top of page

ข้าวไม่เหลือเกลือไม่พอ



ข้าวไม่เหลือเกลือไม่พอ


ตอนนี้ทุกคนคงหวาดกลัว “โควิด-19” เข้าขั้นวิตกจริต ลูกจ้าง เจ้าของกิจการ เริ่มใจคอไม่ค่อยดีหนักขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยคิด ว่า “กูจะติดไหม” ก็เปลี่ยนเป็น “กูจะรอดไหม” เพราะคาดเดาไม่ได้ว่า ปลายทางจะเป็นอย่างไร สิ้นสุดตอนไหน

แม้ตอนนี้จะมีมาตรการช่วยเหลือด้านปากท้องออกมา เช่น แจกเงิน ลดยอดผ่อนชำระ พักชำระสินเชื่อรูปแบบต่างๆ ฯลฯ แต่คง “ไม่พอ” เพราะรายได้ของลูกหนี้ น้อยลงแบบฮวบฮาบ ไปจนถึงไม่มีเลยดีไม่ดี...หลังจบเรื่องนี้ ไม่มีงานทำอีกต่างหากเพราะหลายกิจการ “ไม่รอด”


ความยืดเยื้อของสถานการณ์ อาจพาเราไปสู่วิกฤตครั้งใหญ่สุด ที่ไม่มีใครเคยเจอ

วาทะหล่อๆที่บอกว่าเราผ่านมาแล้วหลายวิกฤต เลิกใช้เถอะ ครั้งนี้มันต่างชั้นกันมาก

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เปิดเผยรายงานเรื่อง "COVID-19 and the world of work: Impacts and responses" ระบุว่า

ประชาชนทั่วโลกจะตกงานราว 5.3-24.7 ล้านตำแหน่ง


เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจและแรงงานที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” สูงกว่าช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลก (2551-2552) ที่มีคนตกงาน 22 ล้านตำแหน่ง และการทำงานต่ำกว่าระดับ (underemployment) จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ทำให้ชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างลดลง


ผู้ประกอบอาชีพอิสระในประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอาจไม่สามารถทำได้ เนื่องจากข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวของประชาชนและสินค้า สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้แรงงานสูญเสียรายได้จำนวนมาก

อยู่ที่ประมาณ 8.6 แสนล้าน - 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในสิ้นปีนี้


“วิกฤติครั้งนี้ไม่ใช่แค่วิกฤติด้านสุขภาพของโลก แต่ยังเป็นวิกฤตเศรษฐกิจและตลาดแรงงานครั้งใหญ่ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบอย่างหนักกับประชาชน ซึ่งควรมีการออกมาตรการเร่งด่วนขนาดใหญ่ และประสานงานกันใน 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย

การปกป้องแรงงานในสถานที่ทำงาน / การกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงาน / การส่งเสริมงานและรายได้ รวมถึงการขยายความคุ้มครองทางสังคม / สนับสนุนการรักษาอัตราการจ้างงาน / การช่วยเหลือด้านการเงินและภาษีสำหรับองค์กรขนาดกลางและขนาดย่อม”กาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการ ILO ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปีนี้จำนวนผู้มีงานทำอาจลดลงอีกหลายแสนตำแหน่ง

ต่อเนื่องจากปี 2562 ที่จำนวนผู้มีงานทำลดลง 2.5 แสนตำแหน่ง ถือเป็นปัจจัยลบซ้ำเติมกำลังซื้อของครัวเรือนให้ยิ่งลำบาก ต้องระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจาก “วิกฤตโควิด-19” ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจในประเทศ เริ่มจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว การผลิตในห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ผูกพันกับการค้าระหว่างประเทศ ลุกลามถึงธุรกิจที่พึ่งพาตลาดในประเทศซึ่งเดิมอยู่ในภาวะอ่อนแรงอยู่แล้ว เกิดการหยุดชะงักและขาดรายได้หล่อเลี้ยงกิจการ ทำให้ต้องปรับลดต้นทุน หรือ ปิดกิจการชั่วคราว


“วิกฤตโควิด-19” จะยังไม่สิ้นสุดในระยะใกล้

คาดการณ์เม็ดเงินที่สูญเสียไปตลอดปีจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท

เศรษฐกิจไทยยากที่จะพลิกฟื้นอย่างรวดเร็วในปีนี้ ภาคธุรกิจที่จะอยู่รอดต้องปรับตัวอย่างหนัก ทั้งการบริหารจัดการสภาพคล่อง-กระแสเงินสด / ผ่อนผันการชำระหนี้ต่างๆ / ตัดลดต้นทุนส่วนที่ไม่กระทบการสร้างรายได้ / ใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการต่างๆของรัฐและสถาบันการเงินที่ทยอยออกมา

สำหรับภาคธุรกิจที่ยังพอมีโอกาส หรือ แย่น้อยกว่าธุรกิจอื่น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย

- ธุรกิจพัฒนาแอพพลิเคชั่น โซลูชั่น คอนเทนท์ออนไลน์

- ธุรกิจด้านอาหาร ค้าปลีกสินค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ประเมินว่า

ผลกระทบของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทางเทคนิคค่อนข้างแน่นอน แต่จะมากเท่าปี 2540 หรือไม่นั้น ต้องรอประเมินอีกครั้งในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งจะได้เห็นปัจจัยและตัวแปรต่างๆชัดเจนขึ้นและบอกเราได้แต่ที่แน่ๆคาดว่า

จีดีพีจะติดลบอย่างน้อยสองไตรมาสติดต่อกัน

คราวนี้เป็นวิกฤติของเศรษฐกิจฐานรากและคนชั้นกลาง-ล่าง

ซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนการใช้จ่ายในประเทศ


อีกทั้งอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนประเทศ เช่น ภาคการผลิตและภาคท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบเต็มๆ ขณะที่มาตรการส่วนใหญ่ของรัฐบาลยังเป็นแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ระยะสั้นเป็นหลัก บรรเทาปัญหามากกว่าการแก้ปัญหา อาจจะช่วยได้เพียงพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวอย่างรวดเร็ว

มองว่ามาตรการหรือแนวทางที่สำคัญในช่วงนี้ คือ รัฐบาลต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อระบบการควบคุมการแพร่ระบาดของไทย หากทำให้เกิดความมั่นใจและความเชื่อมั่นเช่นนั้น ปัญหาโควิด-19 ก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตของผู้คนลดลง ที่สำคัญรัฐบาลต้องโปร่งใสและไม่ปิดบังข้อเท็จจริง สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่ทำให้มาตรการกระตุ้นการบริโภค นอกจากนี้ต้องทำให้เกิด Rule of Law และ ประชาธิปไตย ในประเทศนี้ซึ่งจะทำสถานการณ์ทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น

1 view0 comments
bottom of page