top of page

ความเจ็บปวดของคนใน "เมืองกรุง"



"คน(จน)เมือง" วิธีเอาตัวรอดกับค่าครองชีพสุดโหดใน "เมืองกรุง"

"ประเทศไทย" นับเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่าง "กรุงเทพมหานคร" ที่ถนนหลายเส้นทางถูกปิดเพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ

โครงการเหล่านี้ กำลังวาดฝันสวยหรูให้กับคนกรุงเทพฯ ถึงอนาคตคุณภาพชีวิตที่ต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน...

แต่นั้นถูกต้องเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะแม้ว่าการพัฒนาเมืองจะช่วยยกระดับให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เป็นศูนย์รวมของนวัตกรรมต่างๆ

แต่การขยายของเมืองไม่ได้ส่งผลบวกด้านเดียวเสมอไป โดยเฉพาะถ้าหากรายได้ของผู้คนในเมืองไม่ได้ปรับสูงขึ้นตามการพัฒนาของเมือง ความไม่สมดุลนี้จึงเกิดเป็น "คน(จน)เมือง"

ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่ราคาที่อยู่อาศัยทั้งบ้าน,ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียม ในเมืองกรุงฯ ราคาที่อยู่อาศัยปรับขึ้นเร็วและสูงกว่าบริษัทขึ้นเงินเดือนให้แต่ละปีเสียอีก

สมมติราคาบ้าน 3 ล้านบาท กู้ธนาคารดอกเบี้ย 7% ผ่อนทั้งหมด 30 ปี รวมมูลค่าของบ้านหลังนี้คือ 7,180,000 บาท !! (คือถ้ารวยคงไม่ต้องโดนดอกเบี้ยบานเป็นเท่าตัวขนาดนี้)

แล้วคุณรู้หรือไม่ "ประชากรคนไทยทั้งประเทศ" และ "คนกรุงเทพฯ" มีค่าใช้จ่ายกันอย่างไร...

ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจพบว่าปี2559 ครัวเรือนทั่วประเทศมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 21,144 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ 36.1% เป็นค่าอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ, รองลงมาคือค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน 19.7% ,ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะ 17.4% ,ค่าของใช้ส่วนตัว เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า 5.2% ,ค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสาร 3.4% ,การศึกษา 1.7% ,ค่ายาและค่ารักษาพยาบาล 1.4% ,ความบันเทิงและการจัดงานพิธี 1.2% ,และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกิจกรรมทางศาสนา 1%

เจาะลึกเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดเทียบกับทุกภูมิภาคในประเทศเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 32,091 บาทต่อครัวเรือน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 8,022 บาทต่อสัปดาห์ หรือค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,146 บาทต่อวัน !!

แม้ว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางของคนทั่วประเทศจะเฉลี่ย 17.4% แต่เชื่อเลยว่าค่าใช้จ่ายการเดินทางคนกรุงเทพฯหนักหนาสาหัสกว่านั้นแน่นอน ถึงคุณจะบอกว่าขึ้นรถเมล์ฟรี รถไฟฟรีก็ตาม สิ่งที่คุณกำลังเผาผลาญอาจไม่ใช่ "เงิน" แต่นั้นคือ "สุขภาพจิต" และ "เวลา" ที่คุณกำลังสูญเสียไปโดยไม่รู้ตัว... ส่วนคนที่มีรถยนต์ผลสำรวจ "อูเบอร์" ชี้ชัดเลยว่าคนกรุงเทพฯ เสียเวลากับรถติดเฉลี่ยวันละ 72 นาที และอีก 24 นาที เพื่อขับวนหาที่จอดรถ !!

การดำเนินชีวิตในเมืองกรุงฯ แม้จะยากลำบาก แต่สุดท้ายย่อมมีทางออกที่ดีเสมอ ตราบใดที่คุณรักษาวินัยการใช้เงินที่มีอย่างพอดี ไม่ใช้จ่ายเกินตัว เรามีสูตรการวางแผนทางการเงินฉบับคนกรุงเทพฯมาให้ลองพิจารณากันดูครับ

สำหรับมนุษย์เงินเดือน สมมติรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายส่วนเพื่อการอยู่อาศัย 40% หรือห้ามใช้เงินเกิน 6,000 บาทต่อเดือน ,ค่าอาหารและค่าเสื้อผ้า 30% หรือห้ามใช้เงินเกิน 4,500 บาทต่อเดือน ,ค่าใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อนและความบันเทิง 5% หรือห้ามใช้เงินเกิน 750 บาทต่อเดือน ,ค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ 5% หรือห้ามใช้จ่ายไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน(ถ้าไม่ป่วย เป็นเงินเก็บไว้ยามฉุกเฉิน) ,ค่าเดินทาง 10% หรือห้ามใช้เงินเกิน 1,500 บาทต่อเดือน ,และเงินออมเพื่อลงทุน 10% หรือ 1,500 บาทต่อเดือน เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าเงินให้งอกเงยในอนาคต

สุดท้ายแล้วไม่ว่าคุณจะเป็น คน(จน)เมือง หรือเป็น คน(รวย)เมือง สภาพแวดล้อม การแข่งขันในสังคมเมืองอาจจะทำให้เกิดความ "เครียด" แต่สิ่งที่คุณไม่ควรละเลยคือ "ความสุข" ของตัวเองนั้นสำคัญที่สุด...

5 views0 comments
bottom of page