top of page

กองทุนหุ้นนอกผลงานแจ่ม ระวัง!! ครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจผันผวน-พักฐาน



กองทุนหุ้นนอกผลงานแจ่ม ระวัง!! ครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจผันผวน-พักฐาน #ลงทุนกับอะไรก็ยังเสี่ยงเธอควรเปลี่ยนมาลงใจไว้กับเรา

ข้ามฟากมาดูอุตสาหกรรมกองทุนรวมกันบ้างดีกว่า ล่าสุด บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) รายงานสรุปความเคลื่อนไหวต่างๆ ของกองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) ณ สิ้นไตรมาส 2/66 พบว่ามีมูลค่าทรัพย์สินรวม 3.9 ล้านล้านบาท แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาสที่แล้ว . ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2/66 มีเงินไหลเข้าสุทธิเกือบ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงให้ความสนใจกับกองทุนตราสารหนี้ โดยเฉพาะประเภท Bond Fix Term และ Capital Protected Fix Term ทั้งสองกลุ่มนี้มีเงินไหลเข้ารวมสูงกว่า 1.3 แสนล้านบาท . ตามมาด้วย กองทุนหุ้นจีน ที่ถึงแม้ยังให้ผลตอบแทนที่ติดลบมาทั้งปีเฉลี่ย -9.3% ก็ยังมีเงินไหลเข้าติดเป็นอันดับ 3 กว่า 3,500 ล้านบาท ขณะที่กองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่เริ่มมีเงินไหลเข้าเกือบ 2 พันล้านบาท . กลับกัน กองทุน Foreign Investment Bond Fix term มีเงินไหลออกว่า 4.1 หมื่นล้านบาท ตามด้วยกลุ่ม Flexible Bond และ Money Market ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีเงินไหลออกต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว ส่วนกลุ่มกองทุนหุ้นต่างประเทศซึ่งให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีมาตั้งแต่ต้นปี เริ่มเห็นภาพเงินไหลออก . นำโดยกองทุนหุ้นโลก กองทุนหุ้นญี่ปุ่น และกองทุนหุ้นเทคโนโลยี โดยทั้ง 3 กลุ่ม ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี +11.15%, 18.44% และ 30.14% ตามลำดับ . ส่วนประเภทกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดครึ่งแรกปี 66 คือ Global Technology ที่เฉลี่ย +30.14% รองลงมาคือ US Equity ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 20.9% และ Japan Equity ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 18.44% ซึ่งกลุ่ม TOP10 ผลตอบแทนสูงสุด ไม่มีประเภทกองทุนที่ลงทุนในหุ้นไทยติดโผเลย . ขณะที่ประเภทกองทุนที่ให้ผลตอบแทนต่ำสุดครึ่งแรกปี 66 คือ China Equity เฉลี่ย -9.29% ถัดมาคือ Commodity Energy เฉลี่ย -8.62% และกองทุนหุ้นไทยติดโผในอันดับ 3-4 ของกลุ่มนี้ โดย กองทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก (Equity Small/Mid-Cap) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย -8.34% และกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย -8.11% เป็นไปตามภาวะตลาดหุ้นไทยที่ค่อนข้างผันผวน . สำหรับกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง "ศุภกร ตุลยธัญ" ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) พรินซิเพิล ระบุว่า ต้องติดตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 - 2 ครั้ง ซึ่งเป็นการปรับขึ้นที่รวดเร็วและแรงที่สุดนับจากปี 2523 หรือในรอบกว่า 40 ปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง . จากสถิติในอดีตเมื่อเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบรุนแรง ส่วนใหญ่นำมาสู่การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย และจากเครื่องมือชี้วัด ณ ปัจจุบัน มีโอกาสถึง 67% ที่สหรัฐฯ จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเกิดขึ้นในไตรมาส 4/66 ถึงไตรมาส 1/67 ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เกิดการปรับฐาน . ขณะที่ปัจจุบัน Valuation หรือมูลค่าหุ้นสหรัฐฯ ถือว่าค่อนข้างแพง โดยนับจากต้นปีนี้ถึงสิ้นเดือน มิ.ย.ดัชนี S&P500 ปรับขึ้นมาแล้ว 15.9% คิดเป็น P/E Ratio ประมาณ 19 เท่า และ และดัชนี Nasdaq composite ปรับขึ้นแล้วกว่า 31.7% คิดเป็น P/E Ratio ประมาณ 32 เท่า แต่เป็นการปรับขึ้นแบบกระจุกตัวในกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Mega Tech) เพียงไม่กี่บริษัท . จากความกังวลต่อภาคธนาคารในสหรัฐฯ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีแนวโน้มค่อยๆ ชะลอตัวลงอย่างช้าๆ และความคาดหวังการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในปีนี้ ทำให้นักลงทุนเข้าลงทุนในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่มีกำไรแล้ว . ทั้งนี้มองว่ากลุ่มหุ้นเทคโนโลยีมีความเสี่ยงที่ราคาหุ้นจะปรับฐานได้ หากกลุ่มหุ้นดังกล่าวไม่สามารถสร้างผลกำไรในระดับสูงได้ตามที่นักลงทุนคาดหวัง แนะนำปรับกลยุทธ์เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจมั่นคงและผลประกอบการแข็งแกร่ง . ส่วนสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ทั่วโลก มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีในปัจจุบันปรับขึ้นสูงกว่า 4% เป็นครั้งแรกนับจากเดือนพฤศจิกายน 2565 จากเดิมที่ลงไปแตะระดับ 3.3%และยังสูงกว่าอัตราเงินปันผลของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ระดับ 2.5% . โดยแนะนำลงทุนตราสารหนี้ระดับ Investment Grade เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรในระดับที่น่าสนใจประมาณ 5.6% และมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแรง มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน . ส่วนตราสารหนี้ไทย ปัจจุบันมีมุมมอง Neutral โดยทั่วไปพันธบัตรรัฐบาลไทยจะเคลื่อนไหวตามพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ดังนั้นในระยะสั้นยังมีความผันผวนจากการที่เฟดมีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1-2 ครั้งในปีนี้ขณะที่สินทรัพย์อื่นๆ ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ถือว่าน่าสนใจลงทุน เนื่องจากมีผลประกอบการค่อนข้างมั่นคงและเติบโตสม่ำเสมอ

295 views0 comments
bottom of page