top of page

“ตริตรองเศรษฐกิจไทย”



“ตริตรองเศรษฐกิจไทย” ผ่านทัศนะอดีตรัฐมนตรีคลัง #มองภาพเศรษฐกิจแล้วเหี่ยวเฉาแต่มองภาพเราแล้วมันสดใส

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สะท้อนภาพแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและนโยบายแก้ปัญหายุคโควิด-19 โดยมี 4 ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิด และปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงาน ประกอบด้วย • วัคซีนไม่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นในพริบตา • ธุรกิจไม่ฟื้น-ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาหลักฉุดเศรษฐกิจ • แบงก์ควรยอมรับความเจ็บปวดเรื่อง “หนี้” • รัฐบาลต้องใช้เงินให้เป็น-ระวัง “เจ๊ง”

วัคซีนไม่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นในพริบตา

“เวลานี้มีคนให้ความหวังกับวัคซีนที่กำลังกระจายไปทั่วค่อนข้างมาก” ถ้าวัคซีนมีประสิทธิภาพแบบที่คาดหวังไว้จริง กิจกรรมเศรษฐกิจจะกลับคืนมาเพียงระดับหนึ่ง แต่คงไม่กลับคืนมา100% ยังมีความเสี่ยงตรงที่ไวรัสโควิดมีการปรับตัวกลายพันธุ์อีกระดับ ยังไม่มีใครบอกได้ว่าคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนหลังจากนั้นที่ไม่แสดงอาการมีอยู่เท่าไหร่ แล้วกลุ่มนี้มีการแพร่กระจายโควิดต่อไปได้อีกหรือไม่ จังหวะในการกระจายวัคซีน หรือ กว่าวัคซีนจะปรากฏประสิทธิผลอย่างแท้จริงนั้นต้องรอถึงเมื่อไหร่

ในแง่ของพฤติกรรมมนุษย์ในการกิน การใช้บริโภค ไปเที่ยว ลงเรือสำราญ ดูหนัง ไปต่างประเทศ ฯลฯ บางคนยังมีความกังวลพอสมควร เป็นไปไม่ได้ที่ กำลังซื้อ กำลังใช้จ่าย ในปีนี้ จะกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด

ยกตัวอย่างในสหรัฐฯ ต่อให้การจ้างงานกลับคืนมา แต่ยังมีคนตกงานค้างอยู่ในระดับ 10 ล้านคนขึ้นไป บางคนใช้คำว่าเศรษฐกิจ 90% หมายความว่า บางธุรกิจต้องใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้จึงจะคืนกลับมาเหมือนเดิม ระหว่างนี้เป็นปัญหาว่า ธุรกิจไหนมีเงินหมุนเวียนพอที่จะประคองไปได้ก็ไปได้ ธุรกิจไหนไม่มีเงินหมุนเวียนก็มีปัญหาการชำระหนี้ได้

ธุรกิจไม่ฟื้น-ความเหลื่อมล้ำ ฉุดเศรษฐกิจ

เวลานี้หลายองค์กรมองว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 64 น่าจะอยู่ประมาณ 3-4% คิดว่ามีความไม่แน่นอนสูง อาจมีโอกาสพ้นจุดต่ำสุดไปได้บ้าง แต่ยังมีปัญหาสำคัญซ่อนอยู่ในอัตราการขยายตัว 2 ประการ คือ

1. ธุรกิจบางอย่างยังไม่ฟื้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับท่องเที่ยว พฤติกรรมของคนที่จะเดินทางท่องเที่ยวหรือเจรจาธุรกิจต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะกลับมา ขณะเดียวกันเรายังมีปัญหาโอเวอร์ซัพพลายในบางธุรกิจ เช่นอสังหาริมทรัพย์ ในส่วนของไทยยังมีบางภาคที่ยังต้องใช้เวลาในการปรับตัว ถ้าสังเกตการปรับตัวของคนทำงานในอนาคตไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็ตาม หลังโควิดคนระดับชั้นล่างมีความพร้อมในการปรับตัวน้อยกว่าคนระดับชั้นบน ถ้าอยู่ในระดับการศึกษาสูง มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษ จะอยู่ในฐานะปรับตัวรองรับกับพลวัตใหม่ของโลกได้ง่ายกว่า

2. ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นในประเทศต่างๆรวมทั้งประเทศไทย จะหนักหนามากขึ้นจากโควิดและไม่คลายตัวง่าย ผมคิดว่ามีความจำเป็นที่ภาครัฐของแต่ละประเทศ ต้องหันมาดูแลในเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น

นอกจากนั้นประเทศไทยยังมีปัญหาในส่วนของชุมชนในต่างจังหวัด ซึ่งพลวัตโลกเปลี่ยนไป การลงทุนจากต่างประเทศเปลี่ยนไปจากลักษณะการค้าเดิม ที่เรียกว่าห่วงโซ่อุปทาน ทำให้แต่ละชุมชนตั้งคำถามว่าจุดเด่นการแข่งขันของแต่ละชุมชนเดิมที่มีอยู่ในอดีตนั้น ในอนาคตจะยังมีอยู่หรือไม่

ลักษณะการสร้างจุดแข็งจุดแข่งขันของแต่ละชุมชนมีอย่างไร ทั้งหมดนี้รัฐบาลต้องมีการวางแผนเข้าไปช่วยเหลือ หาทางให้ชุมชนมีการปรับตัวเพื่อฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดได้ดีขึ้น

แบงก์ควรยอมรับความเจ็บปวดเรื่อง “หนี้”

