่ยง จึงทำให้สามารถมั่นใจในด้านประสิทธิภาพและความโปร่งใส

9) ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นภาคส่วนที่มีหน่วยงานกำกับดูแลที่เข้มแข็ง โดยมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการตัวกลางในตลาดทุนตกเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดฟอกเงินและมีกฎระเบียบในการแสดงตนและการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่ดี

10) สหกรณ์ เนื่องจากสหกรณ์มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สมาชิกดำเนินกิจการร่วมกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ส่วนใหญ่เป็นการให้สินเชื่อและการออมทรัพย์ในกลุ่มองค์กรหรือชุมชนเดียวกัน ประกอบกับอยู่ในการกำกับดูแลตามกฎหมายและมาตรการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน ทำให้มีความเสี่ยงต่ำที่จะถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน

สรุป : Top 10 การฟอกเงินบ้านเรายังเป็นช่องทางถูกกฎหมายทั้งสิ้น เพราะทุกคนต้องการฟอกเงินดำให้ขาว ไม่ใช่ฟอกแล้วเทา หรืออาจเพราะยังไม่สามารถตรวจสอบช่องทางใหม่ๆได้มากพอ ข้อมูลจึงยังไม่ปรากฏ #เสี่ยวCREW ก็อยากฟอกเงินบ้างไรบ้าง เพราะทุกวันนี้ใช้เงินแบบโคตรรวย..รวยรินเหลือเกินนนนน

72 views0 comments
bottom of page