top of page

มหากาพย์ชีวิตหนี้ ลดดอกเบี้ยช่วยแค่ไหน?


มหากาพย์ชีวิตหนี้

ลดดอกเบี้ยช่วยแค่ไหน?

#เบื่อแล้วต้องติดหนี้เพราะตอนนี้อยากติดเธอ


#เสี่ยวCREW เคยตั้งคำถามไว้ว่า ถ้าแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย ประชาชนจะใช้จ่ายมากขึ้น หนี้สินจะลดลง ?

.

เมื่อลองเปรียบเทียบดูจากชีวิตจริงของมนุษย์ระดับกลางทั่วไปที่มี “หนี้” ค่าใช้จ่ายการผ่อนชำระส่วนใหญ่มักมีเรทตายตัว หรือผ่อนชำระแบบขั้นต่ำ เช่น หนี้บ้าน หนี้รถ บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ผ่อนข้าวของเครื่องใช้ ฯลฯ

.

ตราบใดที่ไม่มีเงินก้อนมาโปะ เพื่อให้หนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือปิดหนี้ไปเลย รายจ่ายต่อเดือนก็แทบจะไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงต้องแบกรายจ่ายที่เกือบเสมอตัว หรือเกินตัวต่อไป

.

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มีเงินก้อนเหล่านั้นอยู่หรือไม่ และการลดดอกเบี้ยจะช่วยได้จริงไหม ?

.

สภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบันเศรษฐกิจยังมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ที่เราเห็นกันว่ามันโตต่ำ หลายคนรู้สึกว่าทำมาหากินยากขึ้น ก็เพราะมันไม่ได้ฟื้นในทุกกลุ่มธุรกิจ ไม่ได้ฟื้นในทุกกลุ่มคน แต่เป็นการฟื้นแบบกระจุกตัว

.

การฟื้นตัวจำกัดอยู่ในบางภาคธุรกิจ และอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่-กลาง ที่มีเงินทุน มีสินทรัพย์มากพอ

.

ส่วนธุรกิจขนาดเล็ก สภาพยังย่ำแย่ หรือไม่ก็หายไปเลย (เจ๊ง) เพราะโควิดสร้างผลกระทบไว้หนัก!! เงินไม่เข้า แต่ต้องจ่ายออก หนี้ไม่ลดแถมเพิ่มขึ้น

.

เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ ไม่มีมาตรการช่วยเหลือทางการเงินใดๆ ทุนที่เคยมีจึงร่อยหรอลงหรือหมดไป จะกลับมาดำเนินกิจการให้ได้อีกครั้ง แข่งขันให้ไหว รักษาฐานะทางการเงินให้ปกติ จึงเป็นเรื่องยาก

.

2 ภาพนี้เมื่อเกิดพร้อมกัน ธุรกิจขนาดใหญ่ก็ยิ่งได้เปรียบขึ้นอีก ทั้งในแง่การขยายกิจการ การดูดฐานลูกค้า เพิ่มเทคโนโลยี ฯลฯ จนในที่สุดก็มีอำนาจครองตลาดมากขึ้น

.

และเมื่อธุรกิจขนาดเล็ก “ฮึด” อยากไปต่อ ข้อจำกัดทางการเงินก็ตามมาหลอกหลอนทันที ด้วยฐานะการเงินที่แย่ลง สินทรัพย์ค้ำประกันไม่มี

.

ก็จะถูกตัดวงเงินสินเชื่อ ปรับลดวงเงิน ปรับขึ้นดอกเบี้ย ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามระเบียบ หนักเลยคือ “กู้ไม่ผ่าน” ต้องหันไปเอาเงินนอกระบบมาหมุนเวียนแทน

.

ผลที่ตามมา คือ แบกรับต้นทุนทางการเงินไม่ไหว หนี้บานเบอะ รายได้ไม่พอ รายจ่าย และท้ายที่สุด สิ่งใดๆ ที่เคยมีก็ต้องปล่อยให้สถาบันการเงินยึดไป และกลายเป็นหนี้เสีย

.

ขณะที่ธุรกิจขนาด กลาง / ใหญ่ / ไปจนใหญ่เบิ้ม ไม่มีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อ สินทรัพย์พร้อม อัตราดอกเบี้ยที่ได้แทบจะเท่าเดิม

.

แถมยังสามารถระดมทุนได้จากเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย ดังนั้นก็จะชิล เผลอๆ รวยกว่าเดิม จากความพร้อมที่มีมากกว่า

.

ในแง่ของ “คน” สภาพก็ไม่ต่าง!! คนฐานะดี การงานมั่นคง กิจการไม่ได้รับผลกระทบ ก็ไม่เดือดร้อน หากจะเดือดร้อน ก็พอมีทางไปต่อได้ไม่ยากนัก ยังสามารถรับสภาวะที่ฝืดเคืองของระบบเศรษฐกิจ ข้าวของที่แพงขึ้นได้ไหว

.

แต่คนที่อยู่กลาง-ล่าง รายได้น้อยแต่หนี้เยอะ การงานยังวางใจไม่ได้ ชักหน้าไม่ถึงหลัง ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น ก็ยังคงเป็น “เดอะแบก” ที่หาทางออกไม่เจอต่อไป ทางที่พอทำได้เพื่อให้เหลือเงินเอาชีวิตรอด คือ สิ่งใดๆ ที่เคยมีก็ต้องปล่อยให้สถาบันการเงินยึดไป และกลายเป็นหนี้เสียเช่นกัน

.

ภาพที่มาของปัญหาหนี้สินอันล้นพ้นก็ประมาณนี้ครับ ถ้าตอนนี้เราลดดอกเบี้ยกัน มันก็ยังแก้ไม่ได้ซะทีเดียว

.

อย่างไรก็ตามหากแบงก์ชาติปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และมีผลให้ธนาคารพาณิชย์-สถาบันการเงิน ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลูกหนี้รายย่อย ทั้งบุคคลและธุรกิจขนาดเล็กตามมา

.

“กลุ่มคนที่พร้อมจ่าย” จะได้รับประโยชน์สูงสุด และมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลงทันที กลุ่มคนที่ยังพอผ่อนไหว ชีวิตก็จะดีขึ้นเล็กน้อย ส่วนกลุ่มที่เข้าเกณฑ์หนี้เสีย หนี้กำลังจะเสีย ไปแล้ว คงช่วยอะไรไม่ได้ จะมีผลก็แค่เพียงชะลอปัญหาไม่ให้ลุกลามมากขึ้น

.

เรื่องนี้ไม่จบง่ายครับ ไว้รอบหน้ามาต่อ อธิบายยืดยาวไปหน่อยวันนี้

7 views0 comments
bottom of page