top of page

ฤาจะสิ้นยุคดอกเบี้ยต่ำ ?



ฤาจะสิ้นยุคดอกเบี้ยต่ำ ?

#ยุคดอกเบี้ยต่ำอาจจะหมดไป #แต่รักจากใจไม่เคยเปลี่ยนแปลง

.

#เสี่ยวCREW ขอหมกมุ่นอยู่กับเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกสักตอน

.

เหมือนที่เคยเล่าไว้ว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกำลังเป็นขาขึ้น เพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงรอบหลายปีจากราคาพลังงานที่รับผลกระทบมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนอีกที ซึ่งธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว

.

ส่วนของไทย ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่เปลี่ยนมาใช้กรอบนโยบายการเงินที่มีเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายในปี 43 ซึ่งก่อนหน้านั้นในปี 41-42 แบงก์ชาติใช้นโยบายการเงินโดยมีปริมาณเงินเป็นเป้าหมาย ขณะที่ก่อน ก.ค.40 แบงก์ชาติใช้นโยบายการเงินแบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

.

ที่สำคัญไทยเราอยู่กับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% มาตั้งแต่ พ.ค.63 แล้ว หรือกว่า 2 ปี ซึ่งถ้าจะเรียกให้ถูกกับแนวโน้มระยะถัดไปคือ "หมดยุคดอกเบี้ยต่ำพิเศษ" จึงจะถูกต้องกว่า (อันนี้ผมอ่านงานวิจัยของแบงก์ชาติมา ซึ่งดูแล้วเข้าท่าและสมเหตุสมผล)

.

เพราะหากเราไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ จะมีปัญหาทางเศรษฐกิจมากกว่า เพราะเงินเฟ้อพุ่งขึ้นต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว แม้ประชาชนจะมีต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่มแต่ผลกระทบจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับระดับเงินเฟ้อที่ดีดระดับ 7% +++

.

ยกตัวอย่าง ปัจจุบันที่ระดับอัตราดอกเบี้ย 0.5% หากบุหรี่ซองละ 100 บาท แล้วเรามีเงิน 100 บาท ถ้าซื้อบุหรี่ก็จะได้ 1 ซอง หรือหากเราเอาเงินไปฝากแบงก์ 1 ปีจะได้ดอกเบี้ย 0.5 บาท หรือมีเงินรวมสิ้นปี 100.50 บาท

.

แต่หากเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ราคาบุหรี่อาจเพิ่มขึ้นเป็น 107 บาท เท่ากับว่าถ้าแบงก์ชาติไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อ แม้เราจะเอาเงินไปฝากจนได้ดอกเบี้ยมาที่ 100.50 บาท เวลานั้นเราก็จะซื้อบุหรี่ซองดังกล่าวไม่ได้แล้ว เพราะราคาสินค้ามันไปไวกว่า

.

พอนึกภาพออกกันแล้วใช่ไหมครับ ?

.

อ่ะ! ทีนี้หากจะขึ้นดอกเบี้ยควรขึ้นเท่าไหร่ อันนี้ผมไม่ทราบ ฮ่า ๆ ขึ้นอยู่กับนโยบายของแบงก์ชาติ แต่ต่อให้ขึ้นสูงสุดเท่าที่มีสำนักวิเคราะห์บางแห่งประเมินไว้ระดับ 1.5% เมื่อรวมกับของเดิมที่ 0.5% ก็จะเท่ากับเพียง 2% ซึ่งมันคือค่าเฉลี่ยดอกเบี้ยนโยบายของไทยตั้งแต่ปี 43 หรือรอบ 22 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเคยขึ้นไปสูงสุดเพียง 5% ต่อปี เมื่อปี 49

.

ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้ กูรูหลายรายบอกว่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะเศรษฐกิจยังไม่ได้ดีขนาดนั้น แต่จำเป็นต้องปรับ เพราะหากไม่ปรับเงินไหลออกบานแน่ (ของเรา 0.5% แต่หลายประเทศขึ้นไปไกลแล้ว ใครล่ะจะอยู่ โดยเฉพาะนักลงทุน)

.

ดังนั้นพวกเราต้องทำความเข้าใจกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบนี้ และอย่าตื่นตระหนก ว่าโห...ตายแล้วหมดยุคดอกเบี้ยต่ำละ ใครมีหนี้มีสินเชื่อเตรียมตัวหนาวกันได้เลย ซึ่งข้อเท็จจริงคือแค่ "หมดยุคดอกเบี้่ยต่ำพิเศษ" เท่านั้นเอง เพื่อปรับสมดุลกับอัตราเงินเฟ้อ เพราะฉะนั้นเตรียมตัวรับมืออย่างมีสตินะครับ

3 views0 comments
bottom of page