ที่ผ่านมาสถาบันการเงินอยู่ได้เพราะมีการเลื่อนค้างชำระหนี้กันออกไป พอเวลาเลื่อนออกไป ก็เสมือนแบงก์มีกำไร มีรายได้ ตัวบัญชีเสมือนมีการชำระ ทั้งที่ไม่มีเงินเข้าแต่ตั้งเป็นลูกหนี้เอาไว้ ลักษณะแบบนี้เรียกว่า "ไม่เป็นการยอมรับความจริง" เป็นการทำตัวเลขเพื่อดูว่ายังพอเอาตัวรอดได้

แต่ทำมากๆ นานๆ ไม่ดี เพราะกลายเป็นตัวเลขที่อยู่ในงบดุลเป็นตัวเลขปลอม เป็นรายได้ที่ไม่เกิดขึ้นจริง ลูกหนี้ไม่ได้ตั้งใจจะกู้แต่บังเอิญโดนบังคับ วิธีแก้ปัญหาจริงๆ คือ แบงก์ต้องยอมรับความเจ็บปวดแล้ว Hair cut ลดหนี้ให้กับลูกหนี้ โดยดูลูกหนี้เป็นรายๆไป

รายไหนอยู่ได้ รายไหนอยู่ไม่ได้ แล้วต้องแก้ไขกันอย่างไร ถ้าทำแบบนั้นได้จริงจัง ทำให้ลูกหนี้อยู่ได้ แบงก์ก็อาจจะกำไรน้อยลง แต่จะอยู่ได้ทั้ง 2 ฝ่าย เป็นการที่แบงก์เลี้ยงลูกหนี้เอาไว้สำหรับหากินต่อไปในอนาคต ตรงนี้ต้องเริ่มคิด

แต่ถ้าไม่หาทางที่จะเลี้ยงลูกหนี้ ก็ต้องหาทางหยุดลงบัญชีที่ไม่ตรงไปตรงมาเสียที เรียกว่าปฏิบัติตามกติกากำกับดูแลการลงบัญชีตามมาตรฐานถูกต้องอย่างจริงจัง แล้วปัญหาโผล่ที่ไหน ยังมีตรงไหน ก็แก้ตรงนั้น ถ้าอย่างนี้เป็นวิธีการที่ถูกต้อง หากทำอย่างเต็มที่แล้วแบงก์ไหนมีกำลังที่จะจ่ายเงินปันผล อันนั้นต้องยอมให้เขาจ่าย แต่ถ้าแบงก์ไหนไม่มีกำลังก็ต้องไม่จ่าย

ทำโดยใช้กติกาที่ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีที่ครบถ้วน หลักการบริหารที่ตรงไปตรงมา กลับไปใช้ระบบนั้นให้เต็มที่ ผมว่าจะทำให้เกิดความเชื่อมั่น

รัฐบาลต้องใช้เงินให้เป็น-ระวัง“เจ๊ง”

ในวิกฤตแบบนี้ “รายได้ลดลง” เป็นเรื่องที่คาดเดาได้อยู่แล้ว ขณะเดียวกันรายจ่ายมีแต่จะเพิ่ม สิ่งที่ต้องระมัดระวังที่สุด คือ รายจ่ายเพิ่มในขณะที่รายได้ลด ทำให้เราต้องกู้หนี้ยืมสินเขามาและกลายเป็นหนี้สาธารณะ รัฐบาลต้องระมัดระวัง อย่าเอาไปใช้เกินตัว อย่าเอาไปใช้ในสิ่งที่ไม่จำเป็น อย่าเอาไปใช้กับสิ่งที่รั่วไหลได้ ตรงนี้อยากวิจารณ์ว่าที่ผ่านมาเอาไปใช้ในโครงการช่วยชนชั้นล่างที่ปรับตัวได้ยาก

โครงการคนละครึ่ง อันนี้ผมเห็นด้วยเพราะเป็นการช่วยคนกำลังซื้อน้อย แต่พอเอาไปช่วยคนที่กำลังซื้อดีอยู่แล้ว หรือในโครงการจ่ายดีมีคืน ชิมช้อปใช้ ช้อปช่วยชาติ ไปช่วยกระตุ้นให้เกิดการอุปโภคบริโภค ถึงแม้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดเงินหมุนเวียน แต่เราเอาเงินกู้ของประเทศไปใช้ ทำแบบนี้มากๆเราก็มีแต่เจ๊ง แล้วกลายเป็นว่าเราต้องมารับภาระหนี้กันต่อไปในรุ่นลูกรุ่นหลาน อันนี้ต้องคิดหนัก

ถ้าเราจำกัดขอบเขตให้ชัดเจน คิดว่าการใช้เงินของภาครัฐใช้ไปแล้วต้องช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้จริงๆ ใช้ไปแล้วต้องช่วยเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวของ GDP อย่างน้อยควรสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กู้มา การใช้อย่างนี้ใช้ได้ แม้ว่ามีการกู้เพื่อมาชดเชยงบประมาณที่ขาดก็ไม่เป็นไร

ถ้าใช้ไปแล้วเป็นการสร้างกำลังในการปรับตัวของชุมชน ในแง่ชนชั้นล่างก็จะค่อยๆแก้ตัวปัญหาของเขาเอง ในแง่การขยายตัวของ GDP ในอนาคตก็จะดีขึ้น แล้วรายได้ก็จะกลับมาเอง

ขณะนี้แม้ว่าการเก็บภาษีได้น้อยลงก็ไม่เป็นไร รายจ่ายมีก็ต้องยอมทน แล้วต่อให้หนี้สาธารณะเกินกว่าอัตราหรือสัดส่วนปกติ โดยจะเกินขึ้นมาชั่วคราวก็ต้องยอม เพียงแต่ขอให้การใช้เงินไปในจุดที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เป็นการช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างแท้จริง อย่างนี้จะแก้ปัญหาได้ในระยะยาว

12 views0 comments
bottom of page