top of page

ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แล้วไงต่อ ?



ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แล้วไงต่อ ?

#ดอกเบี้ยขึ้นผมไม่ว่า #แต่ถ้าคุณไม่มีใจขึ้นมาอันนี้ไม่ได้

.

ประกาศไปเรียบร้อยตามคาด สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งวานนี้ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี มีผลทันที สาเหตุสำคัญเพราะต้องการสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงจากราคาพลังงานและราคาสินค้า รวมถึงรักษาสมดุลกระแสเงินลงทุนระหว่างประเทศ

.

เท่ากับว่ายุคดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษได้ผ่านไปอย่างเป็นทางการ (ใช้ 0.50% มาตั้งแต่ปี 63) โดยตั้งแต่เปลี่ยนมาใช้กรอบนโยบายการเงินที่มีเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายในปี 43 อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่เฉลี่ย 2% เคยขึ้นไปสูงสุด 5% ปี 49 แล้วลดลงต่อเนื่องจนเหลือ 0.50% ช่วงโควิดระบาด

.

ทีนี้ถามว่า กนง.ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แล้วไงต่อ ? จะกระทบใครบ้าง ?

.

ตามหลักการในแง่ประชาชนผู้ใช้สินเชื่อ อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยจ่ายขึ้น เช่นเดียวกับฝั่งประชาชนผู้ฝากเงินก็อาจจะได้ดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้น

.

แต่ล่าสุด สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า ผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งเงินฝากและเงินกู้ โดยจะพิจารณาจาก

1.สภาวะเศรษฐกิจในประเทศ

2.การบริหารจัดการระหว่างต้นทุน ทางการเงินของแต่ละธนาคาร

3.สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ รวมถึงยังจะให้ความร่วมมือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่อยู่ระหว่างดำเนินนโยบายให้ความช่วยเหลือ "กลุ่มเปราะบาง" ให้มีสภาพคล่อง และยังคงสามารถ "ผ่อนชำระสินเชื่อได้"อย่างต่อเนื่อง

.

นั่นเท่ากับว่าแม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มขึ้นจริง แต่หากกลุ่มผู้ประกอบการธนาคารยังไม่ปรับขึ้นตาม ประชาชนก็จะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ทุกอย่างยังเหมือนเดิม

.

อ่าว...แล้วปรับขึ้นทำไม ในเมื่อไม่ส่งผลอะไร ? คืองี้ครับ อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลต่อพันธบัตร โดยเฉพาะที่ออกโดยภาครัฐ ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงในการไหลออกของเม็ดเงินลงทุนก็จะลดลง ซึ่งหากไม่ปรับขึ้นมีความเสี่ยงที่เงินจะไหลออก เพราะประเทศอื่นเขาปรับขึ้นกันอุตลุดไปแล้ว นอกจากนี้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยลดความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อลงได้ด้วย ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ เพื่อต้องการยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อระยะข้างหน้า และไทยใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับต่ำมานานพอสมควร การเริ่มทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย เป็นการดูแลไม่ให้ภาวะการเงินในประเทศผ่อนคลายเกินไป และสร้างผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินในอนาคต

.

ที่นี้ในแง่การลงทุนบ้าง จะส่งผลอะไรไหม ?

.

นักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินตรงกันว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ไม่ส่งผลอะไรต่อการลงทุน เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจของไทยมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น เป็นปัจจัยบวกต่อตลาดมากกว่า ขณะที่ค่าเงินบาทก็ไม่ได้กระทบใดๆ แม้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ ต่างกันมาก เพราะภาวะนี้เป็นช่วงที่แตกต่างจากปกติ หลายประเทศขาดดุล การค้า ไทยเองก็เช่นกัน แต่ไทยมีทุนสำรองที่สูงจึงถือว่ามีความปลอดภัย ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยและอาเซียน กำลังเริ่มฟื้นตัวซึ่งแตกต่างจากทวีปอื่นที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและถดถอยลง ดังนั้นเม็ดเงินจึงยังคงไหลเข้าไทยและภูมิภาคได้

.

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจน หากมองภาพระยะต่อไป แรงส่งการขยายตัวไตรมาสต่อไตรมาสที่จะเร่งขึ้นในครึ่งหลังปีนี้ และปี 66 มีอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ซึ่งเป็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจน และเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ก่อนสิ้นปี 65

.

อย่างไรก็ตาม น่าจะเห็นการทยอยปรับขึ้นต่อในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งอาจกดดันหุ้นที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะหุ้นมีการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ เพราะอัตราดอกเบี้ยจะมีโอกาสลอยตัวขึ้นได้อีกในอนาคต ในทางกลับกันหุ้นที่มีสถานะการเงินแข็งแกร่ง และมีระดับ Net Gearing (หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน) อยู่ในระดับต่ำ หรือเป็น Net Cash (มีเงินสดมากกว่าหนี้สินที่มีดอกเบี้ย) จะถือเป็นหุ้นที่มีเกราะป้องกันในช่วงเวลาดอกเบี้ยขาขึ้นได้ดี

.

สรุปคือ...การที่ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็นบวกมากกว่าลบ นั่นก็เป็นเพราะว่า

1.เป็นการส่งสัญญาณให้ภาคธุรกิจมีความระมัดระวังต่อการปล่อยกู้และขยายธุรกิจในอนาคตข้างหน้า ซึ่งช่วยคุมความเสี่ยงเชิงระบบ

2.เป็นการส่งสัญญาณว่า ธปท.จะดำเนินนโยบายการเงินที่สอดคล้องกับภาพรวมของธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งจะเป็นบวกต่อทิศทางค่าเงินบาท

3.ทำให้การฟื้นตัวมีเสถียรภาพ และสร้างความยืดหยุนในการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงต่อไป

.

ดังนั้นเหล่าชาวเสี่ยวทั้งหลายสบายใจได้เลย คงยังไม่มีผลกระทบอะไรในเชิงลบที่เป็นนัยสำคัญในระยะสั้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ แต่ก็ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย รวมถึงการลงทุนเสมอ เพราะเราอยู่ในโลกที่ไม่มีอะไรแน่นอนเอาเสียเลย ......

6 views0 comments
bottom of page